xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เยอรมนีกริ้ว บ.เครดิตเรตติ้งขวางช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน “กรีซ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี แถลงในวันอังคาร(5) ว่า พวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ของโลก จะต้องเป็นผู้ที่คอยประสานรับลูกต่อจากสหภาพยุโรป (อียู), ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อถึงเวลาแห่งการตัดสินชะตากรรมของประเทศกรีซที่ติดหนี้สินรุงรังท่วมท้น ทั้งนี้เป็นการแสดงความไม่พอใจพวกกิจการเครดิตเรตติ้งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ที่ออกอาการคัดค้านการที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีกำลังกดดันให้พวกแบงก์ภาคเอกชน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลกรีซเอาไว้จำนวนมาก ต้องเข้าร่วมในการช่วยเหลือแก้ไขไม่ให้กรีซถึงกับต้องเข้าสู่ภาวะไม่สามารถชำระหนี้ได้

“ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราใน “ทรอยกา” (สามฝ่าย) อันได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, ธนาคารกลางยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป ต้องไม่ยอมปล่อยให้พวกเราเองสูญเสียเสรีภาพในการวินิจฉัยตัดสินของพวกเราไป” แมร์เคิลกล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวในกรุงเบอร์ลิน “นี่คือเหตุผลที่ทำไมดิฉันจึงมีความไว้วางใจในการประเมินของสถาบันทั้ง 3 เหล่านี้ เมื่อมาถึงเรื่องของกระบวนวิธีดำเนินการพิเศษต่างๆ” แทนที่จะเชื่อถือพวกบริษัทเครดิตเรตติ้ง

เยอรมนีและฝรั่งเศสกำลังเป็นแนวหน้าของบรรดาชาติอียูในการเข้าช่วยเหลือไม่ให้กรีซตกอยู่ในภาวะต้องหยุดพักชำระหนี้ ขณะที่พวกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเตือนว่า ความเคลื่อนไหวเช่นนั้นในหลายๆ ลักษณะอาจเข้าข่ายเป็นการหยุดพักชำระหนี้แบบเลือกสรร นั่นคือหยุดชำระหนี้เฉพาะหนี้สินบางประเภท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอสแอนด์พีได้ออกคำแถลงเมื่อวันจันทร์ (4) เตือนว่า ข้อเสนอของทางฝรั่งเศสที่จะให้พวกธนาคารภาคเอกชนที่เป็นเจ้าหนี้ถือครองตราสารหนี้ของทางการกรีซ ยอมตกลงต่ออายุตราสารหนี้หรือยอมนำเอาตราสารหนี้เก่ามาแลกกับตราสารหนี้ใหม่ คือการเสี่ยงภัยที่กำลังทำให้กรีซอยู่ในฐานะหยุดพักชำระหนี้แบบเลือกสรร

“ในทัศนะของเรา ทางเลือกด้านการเงินทั้ง 2 ทางที่บรรยายเอาไว้ในข้อเสนอ (ของฝรั่งเศส) นั้น แต่ละทางเลือกน่าจะเท่ากับการหยุดพักชำระหนี้ เมื่อพิจารณาดูจากหลักเกณฑ์ของเรา” คำแถลงของเอสแอนด์พีกล่าวไว้เช่นนี้

ข้อเสนอของฝรั่งเศสดังกล่าวนี้ จุดสำคัญที่สุดคือการให้แบงก์เจ้าหนี้เอกชนเหล่านี้สมัครใจยืดอายุตราสารหนี้รัฐบาลกรีซที่พวกตนถือครองอยู่ จากที่มีระยะเวลาไถ่ถอน 5 ปีให้เป็น 30 ปี เพื่อให้รัฐบาลกรีซที่กำลังประสบความลำบากได้มีเวลาพักหายใจ แม้ไม่ได้มีการลดภาระหนี้สินกันโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น