เอเอฟพี - ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งผู้นำสตรีของเอเชีย ที่ขึ้นสู่อำนาจจากสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ค่านิยมเช่นนี้อาจไม่ได้สะท้อนความเท่าเทียมในสังคมเสมอไป
จากบุคคลโนเนมที่ไม่มีใครเอ่ยถึงมาก่อน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่อยู่ในความสนใจของคนทั้งประเทศภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ยกให้น้องสาวคนนี้เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ทั้งยังรับรองหนักแน่นว่าเธอมีแนวคิดเหมือนพี่ชายราว “โคลน” กันมา
เส้นทางสู่อำนาจของ ยิ่งลักษณ์ สะท้อนให้เห็นเรื่องราวคล้ายๆ กันที่เกิดขึ้นทั่วเอเชีย ซึ่งผู้หญิงอีกหลายคนได้เป็นใหญ่ เพราะนามสกุลของพวกเธอ และอีกหลายกรณีที่สืบอำนาจมาจาก “ชาย” ในตระกูลเดียวกัน
การลอบสังหารสามีของเธอ ทำให้ สิริมาโว บันดาราไนยาเก กลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของศรีลังกาและของโลก เมื่อปี 1960 ซึ่งอีก 2 ทศวรรษต่อมา แม่บ้านอย่าง โคราซอน “โครี” อากิโน ก็ได้ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ หลังจากที่วุฒิสมาชิก เบนิโญ อากิโน จูเนียร์ สามีของเธอถูกลอบสังหาร
อินทิรา คานธี สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียต่อจาก ชวาหระลาล เนห์รู ผู้เป็นบิดา ขณะที่ เบนาซีร์ บุตโต แห่งปากีสถาน และ เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี แห่งอินโดนีเซีย ก็มีเส้นทางชีวิตที่ไม่ต่างกัน
ด้าน อองซาน ซูจี ก็น่าจะได้ดำเนินรอยตามนายพล อองซาน ผู้เป็นวีรบุรุษแห่งอิสรภาพของชาวพม่า หากไม่ถูกรัฐบาลทหารพม่าล้มผลการเลือกตั้งในปี 1990 ซึ่งพรรคของเธอได้รับชัยชนะไปเสียก่อน
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดจากความนิยมสืบอำนาจภายในสายตระกูล ซึ่งแพร่หลายในเอเชีย มากกว่าจะสะท้อนความเท่าเทียมทางเพศ
พอล เชมเบอร์ส นักวิจัยอาวุโสจากมหาวิทยาลัยพายัพ อธิบายว่า โดยธรรมเนียมแล้ว ผู้หญิงเอเชีย “ไม่อยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง” เนื่องจากดินแดนแถบนี้ยังมีวัฒนธรรมยกย่องชายเป็นใหญ่
อย่างไรก็ดี พรรคการเมือง “ด้อยพัฒนา” ซึ่งถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของตระกูลร่ำรวย มักเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาเป็น “ตัวเลือกสุดท้าย” ได้เสมอ
“ความเป็นเครือญาติถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้นำพรรคการเมืองมักอยากให้อำนาจตกอยู่ในสายตระกูลของตัวเองมากกว่าคนนอก หากไม่สามารถหาญาติที่เป็นชายมาสืบอำนาจได้ ก็จะหันไปหาลูกสาวแทน” เชมเบอร์ส ระบุ
บริดเจ็ต เวลช์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ ย้ำว่า แม้แต่ผู้ชายเองก็อาจขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีการเดียวกัน เช่น อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแห่งปากีสถาน หลังการเสียชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรี เบนาซีร์ บุตโต ผู้เป็นภรรยา
“ระบบเหล่านี้ถูกครอบงำด้วยชนชั้นสูง ซึ่งทั้งหญิงและชายต่างก็สืบอำนาจมาจากชนชั้นสูงทั้งสิ้น” เวลช์ กล่าว
อันที่จริงแล้วการสืบทอดอำนาจตามสายตระกูลเกิดขึ้นทั่วโลก ทว่าเอเชียมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากมีผู้นำสตรีน้อยมากในภูมิภาคนี้ที่ขึ้นมาเป็นใหญ่ในบ้านเมืองด้วยช่องทางอื่นๆ
ในกรณีของ ยิ่งลักษณ์ นักวิเคราะห์มองว่า ความนิยมในตัวเธอมาจากการเป็นแคนดิเดตนายกฯหญิงคนแรก, ความสาว และรูปลักษณ์ภายนอกที่น่าพึงใจ แต่ เวลช์ เตือนว่า ท้ายที่สุดประชาชนจะตัดสินจากผลงานของเธอมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมา ผู้นำหญิงหลายคนของเอเชียก็ทิ้งมรดกหลังการปกครองไว้แตกต่างกัน
ยิ่งลักษณ์ เคยเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง ก่อนจะมารับตำแหน่งว่าที่นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากที่สุดในโลก จากผลการวิจัยของบริษัทที่ปรึกษา แกรนท์ ธอร์นตัน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ทำให้ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร มากกว่าจะสะท้อนความเบ่งบานของลัทธิสตรีนิยมในไทย