xs
xsm
sm
md
lg

สายการบิน “เจ็ตสตาร์” ปฏิเสธข้อร้องเรียนใช้งาน “แอร์ไทย” เยี่ยงทาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สายการบิน เจ็ตสตาร์ ของออสเตรเลีย
เอเอฟพี - สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติออสเตรเลีย เจ็ตสตาร์ ออกมาปฏิเสธแข็งขันวันนี้(28) ว่าไม่เคยเอารัดเอาเปรียบลูกเรือชาวไทยโดยให้ทำงานถึงกะละ 20 ชั่วโมงตามที่เป็นข่าว

เจ็ตสตาร์ระบุว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อสภาพร่างกายของพนักงาน และไม่เคยบังคับให้ลูกเรือต้องทำงานขณะอ่อนล้า หลังจากที่มีพนักงานทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมถึงนักบิน แจ้งกับสถานีโทรทัศน์เอบีซี ว่าพนักงานต้อนรับของเจ็ตสตาร์ถูกใช้งานหนักเกินควร

เอบีซีรายงานว่า ลูกเรือชาวไทยที่ประจำการในกรุงเทพมหานครถูกเอาเปรียบเป็นพิเศษ โดยมีสัญญาจ้างปลายเปิดที่ระบุว่า ระยะเวลางานสูงสุด 20 ชั่วโมงสามารถขยายออกไปได้อีก และกำหนดค่าปรับสำหรับพนักงานที่ลาออกก่อนหมดสัญญาด้วย

บรูซ บูชาแนน ประธานสายการบินเจ็ตสตาร์ ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาส่วนมาก “ไม่เป็นความจริง และขอปฏิเสธโดยสิ้นเชิง”

“สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่าเราใช้งานพนักงานเยี่ยงทาสและจ่ายเงินเดือนเพียงเล็กน้อย ต้องเรียนว่าพนักงานชาวไทยได้รับค่าตอบแทนประมาณ 20,000-30,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (650,000-980,000บาท) ต่อปี ซึ่งนับเป็นรายได้ต่อเดือนที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศนั้น” บูชาแนน ให้สัมภาษณ์กับเอบีซี

สัญญาจ้างสำหรับพนักงานชาวไทยกำหนดเวลางานสูงสุดไม่เกิน 20 ชั่วโมง แต่ก็มีหมายเหตุว่า “ข้อจำกัดและการขยายเวลาปฏิบัติงาน อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง”

เอบีซีรายงานว่า พนักงานชาวไทยของเจ็ตสตาร์ได้รับเงินเดือนเพียง 258 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (8,469 บาท) บวกกับค่าตอบแทนอีกชั่วโมงละ 7 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะออกบิน และเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ และจะต้องจ่ายค่าปรับสูงสุด 4.5 เท่าของฐานเงินเดือนในกรณีที่ลาออกก่อนกำหนดหรือถูกไล่ออก

ทั้งนี้ รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ไม่น้อยกว่า 590 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (19,300 บาท) ต่อสัปดาห์

บูชาแนนอธิบายว่า เจ็ตสตาร์ต้องแข่งขันกับสายการบินอื่นในเอเชีย พร้อมกับปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละท้องถิ่นด้วย ซึ่งปัจจุบันมีการว่าจ้างพนักงานชาวเอเชียถึง 1 ใน 3

อดีตพนักงานชาวออสเตรเลียคนหนึ่งบอกกับเอบีซีว่า “รู้สึกเหมือนตกเป็นทาส” ขณะทำงานบนเที่ยวบินไปกลับซิดนีย์-บาหลี โดยต้องทำงานกะละ 15 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะยืดยาวเป็น 20 ชั่วโมงได้ง่ายๆ หากเครื่องบินดีเลย์

แม้เจ็ตสตาร์จะไม่เคยกำหนดให้พนักงานคนใดต้องทำงานต่อเนื่องถึง 15 ชั่วโมง แต่ บูชาแนน ก็ออกตัวว่า “ในบางสถานการณ์ก็ต้องขยายเวลางาน” ซึ่งการจัดการความเหนื่อยล้า (fatigue management) ถือเป็นความรับผิดชอบทั้งของบริษัทและตัวบุคคลเอง

“ลองคิดดู พนักงานของเราทำงานเฉลี่ยคนละ 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะฉะนั้นคงไม่มีใครต้องอยู่ยาวถึง 20 ชั่วโมงบ่อยๆ หรอก”
กำลังโหลดความคิดเห็น