xs
xsm
sm
md
lg

‘มุมไบ’เผชิญการก่อการร้ายอีกระลอก (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ดิเนช ชาร์มา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Mumbai sees return of a familiar fear
By Dinesh Sharma
15/07/2011

ในโลกยุคหลังการสิ้นชีพของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอเมริกาเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างแสนสับสนอลหม่าน พวกหัวรุนแรงจึงต่างกำลังรู้สึกคันไม้คันมือที่จะต้องก่อเหตุโจมตี และนครมุมไบ ศูนย์กลางแห่งความทันสมัยของอินเดียที่เต็มไปด้วยความวูบวาบไม่หยุดนิ่ง ย่อมถูกพิจารณาว่าเป็นเป้าหมายที่ลงมือได้อย่างง่ายดายที่สุด แต่ขณะที่ชาวเมืองท่าสำคัญทางภาคตะวันตกของแดนภารตะแห่งนี้ พากันเก็บกวาดเศษซากสิ่งหักพังย่อยยับจากเหตุระเบิด 3 ครั้งซ้อนๆ ที่เกิดขึ้นในวันพุธ(13) โดยตั้งจิตปรารถนาขอให้สันติภาพและความปกติสุขหวนกลับคืนมาอีกเฉกเช่นเดียวกับช่วงเวลาภายหลังการโจมตีอย่างนองเลือดร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 เรากลับต้องเชื่อว่าพวกคนร้ายผู้ต้องสงสัยทั้งหลายอาจจะกำลังคิดอ่านวางแผนการสำหรับการปฏิบัติการครั้งใหม่ๆ ตามหลัง “การทดสอบหยั่งวัดระดับน้ำ” คราวนี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในช่วงเวลาใกล้ๆ กับวาระครบปีที่ 5 แห่งการโจมตีแบบก่อการร้ายต่อขบวนรถไฟในเมืองมุมไบ (บอมเบย์) ซึ่งได้สังหารคร่าชีวิตผู้คนไป 181 คน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2006 เมืองใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นครแห่งความสุดๆ” (maximum city) ของอินเดียแห่งนี้ สืบเนื่องจากฐานะการเป็นศูนย์กลางของความทันสมัย, ความมุ่งมาดใฝ่สูง, และความฝันอันสับสนยุ่งเหยิง ก็ได้ตกเป็นเป้าหมายถูกเล่นงานอีกคำรบหนึ่งจากเหตุระเบิดต่อเนื่องเป็นชุดรวม 3 ครั้งเมื่อค่ำวันที่ 13 กรกฎาคม 2011 ที่ผ่านมา ขณะที่ความมุ่งมั่นอย่างดิบๆ แห่งพลังชีวิตในนครมุมไบ ยังคงมีความแข็งแกร่งเหนือกว่าสัญชาตญาณแห่งความตายเป็นอย่างยิ่ง แต่ใครๆ ก็ย่อมอดเกิดความสงสัยขึ้นมาไม่ได้ว่า นครแห่งนี้ยังจะสามารถเผชิญกับการโจมตีของพวกผู้ก่อการร้ายได้อีกกี่ครั้งกี่ครา ก่อนที่ความองอาจหาญกล้าจะถึงขั้นจืดจางหดหาย

ดังที่อดีตประธานาธิบดีอินเดีย อับดุล คาลัม (Abdul Kalam) พูดเอาไว้อย่างชวนให้สะท้อนใจว่า “ในอินเดีย เราได้อ่านแต่ข่าวเกี่ยวกับเรื่องความตาย, ความเจ็บป่วย, การก่อการร้าย, และอาชญากรรม” จริงๆ แล้ว อารมณ์ความรู้สึกสร้อยเศร้าเช่นนี้เองที่ผู้คนจำนวนมากแสดงออกมาให้ปรากฏในวันรุ่งขึ้นถัดจากวันเกิดเหตุโจมตี ทั้งนี้ระยะเวลาแห่งการถูกวางระเบิดระลอกนี้ ก็ห่างไม่ครบ 3 ปีดีนัก จากเหตุการณ์ที่กลุ่มหัวรุนแรงก่อเหตุกราดยิงสังหารดะในนครมุมไบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2008

มุมไบยังจะสามารถยืดหยุ่นและกลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็วได้อีกนานแค่ไหนเมื่อต้องเผชิญกับการโจมตีดังกล่าวเหล่านี้ไม่หยุดหย่อนครั้งแล้วครั้งเล่า อารมณ์ความรู้สึกอับจนหมดหนทางจะไม่พรั่งพรูออกมาครอบงำจิตใจบ้างหรือขณะที่เหตุการณ์ดำเนินไปถึงบางช่วงบางตอน จะมีหรือไม่ที่ชาวเมืองมุมไบถึงขั้นถูกขับดันด้วยความรู้สึกถูกบีบบังคับอย่างเต็มเหนี่ยว ให้ต้องออกมาแสวงหาหนทางสกัดกั้นไม่ให้เกิดการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำเล่าขึ้นมาอีก นโยบายชนิดหนักและโหดบางประการตลอดจนคำถามฉกรรจ์ในทางด้านข่าวกรองจำเป็นที่จะต้องได้รับคำตอบ ไม่เช่นนั้นชาวอินเดียก็คงไม่สามารถรู้สึกมีความปลอดภัยอย่างแท้จริงได้อีก

การก่อเหตุร้ายระลอกล่าสุดนี้ สงสัยกันว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม “นักรบมุญะฮิดีนชาวอินเดีย” (Indian Mujahideen) ซึ่งเป็นกลุ่มปิดลับที่มีสายสัมพันธ์พัวพันโยงใยกับ ขบวนการนักศึกษาอิสลามแห่งอินเดียและปากีสถาน ที่ใช้ชื่อว่า ลัชคาร์-อี-ตอยบา (Students Islamic Movement of India and Pakistan's Lashkar-e-Toiba และใช้อักษรย่อว่า LeT) พวกผู้ก่อการร้ายก่อเหตุโจมตีคราวนี้ขึ้นมาด้วยการแอบวางระเบิดเอาไว้ใน 3 จุดของมุมไบ คือ ซาเวรี บาซาร์ (Zaveri Bazaar) ,โอเปรา เฮาส์ (Opera House), และ คาบูตาร์ คานนา (Kabootar Khanna) ในย่านดาดาร์ (Dadar) จุดที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากที่สุดคือ ซาเวรี บาซาร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเก่าแก่ของการค้าและการทำเครื่องเพชรพลอยอัญมณีตลอดจนทองคำโลหะมีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาที่เกิดเหตุนั้นเป็นช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนหัวค่ำ

ระเบิดทั้ง 3 จุดบึ้มขึ้นมาโดยทิ้งระยะห่างกันไม่เกิน 15 นาที ตั้งแต่เวลา 18.45 น. ไปจนถึง 19.00 น. สังหารผลาญชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 17 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 141 คน เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในบริเวณใกล้เคียงหลายต่อหลายแห่ง เป็นต้นว่า เจเจ, เซนต์จอร์จ, และ จีที

ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์นี้ มีผู้ต้องสงสัยเป็นมือปฏิบัติการของกลุ่มนักรบมุญะฮิดีนชาวอินเดียจำนวน 2 คน ถูกจับกุมตัวในข้อหาพัวกันกับเหตุการณ์วางระเบิดในรัฐคุชราตปี 2008 (หมายเหตุผู้แปล – เหตุการณ์นี้คือเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน 21 จุดภายในเวลา 70 นาทีที่เมืองอาห์เมดาบัด ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและการค้าของรัฐคุชราต ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2008 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 56 คน บาดเจ็บกว่า 200 คน รัฐคุชราตนั้นตั้งอยู่ติดกันกับรัฐมหาราษฎระ ขณะที่นครมุมไบก็คือเมืองหลวงของรัฐมหาราษฎระ) ทั้งสองคนนี้ถูกระบุว่าชื่อ โมฮัมเหม็ด โมบิน อับดุล ชาคูร์ ข่าน (Mohammed Mobin Abdul Shakoor Khan) และมีนามแฝงว่า อีร์ฟาน (Irfan) อายุ 32 ปี กับ อายุบ ราชา อามิน ไชค์ (Ayub Raja Amin Shaikh) อายุ 28 ปี ทั้งสองคนเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน เชื่อกันว่าผู้ต้องสงสัย 2 รายนี้อาจจะสามารถให้เบาะแสร่องรอยเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นล่าสุดในนครมุมไบ

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐบาลชุดปัจจุบันของอินเดียจำนวนมากทีเดียว กำลังตั้งคำถามว่าทำไมผู้ต้องสงสัยทั้งสองจึงถูกปล่อยปละเอาไว้เป็นเวลานานถึง 5 ปีโดยไม่ได้มีการนำตัวมาไต่สวนดำเนินคดีทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่อาจจะกระทำความผิดในคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง พวกผู้สังเกตการณ์ทางด้านสังคมของอินเดียก็พากันตั้งคำถามว่า นี่เป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมของอินเดียเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน หรือเนื่องจากกำลังถูกขัดขวางสร้างอุปสรรคจากพวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ กันแน่

มีรายงานว่าเมื่อตอนที่แรงระเบิดกำลังก่อให้เกิดแรงอัดตัวจนฉีกทะลุผ่านกระจกตู้โชว์ของร้านรวงต่างๆ ในย่านร้านค้าอัญมณีและเครื่องเพชรนั้น เจ้าของร้านผู้หนึ่งไม่สามารถจำแนกได้ระหว่างเศษแก้วที่แตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กับพวกเพชรดิบที่ยังไม่ได้เจียระไนซึ่งปลิวว่อนไปทั่วโชว์รูมของเขา และปรากฏว่าบางชิ้นบางส่วนได้พุ่งเข้าใส่ใบหน้าจนทำให้เจ้าของร้านผู้นี้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนพนักงานร้านค้าอีกคนหนึ่งก็ถูกแรงระเบิดเล่นงานจนหลังกระแทกพื้น โดยที่พวกหินมีค่า, เครื่องเพชรพลอยและเครื่องทองรูปพรรณ ตกกระจัดกระจายเกลื่อนหน้าร้านที่ทั้งคับแคบและวางข้าวของเอาไว้อย่างอัดแอ คนอินเดียต่างกำลังรู้สึกสงสัยกันว่า ทำไมพวกผู้ก่อการร้ายจึงได้เฝ้าทำการโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่าต่อนครที่ถือเป็นเมืองหลวงทางด้านการเงินของอินเดีย และเป็นที่พำนักอาศัยของพวกนักธุรกิจชาวรัฐคุชราตผู้ร่ำรวยเป็นจำนวนมากแห่งนี้

ภายหลังเกิดเหตุแล้ว ทั้งเมืองมุมไบและเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศต่างถูกประกาศใช้มาตรการระมัดระวังภัยในระดับสูง ขณะที่หน่วยงานด้านสืบสวนสอบสวนของอินเดีย ซึ่งได้แก่ สำนักงานสอบสวนแห่งชาติ (National Investigative Agencies) และ กองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (National Security Guards) ต่างถูกเรียกตัวออกมาปฏิบัติงาน

จากการสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า ระเบิดที่ใช้ในการโจมตีระลอกนี้เป็นระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised explosives devices หรือ IEDs) ที่ติดตั้งอุปกรณ์ตั้งเวลาและพวกลูกแตกต่างๆ ทำนองเดียวกับที่เคยพบว่ามีการใช้ในการโจมตีเมืองมุมไบระลอกก่อนๆ แต่ระเบิดแสวงเครื่องในคราวนี้ มีความประณีตซับซ้อนมากกว่าอุปกรณ์หยาบๆ ซึ่งคนร้ายเคยพยายามนำไปใช้ในการวางระเบิดจัตุรัสไทมสแควร์ของนครนิวยอร์ก (New York Time Square) แล้วประสบความล้มเหลว หลักฐานที่ควบรวมได้จากสถานที่เกิดเหตุบึ้มระลอกนี้บ่งชี้ด้วยว่า มีการใช้วัตถุระเบิดจำพวกสารอาร์ดีเอ็กซ์ (RDX) และ แอมโมเนียมไนเตรท (ammonium nitrate) เป็นส่วนประกอบ

ขณะที่พายุฝนจากลมมรสุมในช่วงกลางคืนเริ่มตกชะล้างถนนตรอกซอกซอยที่เต็มไปด้วยฝุ่นในบริเวณที่เกิดเหตุ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องทำงานอย่างเร่งรีบเพื่อเก็บส่วนเสี้ยวของหลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นเศษเนื้อมนุษย์ที่เผาไหม้เป็นเถ้าถ่าน, รอยเลือดและเส้นผม, ชิ้นส่วนต่างๆ ที่บิดเบี้ยวบู้บี้ของรถจักรยานยนต์คันหนึ่งและเครื่องยนต์ของรถยนต์ ตลอดจนของเล่นของเด็กๆ ที่อยู่ในสภาพแหลกเป็นเศษละเอียดปลิวกระจายไปทั่วกระจกด้านหลังของรถยนต์คันหนึ่งที่จอดอยู่ หลักฐานเหล่านี้ถูกจัดส่งไปยังศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการตรวจสอบทางนิติเวชวิทยาของกองกำลังรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ศูนย์แห่งนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาภายหลังเหตุโจมตีกราดยิงสังหารดะในนครมุมไบปี 2008

ดิเนช ชาร์มา เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Barack Obama in Hawaii and Indonesia: the Making of a Global President (สำนักพิมพ์ ABC-CLIO/Praeger, 2011)
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น