xs
xsm
sm
md
lg

‘มุมไบ’เผชิญการก่อการร้ายอีกระลอก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ดิเนช ชาร์มา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Mumbai sees return of a familiar fear
By Dinesh Sharma
15/07/2011

ในโลกยุคหลังการสิ้นชีพของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอเมริกาเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างแสนสับสนอลหม่าน พวกหัวรุนแรงจึงต่างกำลังรู้สึกคันไม้คันมือที่จะต้องก่อเหตุโจมตี และนครมุมไบ ศูนย์กลางแห่งความทันสมัยของอินเดียที่เต็มไปด้วยความวูบวาบไม่หยุดนิ่ง ย่อมถูกพิจารณาว่าเป็นเป้าหมายที่ลงมือได้อย่างง่ายดายที่สุด แต่ขณะที่ชาวเมืองท่าสำคัญทางภาคตะวันตกของแดนภารตะแห่งนี้ พากันเก็บกวาดเศษซากสิ่งหักพังย่อยยับจากเหตุระเบิด 3 ครั้งซ้อนๆ ที่เกิดขึ้นในวันพุธ(13) โดยตั้งจิตปรารถนาขอให้สันติภาพและความปกติสุขหวนกลับคืนมาอีกเฉกเช่นเดียวกับช่วงเวลาภายหลังการโจมตีอย่างนองเลือดร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 เรากลับต้องเชื่อว่าพวกคนร้ายผู้ต้องสงสัยทั้งหลายอาจจะกำลังคิดอ่านวางแผนการสำหรับการปฏิบัติการครั้งใหม่ๆ ตามหลัง “การทดสอบหยั่งวัดระดับน้ำ” คราวนี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ชาวเมืองมุมไบนั้นกำลังคุ้นเคยมากขึ้นเรื่อยๆ กับเหตุการณ์การโจมตีแบบลงมือพร้อมกันทีเดียวหลายๆ จุดของพวกผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในละครอิงเหตุการณ์จริง ทั้งนี้ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นทั้งในส่วนของชีวิตผู้คน, ครอบครัว, และชุมชน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ บอลลีวู้ด (Bollywood หมายถึงวงการภาพยนตร์อินเดีย) เกิดความนิยมสร้างภาพยนตร์ชนิดมองโลกมืดมนประเภทหนึ่งขึ้นมา โดยที่ภาพยนตร์เหล่านี้มุ่งเน้นความสนใจไปยังความสูญเสียอันหนักหน่วงที่การก่อการร้ายได้ก่อให้เกิดขึ้นกับโลกภายในจิตใจและสายสัมพันธ์ของชาวฮินดูและชาวมุสลิม โดยที่ผู้คนในศาสนาทั้งสองต่างพำนักอาศัยเคียงข้างกันภายในนครแห่งป่าคอนกรีตที่มีประชากรแออัดยัดเยียด และได้ชื่อว่าเป็นนครที่มีความเป็นสากลมากที่สุดของอินเดียแห่งนี้

ภาพยนตร์อย่างเช่น โรจา (Roja), บอมเบย์ (Bombay), มาชิส (Maachis), ชาร์ฟาโรช (Sarfarosh), แบล็ก ฟรายเดย์ (Black Friday), ดิล เซ (Dil Se), มิชชั่น แคชเมียร์ (Mission Kashmir) , เวนสเดย์ (Wednesday) , อามีร์ (Aamir), คูร์บาน (Kurbaan), และ นิวยอร์ก (New York) เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างในช่วงหลังๆ นี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการหมกมุ่นอยู่กับลัทธิการก่อการร้ายและความรุนแรงระหว่างชุมชนฮินดู-มุสลิม ของวงการภาพยนตร์บอลลีวู้ด

เมื่อคุณพินิจพิจารณาบัญชีรายการการโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เคียงคู่ไปกับการผลิตภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายของวงการบอลลีวู้ด มันย่อมสามารถบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่า ระหว่างศิลปะกับความเป็นจริงทางสังคมนั้นมีความเกี่ยวข้องพัวพันกันอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เหตุการณ์การโจมตีครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในแถบนครมุมไบและใกล้เคียง ที่พอจะรวบรวมได้มีดังต่อไปนี้

**วันที่ 12 มีนาคม 1993 เกิดการระเบิดแบบลงมืออย่างประสานต่อเนื่องกันรวม 13 จุด สังหารชีวิตผู้คนไป 257 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 700 คน โดยเชื่อกันว่าเป็นการตอบโต้แก้แค้นการทำลายมัสยิดบาบรี (Babri Masjid มัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดอิสลามขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในเมืองอโยธยา ในสถานที่ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่กำเนิดของพระราม ซึ่งชาวฮินดูถือว่าเป็นปางอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ เหตุการณ์การทำลายมัสยิดบาบรีในระหว่างการจลาจลที่มีผู้คนเกี่ยวข้องกว่าแสนคนเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1992 ยังจุดชนวนให้เกิดความไม่สงบลุกลามตามเมืองใหญ่ๆ ของอินเดียและปากีสถาน รวมทั้งในนครมุมไบด้วย รวมแล้วเป็นเวลาหลายเดือน และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 2,000 คน -ผู้แปล )

**วันที่ 6 ธันวาคม 2002 ที่บริเวณใกล้ๆ สถานีรถไฟกัตโคปาร์ (Ghatkopar) ในรัฐคุชราต ได้เกิดการระเบิดซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 2 คน และบาดเจ็บ 28 คน โดยที่วันนั้นเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์การทำลายมัสยิดบาบรีพอดี

**วันที่ 27 มกราคม 2003 คนร้ายจุดชนวนระเบิดรถจักรยานที่ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นระเบิดคันหนึ่ง ที่บริเวณใกล้ๆ สถานีรถไฟ วิเลปาร์เล (Vile Parle) ชานนครมุมไบ มีผู้สิ้นชีวิตไป 1 คนและบาดเจ็บ 25 คน หนึ่งวันก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรี อะตัล พิหารี วัชปายี (Atal Bihari Vajpayee) จะเดินทางไปเยือนนครแห่งนี้

**วันที่ 13 มีนาคม 2003 ระเบิดลูกหนึ่งบึ้มขึ้นมาที่บริเวณใกล้ๆสถานีรถไฟมูลันด์ (Mulund) ทางชานเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมุมไบ หนึ่งวันภายหลังวาระครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์การระเบิดในมุมไบปี 1993 ทำให้มีผู้ถูกผลาญชีวิตไป 10 คน และบาดเจ็บ 70 คน

**วันที่ 28 กรกฎาคม 2003 เกิดการระเบิดใกล้ๆ สถานีกัตโคปาร์ ในรัฐคุชราตอีกครั้ง คราวนี้มีผู้ถูกสังหาร 4 คน และได้รับบาดเจ็บ 32 คน

**วันที่ 25 สิงหาคม 2003 เกิดการระเบิดแบบต่อเนื่องประสานกันในเมืองมุมไบ ที่บริเวณใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ “เกตเวย์ ออฟ อินเดีย” (Gateway of India) และที่เขตซาเวรี บาซาร์ มีผู้เสียชีวิตไป 44 คน และบาดเจ็บ 150 คน

**วันที่ 11 กรกฎาคม 2006 ภายในระยะเวลา 11 นาทีได้เกิดการระบิดขึ้น 7 ครั้งบนขบวนรถไฟสายชานเมืองของนครมุมไบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 209 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างประเทศ 22 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 700 คน

**วันที่ 26 พฤศจิกายน 2008 กลุ่มหัวรุนแรงเปิดการโจมตียิงกราดและขว้างระเบิดมากกว่า 10 จุดทั่วนครมุมไบ โดยจุดหนึ่งคือโรงแรมทัชมาฮาล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 164 คน และบาดเจ็บ 308 คน

สำหรับเหตุการณ์การโจมตีระลอกล่าสุดนี้ ทฤษฎีแรกๆ ทฤษฎีหนึ่งที่มีผู้เสนอกันก็คือ การโจมตีคราวนี้มีความเกี่ยวข้องกับ อัชมัล คาซาบ (Ajmal Kasab) ผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวในกลุ่มคนร้ายที่ก่อการโจมตีเมืองมุมไบในวันที่ 26 พฤศจิกายน (26/11) 2008 เขาให้การรับสารภาพอาชญากรรมที่ตนเองและพรรคพวกก่อขึ้น และเวลานี้กำลังรอคอยอยู่ในคุกเพื่อรับโทษทัณฑ์ขั้นประหารชีวิต

จากสภาพของการโจมตี, สถานที่, ระยะเวลา, และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ บรรดาเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของอินเดียต่างเชื่อว่า ครั้งนี้น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มนักรบมุญะฮิดีนชาวอินเดีย โดยที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่ม LeT พวกนักรบมุญะฮิดีนชาวอินเดียนั้นเป็นพวกที่ต่อต้านนักชาตินิยมชาวฮินดู, สนับสนุนวาระการต่อสู้ของพวกอัลกออิดะห์, และเชื่อว่าสังคมอินเดียใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมอินเดีย รวมทั้งขัดขวางสกัดกั้นไม่ให้โอกาสทางเศรษฐกิจสังคมแก่ชาวมุสลิมอินเดีย

ขณะที่ยังคงต้องถกเถียงหาคำตอบกันต่อไปในประเด็นที่ว่า เครือข่ายผู้ก่อการร้ายในวงกว้างออกไปในเอเชียใต้ อันหมายรวมไปถึงกลุ่ม LeT ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความโยงใยแบบผู้ก่อการร้ายกับกรมประมวลข่าวกรองกลาง (Inter-Services Intelligence ใช้อักษรย่อว่า ISI) ของปากีสถาน ตลอดจนกลุ่มอัลกออิดะห์นั้น มีส่วนอยู่ในการวางแผนปฏิบัติการคราวนี้หรือไม่

แม้เวลานี้อาจจะยังเร็วเกินไปสักหน่อยที่จะระบุว่าใครกันที่เป็นผู้วางแผนการโจมตีระลอกนี้ แต่พวกสำนักงานข่าวกรองก็เสนอแนะให้มองดูการเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มนักรบมุญะฮิดีนชาวอินเดีย กับ “โครงการการาจี” (Karachi Project) ของกลุ่ม LeT โดยที่จุดเด่นของโครงการการาจีนี้คือการพึ่งพาอาศัยพวกนักรบญิฮัดชาวอินเดียที่กำลังหลบหนีการตามจับกุม ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ปากีสถานที่ปลดเกษียณออกจากราชการแล้วทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการ ความมุ่งหมายของโครงการนี้ได้แก่การทำให้อินเดียตกอยู่ในภาวะเสียสมดุล ในเวลาเดียวกับที่ทำให้ปากีสถานมีความสามารถที่จะปฏิเสธว่าตนเองไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกมือปฏิบัติการของกลุ่มนักรบมุญะฮิดีนชาวอินเดียนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วในเวลาลงมือจะตั้งหลักปักฐานอยู่ภายในอินเดียเอง ไม่ใช่ในปากีสถาน โครงการการาจานี้เพิ่งได้รับการเปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆ นี้จาก เดวิด เฮดลีย์ (David Headley) ระหว่างที่เขาให้ปากคำแก่พวกเจ้าหน้าที่มือสอบสวนของสำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) ของสหรัฐฯ

ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2009 เอฟบีไอได้ตั้งข้อหาเฮดลีย์ว่า มีส่วนในการวางแผนก่อการโจมตีกราดยิงสังหารดะในนครมุมไบเมื่อปี 2008, จัดหาจัดส่งความสนับสนุนทางด้านวัตถุให้แก่กลุ่ม LeT, และให้ความช่วยเหลือแก่การกระทำฆาตกรรมพลเมืองชาวอเมริกัน เฮดลีย์ได้ยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดตามข้อหาต่างๆ รวม 12 กระทง โดยที่อาจจะต้องรับโทษติดคุกตลาดชีวิตและถูกปรับเป็นเงินก้อนโต

ในอีกด้านหนึ่ง บทบาทของพวกแก๊งมิจฉาชีพในเมืองมุมไบตลอดจนเครือข่ายข้ามชาติของพวกเขา ก็ยังไม่ได้ถูกตัดออกไป ในรายงานว่าด้วยทิศทางแนวโน้มระหว่างประเทศฉบับหนึ่ง พราห์มะ เชลลานีย์ (Brahma Chellaney) แห่ง ศูนย์เพื่อการวิจัยนโยบาย (Center for Policy Research) เขียนเอาไว้ว่า การโจมตีแบบมีการประสานก่อการกันหลายๆ จุดนั้น ในทุกๆ ครั้งล้วนแต่เท่ากับเป็นการป้ายสีอินเดีย โดยทำให้แดนภารตะถูกมองว่าเป็นสถานที่ซึ่งยังไร้ความปลอดภัยถ้าหากต้องเลือกเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการทำธุรกิจ และดังนั้นจึงย่อมทำให้เม็ดเงินลงทุนเกิดการหันเหไปยังดินแดนอื่นๆ ที่มีความปลอดภัยสูงกว่า นี่แหละคือสิ่งที่พวกผู้ก่อการร้ายผู้เกลียดชังอินเดียทั้งหลาย ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เห็นทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

“ความจริงอันน่าชังมีอยู่ว่า พวกผู้ก่อการร้ายข้ามชาติมองอินเดียว่าเป็นเป้าหมายที่เข้าโจมตีได้ง่าย เนื่องจากการโจมตีอินเดียไม่ได้สร้างภาระต้นทุนให้แก่พวกเขาหรือต่อเหล่าผู้อุปถัมภ์ของพวกเขา สิ่งที่อินเดียจำเป็นจะต้องกระทำคือการณรงค์อย่างพร้อมเพรียงประสานงานกันและอย่างยั่งยืนยาวนานเพียงพอ เพื่อเล่นงานกองกำลังของการก่อการร้ายเหล่านี้ ทว่าสิ่งที่คณะผู้นำชุดแล้วชุดเล่าของอินเดียเสนอออกมา กลับเป็นเพียงถ้อยคำโวหารเพื่อปลอบขวัญสร้างความสบายใจให้แก่ประเทศชาติเท่านั้น” เชลลานีย์กล่าวย้ำ

อันที่จริงแล้วเสียงเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายอย่างชนิดแข็งขันดุดันมากยิ่งขึ้น กำลังก่อให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองอย่างดุเดือดภายในอินเดียอยู่ในเวลานี้ ราหุล คานธี (Rahul Gandhi) ผู้นำรุ่นหนุ่มที่โดดเด่นของพรรคคองเกรส (Congress Party) ซึ่งเป็นแกนนำคณะรัฐบาลผสมของอินเดียชุดปัจจุบัน แถลงเอาไว้ว่า เป็นเรื่องยากลำบากที่จะหยุดยั้งการโจมตีของผู้ก่อการร้ายให้ได้ทุกๆ ครั้ง ขณะที่ความพยายามของผู้ก่อการร้ายที่จะเข้าโจมตีในอินเดียนับตั้งแต่เหตุการณ์ 26/11 เป็นต้นมานั้น เรียกได้ว่า 99% ทีเดียวได้ถูกป้องกันหยุดยั้งเอาไว้ได้ สืบเนื่องจากความเอาใจใส่ระมัดระวังและการหาข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีเช่นนี้ทำให้เขาถูกตอบโต้อย่างดุเดือดจากฝ่ายค้าน โดยที่คานธีหนุ่มถูกโจมตีว่าคำพูดของเขากำลังกลายเป็นการปลุกขวัญสร้างกำลังใจให้แก่พวกผู้ก่อการร้าย

สิ่งที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่สามารถมองเห็นการเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจน ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่านครมุมไบถูกโจมตีอีกคำรบหนึ่งแล้วภายในระยะเวลายังไม่ถึง 3 ปีดีนับจากการถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วงคราวก่อน ขณะที่สหรัฐฯกลับสามารถป้องกันรักษาความมั่นคงปลอดภัยภายในบ้านของตนเองได้เป็นอย่างดีภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ 9/11 เมื่อปี 2001 เป็นต้นมา ในความคิดของผู้พำนักอาศัยในเมืองมุมไบ อินเดียดูช่างอ่อนแอเหลือเกินทั้งๆ ที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างมากในช่วงหลังๆ มานี้ ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯก็ดูช่างแข็งแกร่งเอามากๆ ถึงแม้เศรษฐกิจกำลังประสบภาวะย่ำแย่ ยิ่งกว่านั้น พวกเจ้าหน้าที่อินเดียยังดูเหมือนจะกำลังได้รับอิทธิพลจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ใกล้จะมาเยือนอินเดียตามกำหนดการอยู่ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว ด้วยเหตุนี้เอง มาตรการในการดำเนินการตอบโต้ของอินเดีย จึงออกมาในลักษณะที่มีความบันยะบันยัง เป็นต้นว่า ไม่มีการกล่าวประณามปากีสถานตรงๆ ในกรณีนี้

แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า บรรดาจอมบงการที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีนครมุมไบครั้งก่อนเมื่อ 26/11 นั้นยังคงหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล ถึงแม้มีแรงบีบคั้นในระดับระหว่างประเทศ แต่ปากีสถานก็มิได้รั้งบังเหียนคนเหล่านี้เอาไว้ คำให้การของเฮดลีย์ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลสหรัฐฯที่เมืองชิคาโก ซึ่งสื่อมวลชนอเมริกันเองไม่ค่อยใส่ใจรายงานข่าวอะไรนักนั้น มีการเปิดโปงให้ทราบว่าพวกเจ้าหน้าที่ของกรมประมวลข่าวกรองกลางปากีสถานได้ช่วยเหลือพวก LeT ทั้งในเรื่องเงินทุนและในการวางแผนให้ใช้วิธีแล่นเรือเข้าโจมตีเมืองมุมไบในคราวนั้น

ขณะที่การโจมตีในระลอกล่าสุดนี้ ไม่ได้มีอะไรที่คล้ายคลึงกับการโจมตีเมื่อ 3 ปีก่อน แต่มันก็ดูเหมือนกับเป็นยุทธวิธีในการระดมหากำลังพลใหม่ๆ โดยกลุ่มต่างๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่ม LeT ภายในอินเดีย “พวกที่มีส่วนวางแผนปฏิบัติการโจมตีเมืองมุมไบในปี 2008 ทั้งหมดเลยยังคงนั่งกันอยู่ที่นั่น ... พวกเขายังไม่ได้ทำอะไรใหญ่ๆ อีกเลยนับแต่คราวนั้นเป็นต้นมา ดังนั้นครั้งนี้จึงอาจจะเป็นเสมือนการทดสอบหยั่งวัดระดับน้ำ เป็นการคุ้มค่าที่จะตักเตือนให้ย้อนรำลึกจดจำกันไว้ว่า มีการโจมตีขนาดย่อมๆ จำนวนหนึ่งเกิดขึ้นก่อน เสมือนเป็นการปูพื้นก่อนที่จะเกิดการโจมตีใหญ่ขึ้นที่มุมไบ (ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2008)” รายงานของโปรพับลิกา (ProPublica) ระบุเอาไว้เช่นนี้

ในโลกยุคหลังอุซามะห์ บิน ลาดิน ซึ่งรวมไปถึงแรงกดดันต่างๆ ที่ปากีสถานได้รับจากสหรัฐฯ เป็นต้นว่า การระงับความช่วยเหลือทางทหารเป็นมูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ และการเรียกร้องให้ไอเอสไอต้องแสดงความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องจากกรณีการสังหารนักหนังสือพิมพ์ชาวปากีสถานหลายต่อหลายคน รวมทั้ง ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด (Syed Saleem Shazhad) หัวหน้าโต๊ะข่าวปากีสถาน ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เหล่านี้น่าที่จะทำให้กลุ่ม Let ตลอดจนพวกที่อยู่ในเครือข่ายของกลุ่มนี้ เกิดความรู้สึกคันไม้คันมืออยากจะเปิดการโจมตีขึ้นมา และอินเดียก็จัดว่าเป็นเป้าหมายที่สามารถเล่นงานได้อย่างง่ายดายกว่าเพื่อน แน่นอนทีเดียวพวกเจ้าหน้าที่ปากีสถานต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องโยงใย กับการโจมตี ขณะที่กลุ่มศึกษาวิจัยทางด้านนโยบายของสหรัฐฯบางกลุ่มกำลังสำรวจขุดคุ้ยความเชื่อมโยงนี้อย่างเปิดเผย

การโจมตีในระลอกล่าสุดนี้ น่าจะเปรียบได้กับการโปรยปรายห่าฝนฤดูมรสุมอันหนาวเย็นเข้าใส่ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งเท่าที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะงักงันแต่กำลังแสดงสัญญาณของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเดินทางไปเยือนปากีสถานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นิรูปามา ราว (Nirupama Menon Rao) ของอินเดีย ทั้งสองฝ่ายยังมีกำหนดนัดหมายที่เจรจากันอีกรอบหนึ่งในเดือนสิงหาคมนี้ ทว่าทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้องขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับเหตุวางระเบิดที่มุมไบว่าจะออกมาอย่างไร บางทีนัดหมายดังกล่าวอาจจะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดก็เป็นได้

ดิเนช ชาร์มา เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Barack Obama in Hawaii and Indonesia: the Making of a Global President (สำนักพิมพ์ ABC-CLIO/Praeger, 2011)
‘มุมไบ’เผชิญการก่อการร้ายอีกระลอก (ตอนแรก)
ในโลกยุคหลังการสิ้นชีพของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอเมริกาเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างแสนสับสนอลหม่าน พวกหัวรุนแรงจึงต่างกำลังรู้สึกคันไม้คันมือที่จะต้องก่อเหตุโจมตี และนครมุมไบ ศูนย์กลางแห่งความทันสมัยของอินเดียที่เต็มไปด้วยความวูบวาบไม่หยุดนิ่ง ย่อมถูกพิจารณาว่าเป็นเป้าหมายที่ลงมือได้อย่างง่ายดายที่สุด แต่ขณะที่ชาวเมืองท่าสำคัญทางภาคตะวันตกของแดนภารตะแห่งนี้ พากันเก็บกวาดเศษซากสิ่งหักพังย่อยยับจากเหตุระเบิด 3 ครั้งซ้อนๆ ที่เกิดขึ้นในวันพุธ(13) โดยตั้งจิตปรารถนาขอให้สันติภาพและความปกติสุขหวนกลับคืนมาอีกเฉกเช่นเดียวกับช่วงเวลาภายหลังการโจมตีอย่างนองเลือดร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2008 เรากลับต้องเชื่อว่าพวกคนร้ายผู้ต้องสงสัยทั้งหลายอาจจะกำลังคิดอ่านวางแผนการสำหรับการปฏิบัติการครั้งใหม่ๆ ตามหลัง “การทดสอบหยั่งวัดระดับน้ำ” คราวนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น