เอเอฟพี - สำนักธรณีวิทยาและเหมืองแร่แห่งชาติชิลีเผย ภูเขาไฟปูเยอวยเริ่มพ่นลาวาออกมาแล้ว 18 วันหลังการปะทุครั้งแรก แต่คาดว่าไม่เป็นอันตรายต่อชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม เถ้าถ่านภูเขาไฟจำนวนมากยังคงสร้างปัญหาให้กับสายการบินหลายแห่งทั่วโลก
สำนักธรณีวิทยาและเหมืองแร่แห่งชาติ หรือที่รู้จักว่า SERNAGEOMIN ระบุในรายงานฉบับล่าสุดว่า หินหนืดค่อยๆ ไหลออกจากปากปล่องภูเขาไฟช่องหนึ่ง ซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 50 เมตร และยาว 100 เมตร โดยไหลไปทางตะวันตก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เอนริเก บัลดิวีโซ ผู้เชี่ยวชาญ และหัวหน้าหน่วยงานด้านภูเขาไฟดังกล่าวชี้ว่า เมื่อมีลาวาไหลออกมาจากภูเขาไฟปูเยอวยจะเป็นการส่งสัญญาณว่าขั้นตอนการปะทุนั้นสิ้นสุดลงแล้ว โดยจะไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อประชากรในพื้นที่ด้วย
ดังนั้น ทางการชิลีจึงอนุญาตให้ประชาชนมากกว่า 4,000 คนที่อพยพหนีภัยภูเขาไฟกลับบ้านได้ แต่ในวันอังคาร (21) ที่ผ่านมา สำนักธรณีวิทยานี้ได้แจ้งว่า ภูเขาไฟปูเอวยยังคงปะทุต่อไป และคาดว่าอาจรุนแรงขึ้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ ภูเขาไฟปูเยอวยสงบนิ่งมานานนับครึ่งศตวรรษ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เริ่มพ่นเถ้าถ่านสูงขึ้นในอากาศหลายกิโลเมตร และแผ่กระจายข้ามทวีปไปถึงออสเตรเลีย เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางทางอากาศในหลายประเทศ โดยเฉพาะซีกโลกใต้
เบื้องต้น สนามบินหลายแห่งในกรุงบัวโนสไอเรส และกรุงมอนเตวิเดโอไม่สามารถให้บริการได้ โดยในเวลาต่อมาวิกฤตเถ้าภูเขาไฟก็ได้แผ่ลามไปถึงออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ด้าน จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขนส่งกล่าวว่า เถ้าภูเขาไฟเป็นสาเหตุของการระงับการบินครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการบินของออสเตรเลีย นับตั้งแต่นักบินก่อเหตุประท้วงเมื่อปี 1989