เอเอฟพี - ทีมล่าวาฬของญี่ปุ่นพบร่องรอยสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียมบนวาฬ 2 ตัว ที่ถูกล่าบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนเหนือ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่สำนักประมงแดนอาทิตย์อุทัยเปิดเผยวันนี้ (15)
วาฬมิงค์เวล 2 ตัวที่ถูกล่าบริเวณนอกชายฝั่งเกาะฮอกไกโดมีค่ากัมมันตภาพรังสีซีเซียม 31 เบคเคอเรล และ 24.3 เบคเคอเรล ต่อกิโลกรัม เจ้าหน้าที่สำนักประมงญี่ปุ่นสันนิษฐานว่าวาฬสองตัวนี้อาจได้รับรังสีมาจากอุบัติภัยนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ผู้นี้ยืนยันว่าระดับรังสีที่ตรวจพบยังห่างไกลจากระดับอันตรายของอาหารทะเลอยู่มาก โดยรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดไว้ที่ 500 เบคเคอเรลต่อหนึ่งกิโลกรัม
“เราไม่มีข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าค่ารังสีที่อ่านได้สูงกว่าระดับปกติหรือไม่” เขากล่าว “เราจะติดตามสถานการณ์ต่อไป ทั้งหมดนี้เราทำเพื่ออาหารทะเลและสัตว์น้ำ” ที่ถูกจับจากการทำประมงตามชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
น้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้รั่วไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งส่งผลให้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงาน ก่อนเกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิง และระเบิดภายในโรงไฟฟ้า
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเล และประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างแสดงความกังวลว่ากัมมันตภาพรังสีในทะเลจะสะสมและมีระดับเข้มข้นในสัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่อายุยืน ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสูงสุดในห่วงโซ่อาหาร
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งห้ามทำการประทงในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ โดยองค์กรส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานประมงต่างๆ มีการตรวจวัดระดับรังสีในอาหารทะเลตลอดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่เสมอๆ
ทั้งนี้ การล่าวาฬของญี่ปุ่นอาศัยช่องว่างทางกฎหมายตามข้อผ่อนผันระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตให้มีการล่าสังหารวาฬ เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นตอบโต้มาตลอดว่าการล่าวาฬเป็นแก่นหนึ่งในวัฒนธรรมชาติ โดยประชาชนสามารถหาซื้อเนื้อวาฬได้ตามร้านค้าทั่วไป หรือ ภัตตาคารอย่างเปิดเผย