เอเจนซี - บริษัท โตเกียวอิเล็กทรอนิกพาวเวอร์ หรือ เท็ปโก ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ เผยวันนี้ (30) 2 คนงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้อาจได้รับกัมมันตภาพรังสีมากเกินขีดจำกัด ยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของผู้ที่กำลังต่อสู้แก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี
หากได้รับการยืนยัน นี่จะถือเป็นคนงาน 2 รายแรกที่ได้รับรังสีเกินพิกัด จากจำนวนคนงานหน่วยฉุกเฉินหลายร้อยคน ซึ่งกำลังพยายามควบคุมสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ หลังได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และสึนามิครั้งใหญ่เมื่อ 11 มีนาคมที่่ผ่านมา
ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น และเท็ปโก ต่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี และอันตรายของรังสีให้มากพอ โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่าคนงานเหล่านั้นได้ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดในระหว่างทำหน้าที่อย่างเต็มที่หรือไม่
ทั้งนี้ จากการตรวจวัดการรับรังสีภายนอก และปริมาณรังสีไอโอดีนในต่อมไทรอยด์ของคนงานโรงไฟฟ้า พบว่า คนงานชาย 2 คน คนหนึ่งอายุประมาณ 30 ปี และอีกคนอายุประมาณ 40 ปี ได้รับรังสีเกินค่าสูงสุดที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 250 มิลลิซีเวิร์ต
สำหรับการรับรังสี 250 มิลลิซีเวิร์ตนั้น เทียบเท่ากับการเอกซเรย์ท้องมากกว่า 400 ครั้ง ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับที่จะทำให้มีอาการป่วยฉับพลัน โดยผู้เชี่ยวชาญยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว แต่เห็นด้วยว่าการรับรังสีปริมาณสูงๆ มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง
ขณะที่รัฐบาลผ่อนคลายข้อกำหนดในการรับกัมมันตภาพรังสีที่สูงเกินกว่ากำหนด ในกรณีของหายนะภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ โดยยอมให้คนงานโรงไฟฟ้าชายรับรังสีได้ 250 มิลลิซีเวิร์ต เมื่อเทียบกับค่าสูงสุดโดยทั่วไปที่ 100 มิลลิซีเวิร์ตสำหรับเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม เท็ปโก เสริมว่า การตรวจสุขภาพประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนไม่ได้บ่งชี้ว่าคนงานทั้ง 2 คนนี้มีความผิดปกติใดๆ โดยคาดว่าต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพิ่มเติม
คนงานทั้งสองทำงานอยู่ในห้องควบคุมกลางของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และหมายเลข 4 ซึ่งจะคอยตรวจสอบโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม หลังแผ่นดินไหวระดับ 9.0 และสึนามิสูงกว่า 14 เมตรถล่มจนระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน จนเกิดการหลอมละลายของเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่อง และพวกเขาก็ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะจนถึงปัจจุบัน