xs
xsm
sm
md
lg

อิตาลีทำประชามติถาม ปชช.เอา “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” หรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายรณรงค์ต้านพลังงานนิวเคลียร์ของกลุ่มกรีนพีซในอิตาลี ระบุว่า “อิตาลี ไม่เอานิวเคลียร์ ‘โหวตรับ’” วันที่ 12 - 13 มิถุนายน อิตาลีมีการลงประชามติใน 3 ประเด็นได้แก่ พลังงานนิวเคลียร์ การแปรรูปการประปา และเอกสิทธิ์คุ้มครองนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี
นายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี
เอเอฟพี - อิตาลีเปิดคูหาลงประชามติวันนี้ (12) เพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชน โดยมี 2 ประเด็นร้อนเป็นตัวชูโรง กล่าวคือ โครงการกลับไปพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ และเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ซึ่งสื่อมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญของผู้นำจอมอื้อฉาว

การทำประชามติกรณีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นก้าวย่างสำคัญของเสียงต่อต้านนิวเคลียร์ในยุโรป อันเป็นผลมาจากวิกฤตโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิของญี่ปุ่น และหลังจากรัฐสภาเยอรมนีผ่านพระราชบัญญัติยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2022 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากชาวอิตาลีเกิน 50 เปอร์เซนต์ลงความเห็นคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ จะส่งผลให้แผนการหวนกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลอิตาลีภายในปี 2014 ล้มครืนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยขณะนี้ทางการอิตาลีมีคำสั่งพักโครงการดังกล่าวไว้ชั่วคราว

นอกจากนี้ อาจมีการล้มล้างเอกสิทธิ์คุ้มครองต่อการดำเนินคดีของนายกรัฐมนตรีซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ภายใต้กฎหมายที่รัฐบาลอนุมัติ ไม่นานหลังจากแบร์ลุสโกนีชนะการเลือกตั้งกลับเข้าสู่สภาผู้ทรงเกียรติอีกครั้งเมื่อปี 2008

นายกรัฐมนตรีอิตาลีตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในคดีความจำนวน 3 คดีที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล กล่าวคือ คดีซื้อบริการทางเพศจากผู้เยาว์วัย 17 ปี คดีติดสินบน และคดีฉ้อโกงภาษี

ทั้งนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายปัญหาฉบับนี้ โดยจำกัดขอบเขตอำนาจว่าจะคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แบร์ลุสโกนียังคงอ้างถึงเอกสิทธิ์คุ้มครองในการต่อสู้คดีต่างๆ เรื่อยมา

คูหาลงคะแนนจะปิดเวลา 22.00 น. (ตรงกับ 3.00 น. วันจันทร์ตามเวลาประเทศไทย) และจะเปิดให้ประชาชนใช้สิทธิ์ใช้เสียงอีกครั้งตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 15.00 น. คาดว่าการนับผลประชามติจะเสร็จสิ้นในช่วงดึกวันจันทร์ (13) ตามเวลาท้องถิ่น

ประเด็นพลังงานนิวเคลียร์ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง จนกลบกระแสเรื่องกฎหมายคุ้มครองนายกรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งเรื่องการแปรรูปการประปาเป็นบริษัทเอกชน

อิตาลีล้มเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตามผลประชามติเมื่อปี 1987 หลังเกิดวิกฤตโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ทว่าแบร์ลุสโกนีเสนอรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเป้าหมายนโยบายหลักอีกครั้ง โดยฝั่งรัฐบาลแย้งว่าพลังงานนิวเคลียร์จะช่วยลดค่าไฟฟ้า ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สมัยใหม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การสำรวจความเห็นของชาวอิตาลีส่วนใหญ่ยังคงไม่เห็นด้วยกับการกลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์

แดเนียล คอห์น เบนดิท แกนนำพรรคกรีนส์ในรัฐสภายุโรป เรียกร้องให้ชาวอิตาลีคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ โดยย้ำว่าความสำเร็จจากการต้านประเด็นนี้ในอิตาลีจะส่งสัญญาณสำคัญไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป
กำลังโหลดความคิดเห็น