เอเอฟพี - กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กรีนพีซ เตือนวันนี้(26)ว่า จากการตรวจสอบพืชและสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประมาณ 20 กิโลเมตร พบว่า มีสารกัมมันตรังสีระดับเข้มข้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
องค์กรสิ่งแวดล้อมซึ่งต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์แห่งนี้ ทำการตรวจวัดรังสีบริเวณนอกชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นตลอดเดือนพฤษภาคม พร้อมทั้งวิจารณ์รัฐบาลญี่ปุ่นว่า “ไม่ได้ตอบสนองวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอย่างเพียงพอ”
กรีนพีซ ตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในสาหร่ายทะเลสูงกว่าระดับปลอดภัยประมาณ 50 เท่า ทำให้ “เกิดความกังวลว่า ประชาชนและสภาพแวดล้อมจะยังเสี่ยงภัยจากน้ำปนเปื้อนรังสีต่อไปอีกในระยะยาว”
ผลการตรวจของ กรีนพีซ ซึ่งได้รับการรับรองแล้วจากห้องปฏิบัติการในฝรั่งเศสและเบลเยียม ชี้ให้เห็นว่า ปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกหลายสายพันธุ์มีการสะสมรังสีไอโอดีน-131 และซีเซียม-137 มากเกินระดับที่กฎหมายกำหนด
“ข้อมูลของเราแสดงให้เห็นว่า กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะได้แผ่ขยายออกไปเป็นระยะทางไกลมาก” แจน แวนเด ปุตเต ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีจากกรีนพีซ กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว
มาตรฐานความปลอดภัยอาหารของญี่ปุ่น กำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องมีกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม กรีนพีซ พบว่า ปริมาณกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สูงถึง 740 เบคเคอเรลในหอยนางรม, 857 เบคเคอเรลในปลา, 1,258 เบคเคอเรลในปลิงทะเล และ 1,640 เบคเคอเรลในสาหร่ายทะเล
“ผู้ที่รับประทานสาหร่ายปนเปื้อนรังสี 1 กิโลกรัม จะได้รับรังสีประมาณ 2.8มิลลิซีเวิร์ต หรือ 3 เท่าของปริมาณรังสีที่ควรได้รับต่อปี” กรีนพีซ ระบุ
“รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจผิดที่คิดว่า เมื่อไม่มีข้อมูลก็แปลว่าไม่มีปัญหา... ความนิ่งนอนใจเหล่านี้ควรยุติลงได้แล้ว และ(รัฐบาล)จะต้องหันมาตรวจสอบสภาพแวดล้อมในทะเลรอบๆโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอย่างต่อเนื่อง และต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนรังสี ทั้งในอดีตและที่กำลังเกิดขึ้นอยู่” แวนเด ปุตเต กล่าว
รัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายว่า กระแสน้ำที่หมุนเวียนในทะเลจะทำให้สารกัมมันตรังสีเจือจางไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะก็ให้สัมภาษณ์ในวันนี้(26)ว่า ไม่มีชาวประมงออกมาหาปลานอกชายฝั่งของโรงไฟฟ้าเลย
“ไม่มีใครมาทำประมงแถวนี้แล้ว ถ้าคุณจับปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นๆจากแถบนี้ไปขาย ก็คงขายไม่ออก”