xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’มองเห็นแง่ดีที่‘พวกกะทิ’พากันอพยพไปอยู่ต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China sees bright side of elite exodus
By Wu Zhong
04/05/2011

คนจีนที่มั่งคั่งร่ำรวยและมีความรู้ความสามารถจำนวนมากขึ้นทุกที กำลังอพยพออกไปตั้งถิ่นฐานในต่างแดน โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ด้วยวัตถุประสงค์หลายหลาก ตั้งแต่การไปลงทุน, ศึกษาเล่าเรียน, กระทั่งเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันในแดนมังกร ในแง่ของการสูญเสียเงินทุน และปัญหา “สมองไหล” อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะตีความสิ่งที่ปรากฏขึ้นมานี้ว่า เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการเปิดกว้างยิ่งขึ้น และความเจริญรุ่งเรืองที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศจีน

ฮ่องกง - ขณะที่มีความรู้สึกมองโลกแง่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการที่แดนมังกรกำลังผงาดโดดเด่นและจะต้องขึ้นสู่ฐานะมหาอำนาจรายหนึ่งของโลกอย่างไม่ต้องสงสัยนั้น ก็มีชาวจีนที่มั่งคั่งร่ำรวยและมีความรู้ความสามารถจำนวนมากขึ้นทุกที ที่กำลังอพยพโยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบตะวันตก สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในประเทศจีน ในแง่ของการสูญเสียเงินทุน และการสูญเสียบุคลากรในลักษณะที่เรียกกันว่า “สมองไหล” (brain drain)

พวกที่มองโลกแง่ร้ายและชอบเยาะเย้ยถากถาง ถึงขั้นพูดเหน็บแนมอย่างสนุกปากว่า ในเมื่อเมืองจีนไม่มีการโหวตไม่ไว้วางใจ พวกหัวกะทิของสังคมจึงกำลัง “ลงคะแนนด้วยเท้าของพวกเขา” ว่าพวกเขามองไม่เห็นอนาคตของประเทศชาติ อันที่จริงปรากฏการณ์ทำนองนี้ได้เคยเกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางมาแล้วในฮ่องกงก่อนปี 1997 เมื่อตอนที่ดินแดนแห่งนี้กำลังจะผละออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพื่อกลับมาเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน ในเวลานั้นผู้คนจำนวนมากไม่มีความมั่นใจในคำมั่นสัญญาของกรุงปักกิ่งเกี่ยวกับ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และจึงพากันเร่งหาทางอพยพไปตั้งหลักแหล่งในประเทศอย่างเช่น แคนาดา, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์

อย่างไรก็ตาม การที่มีชาวจีนอพยพไปอยู่ต่างประเทศกันเพิ่มขึ้นในระยะหลังๆ มานี้ สามารถที่จะตีความอธิบายว่า เป็นสัญญาณของการที่จีนมีเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่พวกเรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ คือการออกไปลงทุนและไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กิจกรรมประเภทการฟอกเงิน และการอพยพไปอยู่ต่างแดนอย่างผิดกฎหมายนั้น ต้องถือเป็นอีกหัวข้อหนึ่ง

ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ การไหลเวียนของเงินทุนและบุคลากรถือเป็นมิติที่สำคัญยิ่งของเศรษฐกิจแบบเปิด โดยในส่วนที่จีนเกี่ยวข้องอยู่นั้น การไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ยังคงมีปริมาณเหนือล้ำเกินกว่าการไหลออกของเงินทุนจีน (ซึ่งรวมถึงเงินทุนที่ชาวจีนผู้อพยพนำเอาออกไปด้วย) มากมายนักหนา พร้อมๆ กับการไหลทะลักเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ ก็มีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาทำงานและมาพำนักอาศัยในประเทศจีน ถึงแม้พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้คิดที่จะหาทางยื่นเรื่องขอเป็นพลเมืองจีนก็ตามที

ชาวจีนจำนวนมากทีเดียวอพยพออกไปอยู่ต่างแดน โดยกระทำตามแผนการส่งเสริมการอพยพเข้าเมืองเพื่อการลงทุนของประเทศนั้นๆ ทั้งนี้นับว่าผิดแผกแตกต่างจากในอดีตมาก เพราะตลอดระยะเวลายาวนานก่อนโน้น จวบจนกระทั่งมาถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง การที่บุคคลสัญชาติจีนทิ้งประเทศไปอยู่เมืองนอก ไม่ว่าจะโดยถูกกฎหมายหรืออย่างผิดกฎหมาย เหตุผลข้อสำคัญที่สุดย่อมเป็นเรื่องของการหลบหนีให้พ้นจากความยากจน

ตามข้อมูลตัวเลขของสำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (Overseas Chinese Affairs Office) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดคณะรัฐมนตรีของจีน ปรากฏว่าบุคคลสัญชาติจีนที่กำลังพำนักอาศัยอยู่ในต่างแดนเมื่อปีที่แล้ว มีตัวเลขสูงกว่า 45 ล้านคน ทั้งนี้ไม่นับรวมผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในฮ่องกงและมาเก๊า อย่างไรก็ดี หน่วยงานแห่งนี้มิได้แจกแจงให้รายละเอียดมากกว่านี้ ตลอดจนไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าตัวเลขนี้รวมไปถึงคนงานและนักศึกษาชาวจีนที่อยู่ในต่างประเทศด้วยหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องแน่นอนทีเดียวที่บุคคลตามตัวเลขดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วคือชาวจีนที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานนอกประเทศ เพราะตามตัวเลขข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ คนงานจีนที่ไปทำงานในต่างแดนมีประมาณ 1 ล้านคน ส่วนนักศึกษาจีนในต่างประเทศก็มีราวๆ 1.5 ล้านคนเท่านั้น

ขณะที่ผู้อพยพชาวจีนดูเหมือนจะไปตั้งถิ่นฐานกันแทบจะทุกประเทศในโลก แต่ส่วนใหญ่ที่สุดไปอยู่ตามประเทศตะวันตก โดยที่แคนาดาคือชาติหนึ่งที่อยู่ในข่ายนี้ “ตั้งแต่ปี 1999 ถึงปี 2008 มีชาวจีนมากกว่า 400,000 คนได้รับสิทธิให้ไปตั้งถิ่นฐานในแคนาดา” ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขของ ฉี หลี่ซิน (Qi Lixin) นายกสมาคมบริการการเข้าและออกประเทศแห่งปักกิ่ง (Beijing Entry and Exit Service Association)

เหตุผลสำคัญของเรื่องนี้เป็นเพราะ ภายหลังวิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกในปี 2008 แล้ว ประเทศเหล่านี้ได้ผ่อนคลายระเบียบควบคุมว่าด้วยการอพยพเข้าเมืองเพื่อการลงทุน ด้วยจุดประสงค์ที่จะดึงดูดเงินทุนต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสในการสร้างงาน สภาพเช่นนี้จึงกลายเป็นโอกาสอันดีสำหรับชาวจีน

ตัวอย่างเช่น ตามข้อมูลสถิติเรื่องการอพยพเข้าเมืองของสหรัฐฯ ปรากฏว่าในระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2008 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2009 มีครอบครัวชาวจีนราว 1,795 ครอบครัวยื่นขอวีซ่าชนิด อีบี-5 (EB-5) ซึ่งเป็นวีซ่าเข้าเมืองเพื่อการเข้าไปลงทุนในอเมริกา โดยที่ตัวเลขชาวจีนซึ่งยื่นขอวีซ่าชนิดนี้มีสูงกว่าคำขอจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าประเทศไหน ส่วนที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ในปี 2009 มีการพิจารณาคำขออพยพเข้าเมืองเพื่อลงทุนจากชาวต่างประเทศเป็นจำนวน 5,108 ราย ปรากฎว่าในจำนวนนี้มาจากประเทศจีนถึงราว 70%

ตามระเบียบกฎเกณฑ์ของสหรัฐฯกำหนดว่า ครอบครัวที่มีคุณสมบัติจะได้รับวีซาชนิด อีบี-5 ได้ จะต้องมีรายได้อย่างต่ำที่สุด 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แคนาดา กำหนดให้อพยพเข้าเมืองเพื่อการลงทุนได้หากมีรายได้ 400,000 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 419,156 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้คนจีนที่ยื่นขอแต่ละราย ยังจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นจำนวนสูงทีเดียว เมื่อคิดรวมทั้งหมดแล้ว ผู้ยื่นขอที่มีคุณสมบัติและได้รับการอนุมัติ จะต้องมีเงินสดในมือเป็นจำนวนหลายล้านหยวน ทว่าในทุกวันนี้มีคนจีนจำนวนมากเลยที่มีคุณสมบัติในข้อนี้

ตามรายงานของ “หู รุ่น” (Hu Run) หรือ รูเพิร์ต ฮูจเวิร์ฟ (Rupert Hoogewerf) พลเมืองสัญชาติอังกฤษผู้หนึ่งที่เวลานี้พำนักอาศัยในประเทศจีน และทำการรวบรวมจัดทำ “รายชื่อบุคคลร่ำรวยในประเทศจีน” ออกมาเป็นประจำทุกปี ปรากฏว่า ณ ตอนสิ้นปี 2010 พวกเศรษฐีระดับหลายล้านในประเทศจีนมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 960,000 คน โดยในจำนวนนี้ราว 60,000 คนมีทรัพย์สินมากกว่า 100 ล้านหยวน (15.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบๆ 500 ล้านบาท) เศรษฐีเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 39 ปี ข้อเท็จจริงเช่นนี้เมื่อบวกกับเรื่องที่คนรุ่นหนุ่มสาวของจีนมักมีความปรารถนาที่จะไปพำนักอาศัยในต่างประเทศด้วยแล้ว ก็อาจจะใช้เป็นเหตุผลมาอธิบายถึงปรากฏการณ์การอพยพไปลงทุนในต่างแดนกันเป็นระลอกใหญ่โตในปัจจุบัน

การที่มีผู้อพยพเพื่อไปลงทุนในต่างประเทศพุ่งพรวดขึ้นมาเช่นนี้ ทำให้เกิดมีการกล่าวหากันขึ้นมาว่า คนจีนที่มั่งคั่ง “หาเงินจนร่ำรวยในเมืองจีนแต่ตอนนี้กำลังเปิดหนีออกจากประเทศเสียแล้ว” ส่วนพวกนักวิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองที่ช่างขบคิดจริงจังมากขึ้น ก็กำลังถกเถียงอภิปรายกันว่าทำไมพวกเขาจึงต้องการทิ้งเมืองจีนไป

อย่างไรก็ดี การถกเถียงดังกล่าวไม่น่าจะไปถึงไหน เนื่องจากจริงๆ แล้วการที่จะอพยพไปอยู่ต่างแดนหรือไม่ ย่อมเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล บางคนอาจปรารถนาให้บุตรหลานของพวกตนได้รับการศึกษาที่ดีกว่าอยู่ในเมืองจีน, บางคนอาจต้องการใช้ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างออกไป, ส่วนคนอื่นๆ อาจต้องการเสรีภาพมากขึ้น หรือมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในต่างแดนมากกว่า แต่ไม่ว่าจะอยู่ในข่ายไหน พวกเขาก็กำลังเสาะแสวงหาบางสิ่งบางอย่างซึ่งพวกเขาไม่อาจได้รับในประเทศจีน –ทั้งหมดก็มีเท่านี้เอง

กระนั้นก็ตาม ข้อดีข้อหนึ่งที่อาจสรุปได้จากการถกเถียงอภิปรายเหล่านี้ก็คือ จีนจะต้องปรับปรุงยกระดับการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินเอกชนและการลงทุนต่างๆ เนื่องจากชาวจีนผู้ร่ำรวยบางรายอาจจะรู้สึกไม่ปลอดภัย ในเมื่อไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ตลอดจนมีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันมาก

ในทางเป็นจริงแล้ว การอนุญาตให้พลเมืองของตนสามารถเดินทางไปประเทศอื่น หรือกระทั่งอพยพไปอยู่ยังประเทศอื่นได้อย่างเสรี คือสัญญาณประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศจีนกำลังกลายเป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นแล้ว และประชาชนก็ควรที่จะยินดีกับสภาพเช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากแง่มุมนี้แล้ว เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นว่าทางการจีนมีความคิดที่เปิดกว้างในการมองเรื่องการอพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างแดน เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการให้ความเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ สีว์ โย่วเซิง (Xu Yousheng) รองรัฐมนตรีผู้หนึ่งที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเล บอกว่า รัฐบาลจีน “ประการแรกสุด จะเคารพ (การตัดสินใจเลือกของพลเมือง) เนื่องจากสิทธิในการอพยพย้ายถิ่นฐาน ถือเป็นส่วนที่สำคัญยิ่งของสิทธิมนุษยชน และประการที่สอง จะปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ในต่างแดนอันถูกต้องตามกฎหมายของชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้ และจะชี้แนะให้ชาวจีนอพยพใหม่เหล่านี้เคารพกฎหมายของประเทศที่พวกเขาไปพำนักอาศัย และบูรณาการพวกเขาเองเข้าสู่สังคมท้องถิ่น”

ท่าทีดังกล่าวนี้สมควรแก่การปรบมือชมเชย ถ้าหากจีนยังคงเดินหน้าไปสู่การเป็นสังคมอันมั่งคั่งรุ่งเรืองและเปิดกว้างมากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ โดยที่มีการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นแล้ว บางทีผู้ที่อพยพออกไปอยู่ต่างแดนจำนวนมาก จะหวนกลับมาในวันหนึ่งข้างหน้าพร้อมด้วยเงินทุนของพวกเขา เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในฮ่องกง

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น