xs
xsm
sm
md
lg

ใช้จ่ายสไตล์เสือ ...ออมมีกำไร สุดขั้ว!แต่มีวินัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เข้าใจว่ามุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์และความสามารถย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่นได้...

"ผมเคยเก็บเงินเดือนสมัยทำงานบนเรือ 4 เดือนทั้งหมดโดยไม่ใช้อะไรเลย แต่หลังจากผมลงจากเรือผมก็ใช้เงินเดือน 3 เดือนจนหมดเกลี้ยงไม่เก็บเอาไว้เลยเช่นกัน"สมพร สืบถวิลกุล(เสือ) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) เล่าถึงวีรกรรมสุดขั้ว ให้ทีมงานASTVผู้จัดการรายวันได้ฟัง

ถ้าพูดถึงบทบาทและหน้าที่การงานของ สมพร ในแวดวงธุรกิจประกันคงเป็นที่ทราบกันดีกว่า ฝืไม้ลายมือแพรวพราวระดับไหน แต่จะมีใครบ้างรับรู้เรื่องไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายและออมเงินของเขาว่ามีเกร็ดน่าสนใจไม่ธรรมดาเหมือนกัน!

สมพร เล่าให้ฟังว่า เขาได้รับการปลูกฝังนิสัยการออมเงินมาจากคุณพ่อ...

พ่อของผมเป็นคนปลูกฝังเรื่องการออมให้ ซึ่งท่านเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาตั้งรกรากในประเทศไทย กว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวได้ ผมได้เห็นความยากลำบาก และการเก็บสตางค์ของท่าน แต่ที่ผมชอบคือความคิดของท่านที่ถือว่าล้ำสมัยมากขณะนั้น...

คนจีนในยุคนั้นส่วนใหญ่ให้ลูกทุกคนมาช่วยเหลืองานที่บ้าน แต่ท่านกลับส่งลูกทั้ง 6 คนเข้าเรียนทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าท่านไม่สามารถสร้างทรัพย์สินให้แก่ทุกคนได้ แต่สามารถสร้างทรัพย์สินที่ติดตัวคุณได้คือ ความรู้ 

"ตอนแรกผมเก็บเงินในกระปุ๋กออมสิน พวกเราพี่น้องมักจะแข่งกันเก็บเงิน เงินที่เก็บก็มี อยู่ 2 อย่างคือ เงินที่พอแม่ให้เราไปโรงเรียน กับเงินที่เราหาเองได้บางส่วน เนื่องจากเราเป็นลูกพ่อค้า เด็กๆ เรามักจะเดินขายของในตลาดเป็นแผง ทั้งขนม และฉลากที่เมื่อก่อนเป็นแบบจับรางวัล ผมเป็นคนนครศรีธรรมราช เพื่อนๆ ก็มาช่วยซื้อบ้าง ช่วยขายบาง ก็ได้เงินมา"

นั่นเป็นครั้งแรกที่รู้จัการออมพร้อมกับการลงทุน

หลังจากนั้น คุณสมพร เล่าให้ฟังต่อว่า นิสัยการออมพร้อมการลงทุนได้ติดตัวเขามาจนกระทั้งเข้าสู่วัยทำงาน เมื่อทำงานสิ่งที่เขาพยายามทำมากที่สุดคือการออมทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผมพยายามจะไม่เก็บเงินเอาไว้เฉยๆ แต่จะนำไปลงทุนด้วยไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ หรือสร้างภาระให้แก่ตนเอง คือเมื่อเริ่มทำงานผมมักจะเลือกเพดานสูงสุดกับกองทุนที่ผมมีทางเลือกสมทบ และผมเป็นคนที่พยายามจะสร้างภาระให้ตนเอง คือจะไปซื้อบ้านที่อยู่อาศัย และเมื่อหมดภาระแล้วก็จะไปซื้อบ้านเพื่อให้เขาเช่า เท่ากับเป็นการบังคับเราในตัว

วางแผนประกันชีวิต
สมพร เล่าให้ฟังต่อว่า เขาเป็นคนเรียนเก่งและสามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษได้ และตอนนั้นเองทำให้เขารู้จักกับการประกันภัยเป็นครั้งแรกก่อนจะใช้มันเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงในเวลาต่อมา

หลังจากที่ผมรู้จักการประกันภัยที่นั่น เมื่อผมกลับมาเมืองไทยผมก็เริ่มวางแผนชีวิต เพราะผมเป็นคนที่แต่งงานเร็วจึงต้องวางแผนเอาไว้ และกลายเป็นคนที่อยากจะมีประกันภัยเอง ไม่รอให้ใครมาเสนอขายแต่จะเสาะหาประกันชีวิตที่เหมาะสมด้วยตนเองเลย

"ผมเป็นคนที่วางแผนชีวิต เรารู้ว่าจะไปอย่างไร เรารู้ว่าอะไรคือความเสี่ยงเราจึงหาทางที่จะลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ผมเป็นคนแต่งงานเร็ว ซึ่งความที่เราเป็นนายเรือออกทะเลบ่อยๆ ผมจึงต้องวางแผนเพื่อป้องกันความผิดพลาด และตอนนั้นสิ่งที่นึกถึงอันแรกคือ การประกันชีวิต"

ใช้เต็มที่แต่มีกำไร
ดูเหมือนไร้ที่ติกับการวางแผนการใช้เงินของคุณสมพร แต่เชื่อหรือไม่ว่าเขามีพฤติกรรมสุดขั้ว แต่ยังแฝงข้อคิดการลงทุนเช่นเคย

สมพร เล่าให้ฟังว่า วีรกรรมสุดขั้วของผมไม่รู้จะใช้เป็นตัวอย่างได้หรือไม่ แต่เคยมีครั้งหนึ่ง ช่วงที่ผมเป็นนักเรียนนายเรือช่วงท้ายๆ เนื่องจากผมเป็นนักเรียนนายเรือที่เป็นนักเรียนทุน จะมีเงินเดือน กลายเป็นว่าในปีสุดท้ายผมได้เรียนด้วยทำงานด้วย ซึ่งช่วงที่ทำงานอยู่บนเรือประมาณ 4 เดือนผมจะเก็บเงินเดือนที่ได้โดยไม่ใช้เลย แต่ตอนที่ผมมีโอกาสได้หยุดพักแต่ยังได้รับเงินเดือนอยู่ประมาณ 3 เดือนผมจะใช้เงินตรงนั้นหมดเลยเช่นกัน

"กลับเมืองไทยใช่ชีวิตเต็มที่อยากซื้ออะไรก็ซื้อ แต่ผมจะมีมุมมองอีกอย่างคือ ผมจะซื้อของที่ยากได้มาก่อนเข้าเมืองไทย ทั้งในส่วนของนาฬิกา เครื่องเสียง กล่องถ่ายรูปใหม่ แล็ปท็อปที่ว่าหายากยังติดตัวมาเพียบ เป็นความคิดที่พิศดาร แต่จะขายหมดเมื่อเราออกเดินเรืออีกครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะขายได้กำไร เนื่องจากเป็นของใหม่ที่เรานำเข้ามาจากเมืองนอก และพี่ชายจะเป็นคนขายแล้วเก็บเงินไว้ให้เรา"

ภรรยาสุดยอดนักออม
ทุกวันนี้ผมจัดสรรเงินออมเอาไว้ ซึ่งการออมของแต่ละคนจะมีสูตไม่เหมือนกัน แต่ผมเป็นคนเก็บเงินเก่งเมื่อก่อนที่ยังไม่มีภาระจะออมประมาณ 20% ของรายได้ แต่ตอนที่มีภาระมากผมจะออมประมาณ 10% ของรายได้ แต่ทุกวันนี้จะบังคับตัวเองคือให้ได้ประมาณ 30% ของรายได้ ซึ่งหาใครบอกว่าเงินไม่เพียงพอให้ออม ผมไม่เชื่อเพราะถ้าคนเรารู้จักใช้ รู้จักบริโภคตามความจำเป็นมันก็จะเพียงพอที่จะมีเงินเหลือเก็บได้

ส่วนลูกๆ ผมมักจะสอนพวกเขาเสมอว่าการออมมีความสำคัญ ซึ่งทุกวันนี้จะใช้วิธีสมทบให้เท่ากับเงินออมที่เขาทำได้แต่ละเดือน แต่มีขอแม้จะต้องห้ามใช้และนำเงินฝากเข้าธนาคารเท่านั้นเช่น หากเดือนนี้เขาเก็บได้ 40 บาท เราก็จะสมทบให้เขาอีก 40 บาท เก็บได้ 100 เราจะต้องให้เพิ่ม 100 และที่ประสบความสำเร็จคือลูกคนกลาง

"แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนที่เก็บเงินเก่งที่สุดคือภรรยาของผม หลายครั้งที่ผมมีความจำเป็นที่ใช้ก้อนใหญ่ๆ เขาจะเก็บได้เสมอ"สมพรกล่าวทิ้งท้าย นับเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ และเชื่อว่าเหมาะแก่คนที่ยังไม่เริ่มต้นที่จะเก็บเงิน หรือวางแผนอนาคต เพราะถ้าฟังดีๆ จะรู้ว่า เงินออมไม่จำเป็นต้องเหลือใช้ แต่ใช้ให้พอเหลือเก็บ จึงเป็นหนทางที่ถูกต้องนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น