เอเอฟพี - ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ มีกำหนดการกล่าวสุนทรพจน์เรื่องการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับในอีก 2 วันข้างหน้า ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดก็พบว่า ประเทศมุสลิมต่างๆเริ่มมองสหรัฐฯในแง่ลบมากยิ่งขึ้น ตลอดปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจของศูนย์วิจัย พิว พบว่า มีเพียงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น ที่คนส่วนใหญ่ยังนิยมสหรัฐฯ เนื่องจาก โอบามา เคยใช้ชีวิตวัยเด็กที่นั่น
กระนั้นจำนวนชาวอินโดนีเซียที่เคยนิยมสหรัฐฯ ก็ยังลดลงราว 5 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยสูงถึง 59 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010
ผลสำรวจของ พิว ยังพบว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯไม่เป็นที่นิยมในประเทศมุสลิมส่วนใหญ่ โดยประชาชนเหล่านั้นไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่สหรัฐฯใช้จัดการการประท้วงที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกอาหรับในขณะนี้
แม้แต่พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯอย่าง จอร์แดน และ ตุรกี ก็เริ่มขุ่นเคืองสหรัฐฯมากยิ่งขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
ชาวจอร์แดนที่นิยมสหรัฐฯลดลง 8 เปอร์เซ็นต์จากปี 2010 เหลือเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ส่วนชาวตุรกีซึ่งเคยนิยมสหรัฐถึง 17 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว ก็ลดเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์
ชาวตุรกีร้อยละ 12 บอกว่า พวกเขายังมั่นใจในตัว โอบามา ซึ่งลดลง 11 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว ส่วนในจอร์แดน ประชาชนร้อยละ 28 ยังมั่นใจในตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2 เปอร์เซ็นต์
ชาวปากีสถานก็มีมุมมองเชิงบวกกับสหรัฐฯน้อยลง จาก17 เปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว เหลือเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ทว่าในทางตรงกันข้าม ความมั่นใจในตัว โอบามา กลับเพิ่มขึ้นจาก8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หากถามความคิดเห็นจากชาวปากีสถานในวันนี้ ผลที่ได้ก็อาจแตกต่างออกไป เนื่องจาก พิว ได้สรุปผลสำรวจ ก่อนที่หน่วยคอมมานโดสหรัฐฯจะบุกสังหาร อุซามะห์ บิน ลาดิน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ผลสำรวจของ พิว สรุปจากความคิดเห็นของประชาชนในอียิปต์, อินโดนีเซีย, อิสราเอล, จอร์แดน, เลบานอน, ดินแดนปาเลสไตน์ และ ตุรกี ประเทศละ 1,000 คน และชาวปากีสถานอีก 2,000 คน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา