เอเอฟพี - ประเทศไทยแสดงท่าทีสนใจการทำข้อตกลงเรื่องผู้ลี้ภัยกับทางการออสเตรเลีย ในทำนองเดียวกับที่กรุงแคนเบอร์ราวางโครงการร่วมกับมาเลเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจูเลีย กิลลาร์ด ตอกย้ำอีกครั้งในวันนี้ (15) ว่า จะไม่มีผู้ลี้ภัยทางเรือคนใดได้เหยียบแผ่นดินออสเตรเลียอีกต่อไป
เมื่อหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการออสเตรเลียประกาศถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการอพยพเข้าเมือง โดยนโยบายนี้ออกแบบมา เพื่อจัดการปัญหาการลักลอบเข้าเมือง และสกัดกั้นฝูงเรืออพยพที่ขนผู้ลี้ภัยหลบหนีเข้าไปยังผืนแผ่นดินของออสเตรเลีย
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ออสเตรเลียได้เสนอที่จะส่งผู้ลี้ภัย 800 คนไปยังมาเลเซียตามโครงการที่วางไว้ ในทางกลับกัน ออสเตรเลียจะรับผู้ลี้ภัย 4,000 คนที่ได้รับการประเมินฐานะผู้ลี้ภัยในภายหน้าให้กลับไปตั้งรกรากในอีก 4 ปีข้างหน้า
แม้โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าออสเตรเลียกำลังกลับไปใช้มาตรการเนรเทศผู้อพยพทางเรือไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ยากจน ทว่า กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กล่าวไว้ว่าไทยอาจสนใจร่วมทำข้อตกลงในทำนองเดียวกันนี้กับออสเตรเลีย
“ผมคิดว่าข้อตกลงระหว่างออสเตรเลีย-มาเลเซียในรูปแบบเฉพาะ ตามอัตราส่วนผู้ลี้ภัย 5 ต่อ 1 เป็นสิ่งที่เราก็สนใจรับพิจารณา” กษิต ภิรมย์ กล่าว
การแถลงข่าววานนี้ (14) หลังการหารือร่วมกับเควิน รัดด์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียในกรุงเทพ รัฐมนตรีกษิตเผยว่า มีหลายประเทศกำลังมองหาวิธีแก้ปัญหาการไหลทะลักของผู้ลี้ภัยที่เป็นระบบ เขาย้ำว่า “ข้อตกลงระหว่างออสเตรเลีย-มาเลเซียอาจเสริมความชัดเจน และสร้างรูปแบบให้ประเทศอื่นๆ ได้ศึกษา”
ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ออสเตรเลียเสนอจะรับช่วงต่อจากมาเลเซียนั้นล้วนอพยพมาจากพม่า โดยใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังได้เจรจากับปาปัวนิวกีนี ประเทศเพื่อนบ้านยากจนทางตอนเหนือ ให้เปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยที่กำลังรอการพิจารณา ทว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีเรือผู้อพยพมากกว่า 7,800 ลำเดินทางเข้าสู่น่านน้ำออสเตรเลีย
จูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวถึงผู้ลี้ภัยระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอบีซีอย่างชัดเจนว่า “อย่ามาที่ออสเตรเลียโดยหวังว่าจะได้รับการพิจารณา (ฐานะผู้ลี้ภัย) เพราะคุณจะไม่ได้มัน”