เอเอฟพี - ศาลสูงแห่งออสเตรเลียยุติปัญหาร้อนกรณีผู้ลี้ภัยของรัฐบาล วันนี้ (31) ด้วยการออกคำสั่งระงับแผนส่งผู้ลี้ภัยทางเรือข้ามไปยังมาเลเซีย พร้อมทั้งชี้ขาด ว่า ผู้ลี้ภัยไม่ควรถูกส่งตัวไปยังประเทศที่ขาดการคุ้มครองทางกฎหมาย
ออสเตรเลียตั้งเป้าส่งตัวผู้ลี้ภัยทางเรือ 800 ราย ไปยังมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจำนวน 4,000 ราย คำพิพากษาของศาลทำให้รัฐบาลออสเตรเลียต้องระงับแผนการนี้
วันนี้ ศาลพิพากษาว่า ภายใต้กฎหมายออสเตรเลีย รัฐบาลไม่สามารถส่งผู้ลี้ภัยไปรับการพิจารณาสถานะในประเทศอื่น หากประเทศนั้นไม่มีมาตรการเพื่อปกป้องผู้ลี้ภัยเพียงพอ
“ประเทศดังกล่าวต้องยอมรับกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีกฎหมายภายในประเทศ เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาสถานะ” ศาลสูงออสเตรเลียระบุในสรุปผลคำพิพากษา
ด้าน กลุ่มนักเคลื่อนไหวปกป้องผู้ลี้ภัยต่างพึงพอใจกับคำตัดสิน โดยกล่าวถึงศาลสูงว่าได้ยืนยันทัศนะของพวกเขาว่า มาเลเซียเป็นสถานที่แสนอันตรายสำหรับผู้ลี้ภัย และการส่งบุคคลเหล่านี้ไปยังสถานที่เช่นนั้นถือเป็นการละเมิดกฎหมายออสเตรเลีย
แผนการสับเปลี่ยนผู้ลี้ภัยภายใต้ชื่อ “มาเลเซีย ซูโลชัน” เป็นส่วนหนึ่งของการรับมือปัญหาระดับภูมิภาค เพื่อหยุดยั้งการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยทางเรือที่หลบหนีเข้าออสเตรเลียจำนวนหลายพันคนต่อปี หลังการประกาศแผนดังกล่าว องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างรุมประณาม พร้อมทั้งกล่าวหากรุงแคนเบอร์ราว่า เพิกเฉยต่อข้อบังคับระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย จากการละทิ้งคนกลุ่มนี้ไว้ในประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ
ศาลสูงเห็นพ้องต้องกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่า ข้อตกลงดังกล่าวได้ละเมิดหน้าที่ของออสเตรเลียที่มีต่อผู้ลี้ภัย เนื่องจากมาเลเซียไม่ได้ลงนามในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัย ทั้งนี้ แม้คำพิพากษาของศาลสูงออสเตรเลียไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ารัฐบาลอาจแก้กฎหมายพระราชบัญญัติการเข้าเมือง เพื่อหาทางเลี่ยงคำพิพากษา
ทางการออสเตรเลียได้เปิดเผยแผนการแลกตัวนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยให้คำมั่นว่าผู้ลี้ภัยทางเรือจะได้รับการพิจารณาสถานะในต่างแดน และคนกลุ่มแรก 800 คนจะถูกส่งไปยังมาเลเซีย ซึ่งจะให้การดูแลตามหลักมนุษยธรรม
ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกมีกำหนดเดินทางไปยังมาเลเซียตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่า เดวิด แมนเน ทนายผู้ลี้ภัย ได้ร้องขอต่อศาลให้ระงับการส่งตัว โดยให้เหตุผลว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยล้วนกังวลถึงความปลอดภัยในมาเลเซีย กรณีนี้ องค์การนิรโทษกรรมสากลก็ระบุว่า ออสเตรเลียไม่ควรส่งผู้ลี้ภัยไปมาเลเซีย ซึ่งมีการเฆี่ยนตี, กักขัง และละเมิดสิทธิ์ผู้ลี้ภัยอยู่บ่อยครั้ง
อนึ่ง รัฐบาลออสเตรเลียทุกชุดล้วนประสบปัญหาผู้อพยพทางเรือ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ถูกออสเตรเลียส่งไปคุมตัวรอการพิจารณาสถานะอยู่ในศูนย์กักกันอันห่างไกล ทั้งบนประเทศหมู่เกาะอย่าง นาอูรู และบนเกาะคริสต์มาส ในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย