เอเอฟพี/เอเจนซี - รัฐบาลญี่ปุ่นออกคำสั่งเมื่อวันพฤหัสบดี(21) ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปในพื้นที่อพยพรัศมี 20 กิโลเมตรรอบๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งยังคงปล่อยกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา ถึงแม้ “วิกฤตนิวเคลียร์” จะล่วงเลยมาเกือบ 6 สัปดาห์แล้ว ขณะเดียวกัน ทางการยังสั่งตรวจสอบว่าน้ำนมของบรรดาคุณแม่ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะการปนเปื้อนรังสีหรือไม่
คำสั่งห้ามดังกล่าว ซึ่งจะเพิ่มน้ำหนักในทางกฎหมายให้แก่คำสั่งกำหนดเขตอพยพที่ได้ประกาศใช้หลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้แล้ว ออกมาภายหลังที่ตำรวจพบว่ายังมีผู้คนอีกกว่า 60 ครอบครัวพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งมีประชาชนจำนวนมากกำลังกลับไปบ้านเรือนที่พวกเขาละทิ้งมา เพื่อเก็บรวบรวมสมบัติข้าวของ
นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ประกาศคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ฉบับนี้ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่เวลา 24.00 น.เป็นต้นไป ระหว่างการเยือนจังหวัดฟูกูชิมะ โดยผู้ละเมิดอาจถูกลงโทษปรับ 100,000 เยน (ราว 37,000 บาท) หรือถูกตำรวจกักขังไว้ชั่วคราว ทั้งนี้มีประชาชนกว่า 85,000 คนถูกสั่งอพยพออกจากพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้า โดยรวมถึงผู้อยู่ในรัศมีระหว่าง 20-30 กิโลเมตรจากฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งในช่วงแรกๆ ทางการบอกว่ายังอยู่ต่อไปได้หากไม่ออกมากลางแจ้ง แต่ต่อมาก็เรียกร้องให้อพยพออกมาด้วย
“โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังไม่อยู่ในภาวะเสถียร” ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาล ซึ่งตามระบบการเมืองญี่ปุ่นถือเป็นบุคคลทรงอิทธิพลอันดับ 2 ในคณะรัฐบาล แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงโตเกียว “เราจึงขอให้ประชาชนอย่าเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากมีความเสี่ยงมากต่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง”
ตามคำสั่งห้ามนี้มีเงื่อนไขผ่อนปรนว่า สมาชิกคนหนึ่งในแต่ละครอบครัวซึ่งพำนักในพื้นที่ดังกล่าว สามารถกลับไปดูแลบ้านและขนข้าวของออกมาได้ 2 ชั่วโมง โดยต้องสวมชุดป้องกันรังสีและมีอุปกรณ์วัดรังสี
เอดาโนะแจกแจงว่า ผู้คนเหล่านี้จะเดินทางเข้าไปโดยรถโดยสารซี่งจะมีให้บริการในอีกไม่กี่วันข้างหน้า และให้เข้าไปได้ประมาณ 1-2 เดือน แต่ทั้งนี้ยกเว้นผู้ที่อยู่ภายในรัศมี 3 กิโลเมตรห่างจากโรงไฟฟ้า ซึ่งความเสี่ยงจากรังสียังถือว่าสูงเกินไป
ทางด้านประชาชนที่มีบ้านพักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว หลายๆ คนบอกกับสื่อมวลชนว่าไม่พอใจคำสั่งนี้ บางคนบ่นว่าหลังคาบ้านได้รับความเสียหาย แต่เวลาที่อนุญาตให้เข้าไปแค่วันละ 2 ชั่วโมง ทำให้ซ่อมแซมบ้านไม่ได้
นอกจากนั้น หลายคนยังหงุดหงิดที่ไม่ทราบว่าเมื่อไรแน่ที่พวกตนจะได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งในเรื่องนี้ทางบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เท็ปโก) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ได้แถลงในวันอาทิตย์(17)ว่า คงต้องใช้เวลาอีก 6-9 เดือนกว่าที่จะสามารถดำเนินการปิดเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดในแบบที่ถือว่าปลอดภัย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า อาจจะใช้เวลานานกว่านั้นด้วยซ้ำ
ในสัปดาห์นี้ เท็ปโกเริ่มสูบน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีระดับสูงออกมาจากเตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่งของโรงไฟฟ้านี้ เพื่อจะได้สามารถเข้าไปซ่อมแซมให้ระบบหล่อเย็นใช้งานได้ใหม่ ทว่าระดับน้ำภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนั้น สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า น้ำจากโรงไฟฟ้าที่ถูกปล่อยลงทะเลระหว่างวันที่ 1-6 เมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีปริมาณรังสีสูงถึง 20,000 เท่าของระดับที่ทางการอนุญาตให้ปล่อยสู่ภายนอกในแต่ละปี
อนึ่ง เอดาโนะ หัวหน้าโฆษกรัฐบาลแถลงวันพฤหับดี(21) เช่นกันว่า กระทรวงสาธารณสุขจะตรวจสอบว่าน้ำนมของคุณแม่ทั้งหลายได้รับผลกระทบกระเทือนจากกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ หรือไม่ ทั้งนี้หลังจากองค์กรภาคประชาชนแห่งหนึ่งแจ้งว่า จากการตรวจของสถาบันเอกชนพบว่า ตัวอย่างน้ำนมจากมารดา 4 คนในจังหวัดต่างๆ ใกล้ๆ กรุงโตเกียว มีระดับกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 สูงกว่าปกติเล็กน้อย