xs
xsm
sm
md
lg

Focus: นักจิตวิทยาหวั่นภัยธรรมชาติทำชาวญี่ปุ่น “เก็บกด-สภาพจิตเสียหาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้รอดชีวิตรับประทานอาหารร่วมกันที่ศูนย์ผู้อพยพเมืองโอนางาวะ จังหวัดมิยางิ เมื่อวันที่ 5 เมษายน
เอเอฟพี - ขณะที่โลกตะวันตกต่างยกย่องขันติธรรมของชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม แต่นักจิตวิทยากังวลว่า การพยายามซ่อนความเจ็บปวดไว้โดยไม่แสดงออก อาจทำให้สภาพจิตใจเสียหายในระยะยาว

ผู้คนทั่วโลกต่างสรรเสริญเมื่อเห็นชาวญี่ปุ่นซึ่งสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างยอมรับโชคชะตาด้วยอาการสงบ แต่ใครจะรู้ว่าภายใต้ใบหน้าอันเรียบเฉยนั้น กลับซ่อนความปวดร้าวแสนสาหัสเอาไว้

“จริงๆแล้ว ผมอยากจะปล่อยโฮออกมาดังๆ เพราะผมเสียใจมาก” เคนิจิ เอ็นโดะ ผู้รอดชีวิตวัย 45 ปี กล่าว พร้อมหลับตาลงชั่วขณะ

“ผมสูญเสียทั้งคุณพ่อ, สัตว์เลี้ยง, รถ และเงินออมที่สะสมไว้ ผมเสียทุกอย่างครับ แต่ทุกคนที่นี่ก็เป็นเหมือนกันหมด ถ้าผมร้องไห้ ทุกคนก็จะร้องตามไปด้วย เพราะฉะนั้นผมจึงทำไม่ได้” เขาให้สัมภาษณ์ ที่เมืองโอนางาวะ

โศกนาฎกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อแรงสั่นสะเทือนขนาด 9.0 ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มเมืองชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 13,500 คน และอีก 14,000 คนยังไร้ร่องรอย

แม้จะผ่านมานานถึง 5 สัปดาห์แล้ว แต่ผู้รอดชีวิตนับแสนคนยังต้องอาศัยโรงยิมหรือสถานที่สาธารณะอื่นๆเป็นที่พักพิง บางครั้งต้องนอนรวมกันหลายสิบ หรือหลายร้อยคน
ครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในศูนย์ผู้อพยพเมืองริกุเซ็นตากาตะ จังหวัดอิวาเตะ
แม้ต้องเผชิญความยากลำบาก แต่ชาวญี่ปุ่นเหล่านี้ยังต้องบริหารจัดการอารมณ์กันอย่างเข้มงวด

แต่บางครั้งความโศกเศร้าก็ถาโถมเข้ามาอย่างไม่คาดคิด ทั้งยามนอน, ยามฟังเพลง หรือแม้แต่เวลารับประทานอาหาร

“สิ่งที่ผมอยากได้ที่สุดคือ ความเป็นส่วนตัว” เค็น ฮิรากิ ผู้อพยพอีกคนหนึ่งกล่าว “ตอนกลางดึก ผมมักได้ยินคนที่หลับอยู่ร้องครวญครางในความฝัน แต่บางครั้งภรรยาก็ปลุกผมขึ้นมา เพราะผมฝันและร้องแบบนั้นเหมือนกัน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพต่างกังวลที่ผู้รอดชีวิตหลายคนปฏิเสธที่จะระบายความรู้สึกออกมา ซึ่งจะยิ่งทำให้คนเหล่านี้เปราะบางต่อแรงกดดัน และอาจเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

“ขณะนี้ชาวญี่ปุ่นหลายคนป่วยเป็นโรคเครียดชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่เจอภัยพิบัติรุนแรงระดับนี้” ริตสึโกะ นิชิมาเอะ นักจิตวิทยาซึ่งทำงานกับองค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ด็อกเตอร์ส วิธเอาต์ บอร์เดอร์ส (เอ็มเอสเอฟ) ในเมืองมินามิซันริขุ กล่าว

“ถ้าพวกเขาไม่ได้รับการเยียวยาด้านจิตใจอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะป่วยเป็นโรคเครียดหลังภัยพิบัติ (post-traumatic stress disorder)”

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังมองว่าอาการเครียดเป็นเรื่องน่าอับอาย โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยซึ่งเป็นชนบท และความสัมพันธ์ของคนในชุมชนยังเหนียวแน่น
สภาพความเสียหายของเมืองโอนางาวะหลังถูกคลื่นสึนามิซัดถล่ม เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา
ราว 1 ทศวรรษมานี้เองที่ญี่ปุ่นเริ่มยอมรับว่าปัญหาทางจิตเป็นเรื่องปกติ และมีชาวญี่ปุ่นราว 900,000 คนต่อปีที่เข้ารับการรักษาอาการเครียด โดยใช้ภาษาที่นุ่มนวลว่า “ไข้ใจ” (heart flu)

จิตแพทย์ หรือที่เรียกกันว่า “ผู้ดูแลหัวใจ” กล่าวว่า การรักษาจะช่วยให้คนญี่ปุ่นมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้

“พอคุณพูดถึงจิตเวชศาสตร์ คนจะรู้สึกอ่อนไหวกับคำนี้มาก พวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าอาย” นาโอกิ ฮายาชิ จิตแพทย์จากโตเกียวซึ่งเดินทางไปดูแลผู้อพยพในเมืองริกุเซ็นตากาตะ กล่าว

“ผู้รอดชีวิตมักรู้สึกผิดที่จะพูดถึงความทุกข์ของตน เพราะคนอื่นๆก็เจ็บปวดเช่นกัน และความรู้สึกแบบนี้ก็ค่อนข้างแพร่หลายในแถบชนบท”

เคอิโกะ คัตสึมาตะ วัย 57 ปี ซึ่งพักอยู่ในศูนย์ผู้อพยพเมืองโอนางาวะ กล่าวว่า “คนญี่ปุ่นเราไม่ชอบพูดเรื่องส่วนตัวหรือปัญหาส่วนตัวกับคนแปลกหน้าหรอก ฉันจะเล่าให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวฟังมากกว่า”

ความรู้สึกเช่นนี้ยิ่งรุนแรงสำหรับผู้เคยที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วอย่าง โทชิโกะ ซาวามูระ

“ต่อให้ฉันไปหาหมอแบบที่ว่านั้น เขาก็ช่วยแก้ปัญหาให้ฉันไม่ได้หรอก ฉันเคยรู้รสสงครามมาแล้ว ฉันผ่านอะไรมาเยอะ ฉันถึงเข้มแข็งยังไงล่ะ” คุณย่าวัย 77 ปี กล่าว

“เราคนแก่ไม่เหมือนพวกหนุ่มๆสาวๆ พวกนั้นอ่อนแอกว่าเราเยอะ”
กำลังโหลดความคิดเห็น