xs
xsm
sm
md
lg

จับตาหายนะตรึมดักคว่ำศก.โลก เวิลด์แบงก์จับมือ IMF ร้องเตือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก
เอเอฟพี - บรรดาบิ๊กบอสทางด้านการเงินของโลก ออกมาประสานเสียงเตือนว่า ราคาอาหารที่พุ่งสูง, ปัญหาว่างงานที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไข, สภาพการณ์กลียุคในตะวันออกกลาง, อีกทั้งฐานะการเงินอันอ่อนแอในระบบเศรษฐกิจแถวหน้าของพื้นพิภพ ล้วนเป็นปัจจัยที่สามารถจะพัดพาให้พลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกมีอันต้องพังพาบ

รอเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก กล่าวเตือนไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16) ว่าวิกฤตแบบระเบิดเต็มใบอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนี้เอง โดยอาจตูมตามขึ้นมาได้ถ้าเศรษฐกิจโลกต้องสะดุดอีกแค่ครั้งเดียว

“วิกฤตการเงินให้บทเรียนแก่เราว่า การป้องกันย่อมดีกว่าการตามเยียวยา เราไม่สามารถลืมเลือนบทเรียนนี้ได้เลย” ประธานธนาคารโลกกล่าวไว้ในตอนปิดการประชุมร่วมประจำปีช่วงฤดูใบไม้ผลิของเวิลด์แบงก์กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

นอกจากนั้น ธนาคารโลกยังเตือนด้วยว่าหากสภาพปัญหาในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือย่ำแย่ลงกว่าที่เป็นอยู่ ปัจจัยตรงนี้ “สามารถจะพัดพาให้พลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกมีอันต้องพังพาบ”

“ถ้าราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและยืดเยื้อ.. การเติบโตของโลกอาจถูกฉุดลงมาระหว่าง 0.3% ถึง 1.2% ในปี 2011 และ 2012” ธนาคารโลกเตือนไว้ในตอนหนึ่งของคำแถลง

ในการนี้ เซลลิกเรียกร้องให้มีการดำเนินการหนุนการปฏิรูปในตะวันออกกลางอย่างเร่งด่วน พร้อมกับช่วยสร้างสัญญาประชาคมใหม่ให้แก่ภูมิภาคนี้ “การรอให้สถานการณ์เข้าสู่เสถียรภาพจะหมายถึงการสูญเสียโอกาสอย่างมากมาย ในโมงยามแห่งการปฏิวัติอย่างนี้ การรักษาสถานภาพเดิมไม่ใช่ปัจจัยแห่งชัยชนะอย่างแน่นอน”

พวกเทคโนแครตทางเศรษฐกิจของโลกอย่างพวกเจ้าหน้าที่เวิลด์แบงก์และไอเอ็มเอฟ เพิ่งได้ถอนใจโล่งอกรอบใหญ่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการต่อสู้พันตูมานานสองปีในท่ามกลางแรงกดดันอันมหาศาลจากบรรดาเครือข่ายแห่งระบบการเงินโลก ซึ่งปัญหาอันแผ่ลามกว้างไกลทั้งปวงนั้น เริ่มปะทุจากการล่มสลายของระบบการเงินและตลาดบ้านที่อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008-2009

ด้านกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ โดมินิก สเตราส์-คาห์น ย้ำซ้ำๆ ว่ายังไม่ใช่เวลาที่จะวางใจกับสถานการณ์ ในเมื่ออาการป่วยไข้ภายในระบบยังค้างเติ่งอยู่อีกมากมาย ขณะที่ปัญหารายการใหม่ๆ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไปภายในบรรดาระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย ก็จ่อจะเข้ามาสร้างความเสียหาย

“การฟื้นตัวนั้นมีศักยภาพอยู่ แต่ปัญหาการว่างงานในประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินไป” เบอร์หนึ่งไอเอ็มเอฟกล่าวในช่วงปิดการประชุมร่วมธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟ พร้อมกับเตือนว่า

“ยังต้องเดินหน้าซ่อมแซมสิ่งต่างๆ อีกมาก” ภายในภาคการเงินของระบบเศรษฐกิจชั้นนำทั้งหลาย ขณะที่ว่าภายในระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ต่างๆ ก็เป็นปัญหาว่าการเติบโตจะร้อนแรงเกินไปหรือไม่ ในเมื่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้นรวดเร็วอย่างยิ่ง ขณะที่ผลกระทบจากการที่ระดับราคาอาหารและพลังงานพากันพุ่งทะยาน ก็ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่ง

ส่วนสำหรับการที่ปัญหาว่างงานเริ่มจะกระเตื้องดีขึ้นนั้น นายใหญ่ไอเอ็มเอฟชี้ว่า เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่บรรดาบิ๊กบอสแห่งวงการเงินของโลกยังผวาวิตกอยู่

“การเติบโตอย่างเดียวนับว่าไม่เพียงพอ เพราะวิธีคิดในแบบเดิมที่ว่า ถ้าระบบเศรษฐกิจเติบโต เรื่องอื่นๆ ก็จะดีตามๆ กันไปนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้นกันแล้ว” นี้เป็นข้อสังเกตของธาร์มาน ชานมูการัตนัม รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายด้านการเงินการคลังของไอเอ็มเอฟ

“เราต้องเฝ้าระวังอย่างสุดๆ แต่เราก็ต้องพัฒนาศักยภาพด้วย.. คือเราต้องเผื่อไว้ว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่ย่ำแย่ และต้องเตรียมไว้เลยว่าประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงพวกประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นการพิเศษด้วยนั้น จะต้องพร้อมเปิดปฏิบัติการตัดไฟแต่ต้นลมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตรอบใหม่”

สเตราส์-คาห์น ยืนยันว่าไอเอ็มเอฟให้การสนับสนุนช่วยเหลือแก่ประเทศที่เผชิญปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ว่าจะเป็นกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส แต่นายใหญ่ไอเอ็มเอฟก็เตือนด้วยว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในยุโรป จะต้องมีฐานทุนที่ใหญ่โตมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน พวกแบงก์ใหญ่ยักษ์จอมพลังทั้งหลายของโลกก็จะต้องถูกกำกับตรวจสอบมากขึ้นด้วย

ในที่ประชุมมีการแสดงความวิตกมากทีเดียวต่อประเทศที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกเป็นพิเศษ ซึ่งก็คือสหรัฐอเมริกา ในการนี้ ไอเอ็มเอฟได้ออกปากวิพากษ์ไว้เมื่อต้นสัปดาห์ในประเด็นที่ว่า สหรัฐฯ ยังชักช้ากับการแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม สเตราส์-คาห์นกล่าวไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (14) ว่าการที่รัฐบาลโอบามามีแผนหั่นงบประมาณ และเพิ่มภาษีนั้น นับเป็นก้าวย่างที่ดีในอันที่จะไปสู่ความยั่งยืนเชิงการคลัง

ระหว่างการประชุมธนาคารโลก-ไอเอ็มเอฟคราวนี้ พวกรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม 20 ระบบเศรษฐกิจใหญ่ของโลก (จี 20) ก็ได้จัดการประชุมแบบข้างเคียง โดยมการหยิบประเด็น “ความอสมดุล” ขึ้นมาเน้นย่ำ อาทิ หนี้ในยุโรป การขาดดุลซ้ำซ้อนของสหรัฐฯ และการเกิดดุลการค้ามหาศาลของจีน

กลุ่มจี20 ได้ตกลงทึ่จะสร้าง “แนวทางการวิเคราะห์ตรวจสอบ” แบบใหม่ เพื่อชี้บ่งว่าชาติสมาชิกรายใดที่หลุดออกจากสภาวะสมดุลจนอาจเป็นอันตรายต่อสมาชิกอื่นๆ ภายในกลุ่ม ในการนี้ มีอยู่ 7 ชาติ ซึ่งแม้ไม่ได้ถูกระบุนามอย่างเป็นทางการ แต่ก็รู้ๆ กันว่าใครเป็นใคร (ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย) ถูกขึ้นบัญชีชื่อว่ามีความอสมดุลที่เสี่ยงจะสร้างความเสียหายแก่ระบบ

ในการนี้ แผนดำเนินงานมีอยู่ว่า ชาติเหล่านี้อาจถูกชาติสมาชิกด้วยกันเรียกร้องให้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาแต่เนิ่นๆ ณ เวทีการประชุมสุดยอด จี 20 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น