xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปควรที่จะได้เป็นบิ๊กบอสไอเอ็มเอฟต่อไป

เผยแพร่:   โดย: ปิเตอร์ โมริชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Europe should keep top job
By Peter Morici
20/05/2011

เสียงเรียกร้องที่ว่ากรรมการผู้จัดการคนต่อไปของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ควรต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่ชาวยุโรป กำลังมองข้ามละเลยความเป็นจริงที่ว่า พวกรัฐบาลต่างๆ ในเอเชียมีความโน้มเอียงที่จะหยามเหยียดระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่อาศัยพลังของตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่า อีกทั้งพวกเขายังคอยแต่จะละเมิดกฎระเบียบต่างๆ ขององค์การการค้าโลกอยู่เสมอ

ข้อถกเถียงต่อประเด็นว่าใครกันแน่ ระหว่างชาวยุโรปกับชาวเอเชีย ที่ควรได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นั้น นับเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องของสัญลักษณ์ ในการนี้ ผู้นำที่เป็นคนเอเชียน่าที่จะเลวร้ายต่อตลาดเสรี และต่อความก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจโลก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธนาคารโลกถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือระยะยาวในด้านการเงินและเทคนิคแก่ประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ไอเอ็มเอฟถูกสถาปนาเพื่อบริหารจัดการกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว โดยถือกันว่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องตรึงกับทองคำ แล้วสกุลเงินตราอื่นๆ ก็มาตรึงกับเงินดอลลาร์

ในการนี้ คนอเมริกันเอาโควต้าประมุขของธนาคารโลกไปครอง ส่วนคนยุโรปได้โควตานายใหญ่ไอเอ็มเอฟ

โดยที่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัวเสื่อมสลายไปในทศวรรษ 1970 ภารกิจของไอเอ็มเอฟถูกปรับไปสู่การให้สินเชื่อระยะสั้นแก่ประเทศต่างๆ ที่มีการออกพันธบัตรรัฐบาล – ซึ่งนั่นคือเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบันนี้ ไอเอ็มเอฟจึงไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของประเทศกรีซ - พร้อมกับสนับสนุนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่โปร่งใสและกำหนดโดยตลาด

ที่ผ่านมา ปรากฏมีรัฐบาลของชาติต่างๆ ในเอเชียจำนวนมากเหลือเกิน แสดงความโน้มเอียงบ่อยครั้งเหลือเกินที่จะหยามเหยียดระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่อาศัยพลังของตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่า อีกทั้งพวกเขายังคอยแต่จะละเมิดกฎระเบียบต่างๆ ขององค์การการค้าโลกในอันที่จะต่อต้านการแทรกแซงตลาดเพื่อบิดเบือนสภาพการณ์แท้จริงของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน โดยที่รัฐบาลของชาติเอเชียเหล่านี้มุ่งหวังจะให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบเชิงการแข่งขันและให้ชาติของตนได้เปรียบดุลการค้า

ในเวลาเดียวกัน องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ก็ผลักภาระเรื่องการตรวจตราระงับเหตุร้ายภัยพิบัติแห่งการละเมิดกฎเหล่านี้ไปไว้กับไอเอ็มเอฟ ซึ่งชาติขาใหญ่ในด้านการละเมิดกฎเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินมีตั้งแต่จีน อินเดีย ไปจนถึงญี่ปุ่น ที่ล้วนแต่จะมีส่วนสำคัญยิ่งยวดในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (จีดีพี) ของเอเชีย

ถ้าชาวเอเชียได้รับอนุญาตให้กุมบังเหียนระบบการทำงานของไอเอ็มเอฟล่ะก้อ บทบาทของไอเอ็มเอฟคงไม่แคล้วที่จะไปหนุนความสัมพันธ์เชิงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินที่เป็นความเสียเปรียบอย่างใหญ่หลวงต่อการเติบโตของสหรัฐฯ และยุโรป

ทั้งนี้ อันที่จริงแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรง (อันเป็นผลจากความอสมดุลของการค้าโลก อีกทั้งได้ถูกสร้างจากการที่สกุลเงินต่างๆ ในเอเชียมีราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง) คือปัจจัยที่สร้างปัญหาหนี้ภาครัฐอันย่ำแย่รุนแรงในยุโรปและสหรัฐฯ

การเติบโตของเอเชียนั้นฉูดฉาดโดดเด่น แต่มันเกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลต่างๆ ของเอเชียได้แหวกกฎทั้งปวง – แล้วตอนนี้เราย่อมไม่ควรให้พวกนั้นมารับผิดชอบการบังคับใช้กฎเหล่านี้

ปิเตอร์ โมริชิ สอนอยู่ที่ สถาบันธุรกิจสมิธ (Smith School of BusinessX มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ในอดีต เคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของคณะกรรมาธิการการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ (U.S. International Trade Commission)
กำลังโหลดความคิดเห็น