xs
xsm
sm
md
lg

“โสมแดง” ส่งเจ้าหน้าที่ดูงานบริษัททุนนิยมในสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - เกาหลีเหนือส่งเจ้าหน้าที่ไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อศึกษาการทำงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น กูเกิล และ ควอลคอมม์ เป็นเวลาทั้งสิ้น 16 วัน รายงานเผยวันนี้(4)

ผู้แทนด้านเศรษฐกิจ 12 คนของรัฐบาลเปียงยางได้เดินทางจากเมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯถึงกรุงปักกิ่งวานนี้(3) หลังเสร็จสิ้นการทัศนศึกษาที่บริษัทใหญ่ๆหลายแห่ง และร่วมสัมมนากับนักวิชาการของสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ จุงอัง อิลโบ รายงาน

เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือและองค์กรสหรัฐฯซึ่งเป็นเจ้าบ้านต่างพยายามปิดข่าวการเดินทางครั้งนี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ

อย่างไรก็ตาม จุงอัง อิลโบ ได้รับสำเนาตารางเดินทาง ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือได้ไปเยือนหลายบริษัท เช่น กูเกิล, โฮม เดโป, ควอลคอมม์, ซิตีกรุป, สำนักข่าวบลูมเบิร์ก, ห้ามสรรพสินค้าบลูมมิงเดลส์ และ เซ็มปรา เอนเนอจี ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ผู้แทนจากเกาหลีเหนือยังไปเยี่ยมชม ยูนิเวอร์เซิล สตูดิโอ ในนครลอสแองเจลิสอีกด้วย

เจ้าหน้าที่เปียงยางให้ความสนใจอุตสาหกรรมอาหารเป็นพิเศษ โดยได้ไปศึกษาการดำเนินงานของฟาร์มข้าวและเห็ดในแคลิฟอร์เนีย รวมถึงบริษัทผลิตอาหาร แคลร์มิล แมนูแฟ็กเจอริง

จุงอัง รายงานว่า โครงการดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการเดินทางไปด้วยถึง 6 ราย ซึ่งรวมถึง ยอน อิล หัวหน้าคณะผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรกรรม, กระทรวงการคลัง และ กระทรวงอุตสาหกรรม

การเยือนสหรัฐฯครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศ(ไอจีซีซี)แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานดิเอโก

ผู้แทนจากเกาหลีเหนือยังได้ร่วมสัมมนาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือ, การปกป้องผู้บริโภค, นโยบายการเงิน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดย วิลเลียม เพอร์รี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และ ซิกฟรีด เฮ็กเกอร์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเคยไปเยือนโรงเสริมสมรรถนะยูเรเนียมของเกาหลีเหนือเมื่อปีที่แล้ว ก็ร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย จุงอัง เผย

จีนซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญเคยแนะนำให้กรุงเปียงยางเร่งปฏิรูปตลาดเสรี เพื่อฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าผู้นำเกาหลีเหนือคงไม่ยินดีผ่อนคลายอำนาจ แม้ประเทศจะประสบภาวะอดอยากแสนสาหัสก็ตาม

เกาหลีเหนือต้องคอยปราบปรามตลาดเอกชนที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด หลังเกิดภัยแล้งในทศวรรษที่ 1990 ซึ่งทำให้ระบบแจกจ่ายอาหารของรัฐบาลล้มเหลว
กำลังโหลดความคิดเห็น