xs
xsm
sm
md
lg

Facts: ผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีต่อร่างกายมนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังวิตกกังวลเรื่องการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ที่แพร่กระจายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ จนมีการสั่งห้ามการนำเข้า และเร่งตจรวจสอบสินค้าจากญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด หลังจากตรวจพบวัตถุนิวเคลียร์ในอาหารและน้ำในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญจากหลายฝ่ายจึงออกมาอธิบายถึงอันตรายต่อมนุษย์ และอาการจากการรับสารรังสีเหล่านั้นไว้ดังนี้
เจ้าหน้าที่ตรวจสแกนหาสารกัมมันรังสีที่อาจติดตัวมากับผู้อพยพจากพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ
ไอโอดีน 131

ผักใบเขียวหลายชนิดในญี่ปุ่นถูกตรวจพบสารรังสีไอโอดีน 131 ปริมาณ 22,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (หน่วยวัดกัมมันตภาพรังสี) ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรปถึง 11 เท่า

การรับประทานผักที่ปนเปื้อนเหล่านั้น 1 กิโลกรัม จะทำให้ร่างกายรับกัมมันตภาพรังสีเข้าไปถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณ ที่คนทั่วไปได้รับจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเป็นระยะเวลา 1 ปี

และหากรับประทานผักในปริมาณดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลา 45 วัน จะทำให้ร่างกายสะสมสารรังสีเข้าไป 50 มิลลิซีเวิร์ต (ปริมาณรังสีที่ร่างกายของมนุษย์รับเข้าไป) ซึ่งเป็นขีดสูงสุดของการรับรังสีในแต่ละปีสำหรับคนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

การรับรังสีไอโอดีน 131 จำนวน 100 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ซึ่งเทียบเท่ากับการเข้าเครื่องฉายซีทีสแกนเต็มตัว 3 ครั้ง หากสูดหรือกลืนเข้าไป จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากขึ้น ขณะที่เด็ก ทารกในครรภ์ และวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงสุด

ความเสี่ยงดังกล่าวอาจลดลงได้ด้วยการกินยาเม็ดโพแทสเซียมไอโอดีน ซึ่งจะช่วยป้องกันการดูดซึมสารรังสีไอโอดีนเข้าไปในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ไอโอดีน 131 แตกตัวได้ค่อนข้างเร็ว และมีครึ่งชีวิตทุกๆ 8 วัน ซึ่งหมายถึงว่าอันตรายจากสารรังสีนี้จะหมดไปได้ในเวลา 80 วัน
ผักใบเขียวในหลายจังหวัดใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีการปนเปื้อนแล้ว
ซีเซียม 134 และซีเซียม 137

นอกจากสารรังสีไอโอดีน 131 แล้ว ผักหลายชนิดในญี่ปุ่นก็ยังถูกพบว่ามีการปนเปื้อนของสารรังสีซีเซียมในปริมาณ 14,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินขีดจำกัดตามข้อกำหนดของอียูมากกว่า 11 เท่า

การบริโภคผัก ซึ่งปนเปื้อนสารดัวกล่าวนี้ 1 กิโลกรัมทุกวันเป็นเวลา 1 เดือนจะทำให้รับรังสีสะสมเทียบเท่ากับการเข้าเครื่องฉายซีทีสแกนแบบเต็มตัว 1 ครั้ง หรือมีปริมาณการรับรังสี 20 มิลลิซีเวิร์ต

การสัมผัสกับสารรังสีซีเซียมภายนอกเป็นจำนวนมากอาจทำให้ผิวหนังไหม้ มีอาการเจ็บป่วยจากรังสีเฉียบพลัน และเสียชีวิตได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง

การกินหรือสูดซีเซียมเข้าไปนั้นจะทำให้สารรังสีกระจายตัวในเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ และเพิ่มโอกาสเป็นโรคมะเร็ง โดยยังอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการชักกระตุก การหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และเป็นหมันได้

การป้องกันการรับสารรังสีซีเซียมนั้นไม่สามารถทำได้เหมือนรังสีไอโอดีน และสารรังสีนี้ก็ยังน่าเป็นห่วงมากกว่า เนื่องจากมีความทนทาน และใช้เวลานานในการแตกตัว

สารซีเซียม 137 นั้นมีครึ่งชีวิตถึง 30 ปี ซึ่งหมายความว่า ต้องใช้เวลานานกว่าในการลดปริมาณกัมมันตภาพรังสีลงทีละครึ่งหนึ่ง หรือาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 240 ปีกว่าที่จะการปนเปื้อนในระดับนี้จะสลายไปจนหมด

ส่วนสารซีเซียม 134 นั้นมีครึ่งชีวิต 2 ปี ซึ่งหมายถึงต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปีจึงจะไม่เป็นอันตราย
น้ำประปาในกรุงโตเกียวมีระดับการปนเปื้อนสารรังสี ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกแล้ว
สำหรับผลกระทบจากการรับรังสีเป็นปริมาณมากในระยะเวลาสั้น ตามข้อมูลของสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ จะมีอาการดังนี้

  • 50-100 มิลลิซีเวิร์ต : สารเคมีในเลือดเปลี่ยนแปลง

  • 500 มิลลิซีเวิร์ต : คลื่นไส้อาเจียนในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

  • 700 มิลลิซีเวิร์ต : อาเจียน

  • 900 มิลลิซีเวิร์ต : ท้องร่วง

  • 1,000 มิลลิซีเวิร์ต : เลือดไหลไม่หยุด

  • 4,000 มิลลิซีเวิร์ต : อาจเสียชีวิตภายใน 2 เดือน หากไม่ได้รับการรักษา

  • 10,000 มิลลิซีเวิร์ต : ผนังลำไส้ถูกทำลาย เลือดออกภายใน เสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์

  • 20,000 มิลลิซีเวิร์ต : ระบบประสาทส่วนกลางเสียหาย หมดสติภายในไม่กี่นาที และอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน


  • ทั้งนี้ ตามข้อมูลที่ได้จากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูไต้หวัน สมาคมนิวเคลียร์โลก สำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ศูนย์ความปลอดภัยด้านอาหารของฮ่องกง
    กำลังโหลดความคิดเห็น