เอเจนซี/เอเอฟพี - ความพยายามของวิศวกรและคนงานญี่ปุ่น ที่จะคลี่คลายวิกฤต ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเป็นอัมพาตภายหลังถูกถล่มด้วยแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สีนามิ ยังคงคืบหน้าไปอย่างช้าๆ เมื่อวันอังคาร(22) โดยขณะที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้างเป็นต้นว่าสามารถต่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องแล้ว แต่ก็กลับเผชิญกับอุปสรรคและความยุ่งยากใหม่ๆ ทับถมเข้ามา ดังเช่นอุณหภูมิเกิดเพิ่มสูงรอบๆ ส่วนแกนกลางที่เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่ง นอกจากนั้นบริษัทผู้ดำเนินการก็ระบุว่าจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการทำให้เตาปฏิกรณ์ทั้งหมดอยู่ในภาวะเสถียร ในอีกด้านหนึ่ง ได้เกิดความวิตกกังวลกันเพิ่มมากขึ้นในเรื่องกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกสู่บรรยากาศ ได้ไปปนเปื้อนอาหารและน้ำ เมื่อมีการตรวจพบระดับรังสีสูงกว่าปกติในน้ำทะเลใกล้ๆ โรงงาน ถึงแม้เจ้าหน้าที่ยืนยันว่ายังไม่ถึงระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ตามที
ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์(21) บรรดาช่างเทคนิคที่ทำงานอยู่ภายในพื้นที่เขตอพยพหนีภัยรอบๆ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งแปซิฟิก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือราว 250 กิโลเมตร ได้ประสบความสำเร็จในการต่อสายไฟฟ้าจากภายนอกเข้าสู่เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่อง และเริ่มเดินระบบสูบน้ำที่เตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่ง เพื่อลดอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่อยู่ในระดับร้อนจัดเกินไป
ทว่าในเวลาต่อมาได้เกิดมีควันและไอน้ำลอยออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 และหมายเลข 3 ซึ่งเป็นเครื่องที่เป็นห่วงกันว่าจะสร้างอันตรายได้มากที่สุด ดังนั้น จึงลดทอนความหวังที่จะบังเกิดความคืบหน้าในการเข้าควบคุมเตาปฏิกรณ์เหล่านี้ให้อยู่หมัดโดยรวดเร็ว
ระหว่างที่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ ได้มีการระเบิดที่ปล่อยไอน้ำออกมาหลายระลอก โดยที่พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า น่าจะมีอนุภาคของกัมมันตภาพรังสีขนาดเล็กจิ๋วถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศด้วย
ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น แถลงวันอังคารว่า ควันที่ออกจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ได้สงบลงแล้ว และที่หมายเลข 2 ก็ยังมีลอยออกมาจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
เขาไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้ แต่ ซากาเอะ มุโตะ รองประธานกรรมการบริหารของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ กล่าวเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า ขณะนี้ส่วนแกนกลางที่เป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ก็กำลังเป็นปัญหาน่าห่วง เนื่องจากมีอุณหภูมิสูงมากโดยอยู่ในระดับ 380-390 องศาเซลเซียส
“เราจำเป็นที่จะต้องพยายามทำให้มันต่ำลงมาอีกนิด” มุโตะกล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าว พร้อมกับเสริมว่า เตาปฏิกรณ์เครื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทำงาน ณ อุณหภูมิ 302 องศาเซลเซียส เขาบอกว่าการอัดฉีดน้ำเพิ่มเข้าไปเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำให้มันเย็นตัวลง
เมื่อถูกถามว่าปัญหาเตาปฏิกรณ์ที่ฟูกูชิมะ ไดอิจิ กำลังเลวร้ายลงใช่หรือไม่ มุโตะก็ตอบว่า “เราจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้น มันยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่า เตาปฏิกรณ์เหล่านี้อยู่ในภาวะเสถียรเพียงพอแล้ว”
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้กำลังเก็บเชื้อเพลิงยูเรเนียมมากเกินกว่าที่ออกแบบเตรียมเอาไว้ในตอนแรก และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทก็มักไม่สามารถทำตามมาตรการความปลอดภัยตามที่กำหนด ทั้งนี้เป็นข้อสรุปภายหลังการตรวจสอบเอกสารของเท็ปโก้ ตลอดจนความเห็นของพวกผู้เชี่ยวชาญภายนอก
นอกจากนั้นพวกผู้เชี่ยวชาญภายนอกยังตั้งคำถามว่า ทางเจ้าหน้าที่ของเท็ปโกปล่อยเวลาให้เนิ่นนานเกินไปหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจสูบน้ำทะเลเข้าไปทำให้เตาปฏิกรณ์ที่อุณหภูมิร้อนจัดได้เย็นตัวลงมา ทั้งนี้การใช้น้ำทะเลย่อมทำให้หมดหวังที่จะรักษาอุปกรณ์เหล่านี้ให้สามารถใช้งานได้ต่อไปในอนาคต
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง คือ เพอร์ ไบสเต็ดต์ นักวิเคราะห์แห่งองค์การป้องกันการแผ่รังสีสวีเดน ที่ให้ความเห็นว่า ควันหรือไอน้ำที่เห็นลอยออกมาจากเตาปฏิกรณ์ในช่วงไม่กี่วันหลังๆ มานี้ ดูจะไม่ได้หมายความว่าระดับรังสีกำลังเพิ่มสูงขึ้น
“เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ถือว่ามีความคืบหน้า ถ้าเปรียบเทียบกับระยะสองสามวันก่อน ซึ่งเป็นตอนที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูหมดหวังไปหมด แต่กระนั้น เราก็ยังต้องวินิจฉัยว่าสถานการณ์เวลานี้ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤตอย่างยิ่ง” เขากล่าว
**หวั่นผวารังสีปนเปื้อนอาหารและน้ำ**
ห่างออกไปจากบริเวณโรงงาน กำลังมีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆว่า มีกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนอยู่ในผัก น้ำ และนม ตามพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง ทำให้เกิดความหวั่นผวาทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศ ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่จะได้ออกมาให้ความมั่นใจว่า ระดับรังสีที่ตรวจพบยังไม่ได้เป็นอันตรายอะไร
เท็ปโกแถลงวานนี้ว่า พบน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้ามีระดับรังสีสูงกว่าปกติ แต่บริษัทอธิบายว่าเรื่องนี้ไม่น่าประหลาดใจอะไร ในเมื่อมีทั้งฝนตก และมีทั้งการใช้น้ำทะเลเพื่อฉีดรดเตาปฏิกรณ์ที่ร้อนจัด เจ้าหน้าที่เท็ปโกหลายคนบอกด้วยว่า น้ำที่ออกจากสายฉีดส่วนหนึ่งได้ไหลกลับลงทะเลด้วย
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ตัวอย่างน้ำทะเลที่นำมาตรวจสอบนั้น พบไอโอดีนปนเปื้อนรังสีในปริมาณสูงเป็น 126.7 เท่าของขีดจำกัดที่อนุญาตให้มีได้ ขณะเดียวกันก็มีซีเซียมเป็น 24.8 เท่าของขีดจำกัดที่กำหนดไว้ แต่เท็ปโกยืนยันว่า ระดับรังสีขนาดนี้ยังจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายในทันที
“คุณจะต้องดื่มน้ำนี้ไปตลอดทั้ง 1 ปีเต็มๆ ทีเดียว ร่างกายของคุณจึงจะมีรังสีสะสมถึงขีด 1 มิลลิซีเวิร์ต” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของเท็ปโกกล่าว ทั้งนี้คนทั่วไปจะได้รับรังสีประมาณ 1-10 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ในสภาพแวดล้อมที่ต้องรับรังสีจากอากาศและพื้นดินปกติ
ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเตือนประชาชนใน 5 เขตเทศบาลของจังหวัดฟูกูชิมะว่า ไม่ควรใช้น้ำประปาในการชงนมผงเลี้ยงทารก ภายหลังตรวจพบน้ำประปามีไอโออีนเปื้อนรังสีเกินกว่าระดับมาตรฐานที่อนุญาตสำหรับเด็กอ่อน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รับผิดชอบยังได้สั่งห้ามการขนย้ายนมและผักบางชนิดออกจากเขตดังกล่าวด้วย
ขณะเดียวกันสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ตรวจพบสารกัมมันตรังสี ในผักบร็อคโคลี่ สูงกว่าข้อกำหนดของทางการ ในเมืองฟุกุชิม่า และตรวจพบสารกัมมันตรังสี ในน้ำนมดิบ สูงกว่าข้อกำหนดของทางการ ในเมืองอิบารากิ
ถึงแม้มีการเตือนภัยเช่นนี้ แต่พวกผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันว่า ระดับรังสีที่ปรากฏออกมายังห่างไกลนักจากบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงในปี 1986