เอเอฟพี / เอเจนซี - กองทัพพันธมิตรตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ, ฝรั่งเศส และอังกฤษเปิดฉากโจมตีทางอากาศและทางเรือใส่ลิเบียอย่างหนักหน่วงด้วยจรวดนำวิถีและระเบิดนับร้อยๆ ลูกวันนี้ (20) เพียง 2 วันหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติบังคับให้น่านฟ้าลิเบียเป็นเขตห้ามบิน และกดดันให้ผู้นำมูอัมมาร์ กัดดาฟีหยุดยิงและก้าวลงจากอำนาจทันที อย่างไรก็ตาม กัดดาฟี ออกมาประณามชาติตะวันตกว่า “เป็นผู้รุกรานที่ก้าวร้าว” และประกาศกร้าวว่าจะล้างแค้นอย่างแน่นอน โดยสื่อทางการลิเบียยังรายงานอ้างด้วยว่า การโจมตีระลอกดังกล่าวของชาติพันธมิตรคร่าชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ไปแล้วเกือบ 50 ราย
กองเรือรบพร้อมด้วยเรือดำน้ำของสหรัฐฯ และอังกฤษได้ระดมยิงจรวดนำวิถี “โทมาฮอว์ก บีจีเอ็ม-109” จำนวน 124 ลูกโจมตีใส่ระบบป้องกันทางอากาศของกองทัพลิเบียซึ่งติดตั้งอยู่รายล้อมกรุงตริโปลีและเมืองมิสราตาวันนี้ (20) โดยเจ้าหน้าที่วอชิงตันระบุว่า ปฏิบัติการคราวนี้ใช้ชื่อรหัสว่า “โอดิซซี ดอว์น” ซึ่งทางกองทัพและเครื่องบินของตนได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ, ฝรั่งเศส, แคนาดา และอิตาลี ขณะที่พล.ร.ท. วิลเลียม กอร์ตนีย์ ผู้อำนวยการสำนักเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ให้ข้อมูลกับรอยเตอร์จากในเพนตากอน ระบุว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มต้น ณ เวลา 21.00น. ของวันเสาร์ (19) ตามเวลาท้องถิ่น (02.00 น.วันนี้ตามเวลาเมืองไทย) โดยที่เป้าหมายการยิงของโทมาฮอว์กได้เล็งไปที่ระบบป้องกันทางอากาศแบบบูรณาการและอุปกรณ์ฐานยิงจรวดต่อสู้อากาศยานบนชายฝั่งรวมแล้วมากกว่า 20 แห่ง
รายงานข่าวระบุว่า เรือพิฆาตและเรือดำน้ำของทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษที่เข้าร่วมปฏิบัติการในเขตน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนครั้งนี้ประกอบด้วย เรือพิฆาตติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธของสหรัฐฯ 2 ลำซึ่งได้แก่ ยูเอสเอส สเตาต์ และยูเอสเอส แบร์รี พร้อมด้วยเรือดำน้ำอีก 3 ลำ ประกอบด้วย ยูเอสเอส โปรวิเดนซ์, ยูเอสเอส สแครนตัน และยูเอสเอส ฟลอริดา ส่วนอังกฤษ ส่งเรือดำน้ำตราฟัลการ์ รวมทั้งเรือฟรีเกตอีก 2 ลำ อย่าง เอชเอ็มเอส คัมเบอร์แลนด์ และเอชเอ็มเอส เวสต์มินสเตอร์ มาเข้าร่วมในน่านน้ำดังกล่าว
โทรทัศน์ซีบีเอสนิวส์ รายงานบนเว็บไซต์วันนี้ว่า กองทัพพญาอินทรียังได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด (บอมบ์เบอร์) บี-2 ที่มีเทคโนโลยีล่องหนจากจอเรดาห์ (สเตลต์) 3 ลำ บินทิ้งระเบิดปูพรม 40 ลูกลงบนลานบินสำคัญของลิเบียอีกด้วย ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันในภายหลังโดยเคนเนธ ฟิดเลอร์ โฆษกกองบัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในแอฟริกาซึ่งตั้งอยู่ในเยอรมนี ฟิดเลอร์ยังเปิดเผยด้วยว่า ช่วงเช้าตรู่ของวันเดียวกัน สหรัฐฯ ยังได้ส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ-15 “อีเกิล” และ เอฟ-16 “ฟัลคอน” ออกปฏิบัติการยิงทำลายระบบป้องกันทางอากาศของกัดดาฟีด้วย
นอกเหนือจากกองเรือรบแล้ว อีกด้านหนึ่ง อังกฤษยังส่งฝูงบินขับไล่กึ่งโจมตี “ทอร์นาโด” จากฐานทัพในภาคตะวันออกของประเทศ บินบอมบ์ทางอากาศใส่เป้าหมายภาคพื้นดินด้วยขีปนาวุธสตอร์ม แชโดว์ ก่อนที่ฝูงบินนี้จะบินกลับฐานด้วยระยะทางบินทั้งสิ้น 4,800 กิโลเมตร โดยรัฐมนตรีกลาโหมเลียม ฟอกซ์ ของอังกฤษ ระบุว่า การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ถือว่ามีระยะปฏิบัติการไกลที่สุดของกองทัพรอยัล แอร์ฟอร์ซของอังกฤษ (อาร์เอเอฟ) นับตั้งแต่สงครามฟอล์กแลนด์ที่ทำกับอาร์เจนตินาในปี 1982
ไม่เพียงเท่านี้เครื่องบินขับไล่ทอร์นาโดและไต้ฝุ่นอีกจำนวนหนึ่งยังได้บินไปประจำการยังฐานทัพใกล้กับลิเบียเพื่อรอสแตนบายคำสั่งเข้าร่วมในปฏิบัติการซึ่งเจ้าหน้าที่อังกฤษระบุรหัสว่า “โอเปอเรชัน เอลลามี” อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง เครื่องบินรบของกองทัพฝรั่งเศสได้เปิดฉากโจมตีใส่ขบวนรถถังและยานหุ้มเกราะของกองกำลังกัดดาฟีในเมืองเบงกาซีซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏในช่วงค่ำเวลา 18.45 น. วันเสาร์ (19) ตามเวลาท้องถิ่น (23.45 น.ตามเวลาเมืองไทย) ซึ่งนับเป็นการแทรกแซงโลกอาหรับด้วยกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุดของแดนน้ำหอมนับตั้งแต่ที่เข้าร่วมสู้รบในสมรภูมิโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนในอิรักเมื่อปี 2003
เจ้าหน้าที่กลาโหมฝรั่งเศส ยังระบุด้วยว่า ทางกองทัพได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินชาร์ลส์ เดอ โกลล์ ออกจากท่าตูลองในเวลา 19.00 น. เมื่อวันนี้ (เวลาเมืองไทย) เพื่อมาร่วมภารกิจคราวนี้ด้วย โดยเรือดังกล่าวมีกำหนดจะเดินทางถึงน่านน้ำใกล้กับชายฝั่งลิเบียภายใน 36-48 ชั่วโมงข้างหน้านี้
เจ้าหน้าที่คนเดิมระบุว่า บนเรือบรรทุกเครื่องบินชาร์ลส์ เดอ โกลล์ จะมีเครื่องบินรบประจำการรวม 20 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์อย่าง ราฟาล และซูเปอร์ เอตองดาร์ด รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์สงครามอีกหลายลำ และเครื่องบินตรวจตรา อี-2 ฮอว์กอาย อีกด้วย นอกจากนี้เรือบรรทุกเครื่องบินดังกล่าว ในยามปกติจะมีกองเรือรบเคลื่อนที่เร็วคอยคุ้มกันอยู่ ซึ่งประกอบด้วย เรือพิฆาตต่อสู้เรือดำน้ำ “ดูเปลกซ์”, เรือต่อสู้อากาศยาน “ฟอร์คแบง”, เรือรบสเตลต์หลากบทบาท “อาโกนี”, เรือบรรทุกน้ำมัน “ลา เมิร์ส” และเรือดำน้ำโจมตีด้วยหัวรบนิวเคลียร์ อีกลำหนึ่ง
หลังการโจมตี พล.ร.อ.ไมเคิล มุลเลน ประธานเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ระบุว่า ปฏิบัติการของนานาชาติเบื้องต้นในการบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบียประสบความสำเร็จ และก็ทำให้กองกำลังกัดดาฟีไม่สามารถรุกคืบในเมืองเบงกาซีต่อไปได้
ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้ผ่านมติที่ 1973 เมื่อวันพฤหัสบดี (17) ที่ผ่านมา โดยเปิดทางให้นานาชาติสามารถใช้มาตรการที่จำเป็นทุกรูปแบบกับระบอบกัดดาฟีได้ เพื่อปกป้องชีวิตพลเรือนลิเบีย นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กัดดาฟีหยุดยิง ตลอดจนประกาศบังคับกฎ “โนฟลายโซน” ในน่านฟ้ารัฐอาหรับแห่งนี้ด้วย
การโจมตีลิเบียทางอากาศ และเรือ โดยชาติพันธมิตรตะวันตกเริ่มต้นขึ้น หลังจากการประชุมหารือของบรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจตะวันตกและรัฐอาหรับที่กรุงปารีส โดยที่ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีของฝรั่งเศส ระบุว่า ประเทศที่เข้าร่วมประชุมนั้นต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะใช้มาตรการจำเป็นต่างๆ เพื่อบังคับให้ทุกสิ่งเป็นไปตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการกดดันให้กัดดาฟียุติการเข่นฆ่าพลเรือนของตนทันที
ด้าน ผู้นำกัดดาฟี ได้แถลงสั้นๆ ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติวันนี้ ประณามพฤติการณ์ของชาติตะวันตกว่า “ป่าเถื่อน และเป็นความก้าวร้าวของนักรบครูเสดที่ไร้ความชอบธรรม” พร้อมลั่นวาจาว่าจะแก้แค้นด้วยการโจมตีทั้งทหารและพลเรือนบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งขณะนี้กลายสภาพเป็น “สมรภูมิ” ไปแล้วอย่างแท้จริง
“บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดคลังสรรพาวุธ และติดอาวุธให้แก่ชาวลิเบียทุกคนด้วยยุทโธปกรณ์ทุกรูปแบบเพื่อปกป้องเอกราช, เอกภาพ และเกียรติภูมิของลิเบีย” กัดดาฟีกล่าว
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทางการของลิเบียรายงานว่า เครื่องบินของชาติตะวันตกได้บอมบ์ใส่เป้าหมายที่เป็นพลเรือนในกรุงตริโปลีเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 48 ราย และบาดเจ็บอีก 150 คน ซึ่งจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก โดยโทรทัศน์ดังกล่าวยังได้แพร่ภาพโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ไม่ได้ระบุชื่อ พร้อมกับศพของผู้เสียชีวิตรวม 10 ร่าง ซึ่งทางการลิเบียระบุว่าเป็น “เหยื่อสังเวยศัตรูนักล่าอาณานิคม” ขณะที่โฆษกของกองทัพลิเบียระบุว่า เครื่องบินได้จู่โจมใส่ถังเชื้อเพลิงหลายถังซึ่งส่งลำเลียงไปหล่อเลี้ยงเมืองมิสราตา ทางตะวันออกของตริโปลี
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศของลิเบีย ก็แถลงประณามว่า การโจมตีลิเบีย “ถือเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ”
นอกจากนี้ กระทรวงดังกล่าว ยังแถลงว่า “ลิเบียขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เปิดการประชุมโดยเร่งด่วน หลังจากฝรั่งเศส, สหรัฐฯ และอังกฤษ ได้รุกรานลิเบีย ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐเอกราชและเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ”
กระทรวงระบุว่า ในเมื่อชาติตะวันตกโจมตีลิเบีย (ทางอากาศ) ด้วยเหตุนี้ “ผลของมติยูเอ็นเอสซีที่ 1973 ซึ่งบังคับเขตห้ามบินในน่านฟ้าลิเบียนั้นจึงถือเป็นอันสิ้นสุดลงแล้ว”
ระบอบกัดดาฟีบอกว่าพวกเขาได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายกบฎตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (18) แต่ก็ไม่วายถูกโจมตีในเขตตะวันตกของเบงกาซีโดยเครื่องบินของฝ่ายกบฏเมื่อวันเสาร์ จนพวกเขาต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตัว อย่างไรก็ตามพวกฝ่ายค้านซึ่งพยายามจะล้มล้างระบอบกัดดาฟีมาเป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน ระบุว่า กองกำลังของรัฐบาลยังคงบุกยิงกระหน่ำใส่หลายเมืองของพวกตนต่อไป โดยที่ฝ่าฝืนคำประกาศหยุดยิงอย่างต่อเนื่อง
ด้านความเคลื่อนไหวของผู้นำชาติตะวันตก นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ กล่าวกับบรรดาผู้สื่อข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมที่ปารีส ระบุว่า “พันเอก กัดดาฟี เป็นผู้ก่อเรื่องนี้ขึ้น”
“พวกเราไม่อาจปล่อยให้การสังหารหมู่ประชาชนดำเนินต่อไปได้อีก” คาเมรอน บอก
ขณะที่นายกรัฐมนตรีสตีเฟน ฮาร์เปอร์ ของแคนาดา ระบุว่า พวกเขาหวังว่าการใช้กำลังเข้าแทรกแซงคราวนี้จะสามารถช่วยพลิกสถานการณ์ให้แก่ฝ่ายกบฏได้บ้าง และเปิดทางให้ชาวลิเบียได้ขับไล่ผู้นำกัดดาฟีให้พ้นไป
ส่วนประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างเยือนบราซิล ก็ประกาศชัดว่า ปฏิบัติการ “โอดิซซี ดอว์น” นี้ จะไม่มีการส่งทหารราบเข้าไปในลิเบียอย่างแน่นอน โดยเน้นย้ำด้วยว่า เป็นปฏิบัติการทางทหารในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น
นอกจากนี้ในระหว่างที่โอบามาแถลงยืนยันการโจมตีลิเบียด้วยโทมาฮอว์กซึ่งตรงกับวันที่กองทัพสหรัฐฯ ยกพลบุกอิรักเมื่อปี 2003 ด้วยนั้น ผู้นำทำเนียบขาว กล่าวว่า การโจมตีคราวนี้เพื่อปกป้องชีวิตประชาชนลิเบีย
อย่างไรก็ตามจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็น 2 ใน 5 สมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ต่างออกมาแสดงความเศร้าสลดระคนผิดหวังจากเหตุการณ์ที่ชาติตะวันตกใช้กำลังทางทหารกับลิเบียครั้งนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศแดนมังกร ระบุว่า จีนหวังว่า ความขัดแย้งที่บังเกิดขึ้นนี้จะไม่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของพลเรือนลิเบียเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่พวกนักวิเคราะห์พากันตั้งคำถามเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การแทรกแซงทางทหารคราวนี้ โดยที่ต่างก็หวั่นเกรงว่าทหารของชาติตะวันตกจะตกลงไปอยู่ในห้วงแห่งสงครามกลางเมืองอันยีดเยื้อไม่รู้จบ แม้ว่าสหรัฐฯ จะออกมายืนกรานหนักแน่นตั้งแต่วันเสาร์ (19) ว่าจะไม่มีการส่งทหารราบเข้าไปในลิเบียดังเช่นสงครามกับอิรักและอัฟกานิสถานอย่างแน่นอน
นอกจากนี้นักวิเคราะห์ยังเคลือบแคลงด้วยว่า มหาอำนาจตะวันตกจะทำอะไรต่อไปหากกัดดาฟียังคงดึงดันไม่ลงจากอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อจนถึงบัดนี้พวกนักวิเคราะห์เองก็ยังไม่เชื่อว่าทุกฝ่ายจะพึงพอใจต่อสภาพการณ์ที่ลิเบียถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนในทางพฤตินัยเช่นนี้ โดยที่ฝั่งตะวันออกเป็นของพวกกบฏ ขณะที่กัดดาฟีปกครองฟากตะวันตก
ก่อนหน้านี้หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุมที่ปารีส กล่าวว่า รัฐมนตรีการต่างประเทศฮิลลารี คลินตันของสหรัฐฯ พร้อมเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ต่างย้ำชัดว่าประเทศลิเบียไม่ควรถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน