xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอินเดียตัดสินใช้ “การุณยฆาต” ช่วยผู้ป่วยใกล้ตาย “พ้นทุกข์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อรุนา ชันบัก นางพยาบาลอินเดีย ผู้ถูกข่มขืน จนตกอยู่ในสภาพผักถาวรมากว่า 35 ปี
เอเอฟพี - ศาลสูงสุดอินเดียพิพากษาคดีเกี่ยวกับวงการแพทย์ครั้งสำคัญ วันนี้ (7) โดยอนุญาตให้แพทย์สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจจากตัวผู้ป่วยใกล้ตายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย คำตัดสินดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ทางการยอมให้ใช้วิธี “การุณยฆาตโดยตัดการรักษา”

คำตัดสินนี้มีขึ้นระหว่างพิจารณาคดี อดีตนางพยาบาล อรุนา ชันบัก ซึ่งตกอยู่ในสภาพผักถาวร ในโรงพยาบาลมุมไบ หลังจากถูกข่มขืน และรัดคอด้วยสายโซ่ เมื่อ 37 ปีที่แล้ว อนึ่ง สภาพผักถาวร คือ ภาวะที่สมองของผู้ป่วยได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถรับรู้เรื่องราว หรือตอบสนองใดๆ ได้ และมีเพียงปฏิกริยาอัตโนมัติเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ ศาลสูงสุดอินเดียเคยปฏิเสธคำร้องของ ปินกี วิรานี นักสื่อสารมวลชน ผู้เป็นเพื่อนของ อรุนา ที่ต้องการให้หยุดยื้อชีวิตที่ไร้ความรู้สึกของ อรุนา โดยศาลให้ด้วยเหตุผลว่า วิรานีไม่สามารถยื่นคำร้องแทนผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์และพยาบาลก็สามารถยื่นเรื่องยกเลิกการใช้เครื่องช่วยหายใจกับเธอ โดยมีเงื่อนไขว่าคำร้องดังกล่าวต้องได้รับการพิจารณาจากศาลศาลสูงสุด ซึ่งมีการพิพากษาวันนี้

“การุณยฆาตโดยเร่งให้ตาย (Active euthanasia) เป็นเรื่องผิดกฎหมาย” ศาลสูงสุดตัดสิน โดยอ้างถึงกระบวนการจบชีวิตของคนไข้ด้วยวิธีทางการแพทย์ “การุณยฆาตโดยตัดการรักษา (passive euthanasia) สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของศาลสูง”

อรุนา ชันบัก ตกอยู่ในสภาพผักถาวร และตาบอด ข้อมูลจากคณะแพทย์ ซึ่งตรวจดูอาการของเธอตามขั้นตอนการพิจารณาคดี ระบุ

เธอต้องทนรับอาหารบดและการดูแลจากคณะแพทย์มานานกว่า 35 ปี เพื่อนๆ ของ อรุนา เล่าว่า ตอนนี้เธออยู่ในอาการสงบเป็นส่วนมาก แม้ก่อนหน้านี้ เธอมักกรีดร้อง และตะโกนโหวกเหวก ทั้งที่อยู่ในภาวะผัก อาการคลุ้มคลั่งดังกล่าวค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลา

คนร้ายที่ก่อเหตุข่มขืนเธอ เป็นพนักงานในโรงพยาบาล คิง เอดเวิร์ด เมมโมเรียล ที่เธอทำงานอยู่เมื่อ 37 ปีที่แล้ว เขาได้รับการปล่อยตัว หลังรับโทษจำคุก 7 ปี

ทนาย ที.อาร์.อันธญารุจินะ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของศาลสูงสุดในคดีนี้ ให้ข้อมูลกับเอเอฟพีว่า คำตัดสินดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ดำเนินการการุณยฆาต “ศาลยอมรับการถอดเครื่องช่วยหายใจ แต่ไม่อนุญาตให้ฉีดสารพิษใดๆ เข้าร่างกายคนไข้” เขาอธิบาย ทั้งนี้ กฎหมายอินเดียไม่ยินยอมให้กระทำการรุณยฆาต หรือ อดอาหารเพื่อให้เสียชีวิต

กฎหมายการุณยฆาต หรือ การสงเคราะห์ให้คนไข้พ้นทุกข์ แพร่หลายในนานาประเทศทั่วโลก โดยในยุโรป ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และ เบลเยียม ได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวภายใต้การควบคุมที่เข้มงวด ขณะที่ สวิตเซอร์แลนด์ แพทย์สามารถจัดหายาสำหรับปลิดชีพให้กับคนไข้ ซึ่งคนไข้ต้องฉีดยาดังกล่าวด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน เมื่อปี 1994 รัฐออริกอน ของสหรัฐฯ กลายเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฎหมายการุณยฆาตสำหรับผู้ป่วยใกล้ตาย ตั้งแต่นั้นมา มีชาวออริกอนมากกว่า 500 รายที่เลือกจบชีวิตตนเองด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น