xs
xsm
sm
md
lg

ระบอบ “กัดดาฟี” ใกล้ถึงจุดจบ UN คว่ำบาตร-กบฏยึดเกือบทั้งประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซูซาน ไรซ์ (ซ้าย) ทูตใหญ่สหรัฐฯ ประจำยูเอ็นหารือกับ บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ
เอเอฟพี / เอเจนซี - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) มีมติคว่ำบาตรผู้นำมูอัมมาร์ กัดดาฟีของลิเบียและพวกพ้องด้วยการอายัดทรัพย์สิน รวมทั้งห้ามขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่รัฐอาหรับดังกล่าว นอกจากนี้ยังจะนำกรณีสังหารหมู่พลเรือนจากเหตุลุกฮือคราวนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนของศาลอาญาระหว่างประเทศเพื่อเอาผิดกับอาชญากรสงครามทุกคนอีกด้วย ขณะเดียวกัน ระบอบกฎเหล็กอันยาวนานกว่า 4 ทศวรรษของกัดดาฟีก็ใกล้จะถึงกาลอวสานเข้าไปทุกทีๆ เมื่อทหารและตำรวจในพื้นที่บางส่วนของกรุงตริโปลีได้แปรพักตร์ไปเข้ากับกลุ่มฝ่ายค้าน และกลุ่มกบฎก็ยกกำลังรุดยึดครองเกือบทั้งประเทศลิเบียได้แล้ว

ยูเอ็นเอสซี ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิกถาวรและหมุนเวียนรวม 15 ประเทศ มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ (26) ตามเวลาในนิวยอร์ก ให้ลงโทษด้วยการอายัดทรัพย์สินประธานาธิบดีกัดดาฟี พร้อมด้วยครอบครัวอันประกอบด้วยบุตรชายทั้ง 4 และบุตรสาว 1 คน รวมถึงผู้ช่วยคนสนิทของเขา ซึ่งได้แก่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านกลาโหมและการข่าวกรองที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการสังหารหมู่พลเรือนไปมากกว่า 1,000 ราย ตามที่ยูเอ็นระบุ นอกจากนี้คณะมนตรีความมั่นคงยังสั่งห้ามการขนส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปยังลิเบีย ตลอดจนกำหนดให้ประเทศดังกล่าวเป็นเขตห้ามการท่องเที่ยว ยิ่งไปกว่านั้นทางยูเอ็นเอสซียังได้นำเหตุการณ์ปราบปรามผู้ประท้วงนองเลือดในลิเบียคราวนี้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย โดยคณะมนตรีฯ ระบุว่า การสังหารพลเรือนในลิเบียเป็นไปในวงกว้างและเป็นระบบซึ่งถือเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

ซูซาน ไรซ์ ทูตใหญ่สหรัฐฯ ประจำยูเอ็น ระบุว่า บุคคลซึ่งถูกสั่งยึดทรัพย์สินทั้งหมดในต่างแดนนั้นมีอยู่ทั้งสิ้น 16 คน ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่พลเรือนลิเบียทั้งหมดก็จะต้องถูกดำเนินคดีและรับโทษทัณฑ์เป็นรายบุคคล

ก่อนหน้าการลงมติของยูเอ็นเอสซีเพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำเนียบขาวได้แถลงว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กดดันให้กัดดาฟี ต้องก้าวลงจากเก้าอี้ตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งนับเป็นท่าทีต่อกัดดาฟีที่ชัดเจนและแข็งกร้าวที่สุดของโอบามา

“หากผู้นำประเทศคนหนึ่งเพียงต้องการแค่จะรักษาอำนาจเอาไว้ ถึงกับใช้ความรุนแรงกับประชาชนของตน เช่นนั้นเขาก็ถือว่าขาดความชอบธรรมในการปกครองประเทศแล้ว และเขาก็จำเป็นจะต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศของเขาด้วยการลาออกเดี๋ยวนี้” โอบามากล่าวในสายกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี

ด้านสถานการณ์ในลิเบียล่าสุด มุสตาฟา อับเดล จัลอิล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งเพื่อประท้วงรัฐบาล ก็ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลชุดเฉพาะกาลขึ้นเพื่อแทนที่ระบอบของกัดดาฟีที่กำลังสูญเสียอำนาจปกครองลงทุกขณะ หลังจากกรุงตริโปลีซึ่งเป็นฐานที่มั่นและบัญชาการของกัดดาฟี ก็มีบางส่วนเริ่มตกอยู่ในความควบคุมของฝ่ายค้านแล้ว โดยมีรายงานว่าทหารและตำรวจได้ทิ้งอาวุธ หรือไม่ก็หันไปเข้าร่วมกับกลุ่มกบฏโค่นล้มระบอบ ในการนี้จัลอิล ระบุด้วยว่า คณะรัฐบาลชั่วคราวนี้จะประกอบด้วยบรรดาผู้บัญชาการทหารซึ่งส่วนใหญ่ได้แปรพักตร์มาอยู่กับกลุ่มฝ่ายค้าน นอกจากนี้เขายังให้คำมั่นด้วยว่าจะปูทางสู่การจัดการเลือกตั้งที่มีเสรีภาพและยุติธรรมภายในสามเดือนข้างหน้านี้

“รัฐบาลแห่งชาติของพวกเรามีทั้งกองกำลังทหารและพลเรือน รัฐบาลชุดนี้จะนำพาประเทศไม่เกิน 3 เดือน และหลังจากนั้นก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมขึ้น และประชาชนก็จะได้เลือกผู้นำของพวกเขา” อับเดล จัลอิล กล่าวกับผู้สื่อข่าวในเมืองอัล-ไบดา ทางตะวันออกของลิเบีย อันเป็นเมืองฐานที่มั่นสำคัญของกลุ่มฝ่ายค้านล้มล้างระบอบ

ทั้งนี้ กลุ่มกบฏติดอาวุธซึ่งประกอบด้วยนักรบยุวชนและทหารแปรพักตร์ได้ยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้วไล่ตั้งแต่เมืองสำคัญๆ อย่างเบงกาซี, มิสราตา และอัลไบดา เป็นต้น ขณะที่กองกำลังผู้ภักดีต่อกัดดาฟีซึ่งตอนนี้ครอบครองอาณาเขตดินแดนหดแคบลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่พื้นที่บางส่วนด้านตะวันตกรอบๆ เมืองหลวง และเขตป้อมปราการในพื้นที่แห้งแล้งทางภาคใต้ ยังคงดาหน้ายิงใส่ประชาชนไม่เลือกหน้าหลังได้รับคำสั่งให้ยิงใครก็ตามที่พบเห็น โดยที่ชาวบ้านในตริโปลีหลายคนยังบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มีขบวนรถถังและยานหุ้มเกราะของฝ่ายกัดดาฟีออกลาดตระเวนตามถนนที่อยู่ในสภาพรกร้างหลายเส้นทาง แม้ว่าอีกด้านหนึ่งจะพยายามป่าวประกาศผ่านทางโทรทัศน์ทางการให้ประชาชนยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลในเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงและรับมอบเงินช่วยเหลือค่าอาหารอันเป็นความพยายามหนึ่งที่จะลดความเดือดดาลของชาวบ้านลง

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะเป็นใจให้แก่กลุ่มฝ่ายค้าน และกัดดาฟีก็มีแนวโน้มสูงที่จะสูญเสียอำนาจปกครองประเทศทั้งหมดในอีกไม่ช้านี้ ทว่า นานาชาติก็ยังไม่ละทิ้งความพยายามที่จะหารือกันถึงการใช้กำลังทหารเข้ามาช่วยปลดปล่อยประชาชนลิเบีย แต่กระนั้น การสนทนาในหัวข้อนี้ก็ยังคงคลุมเคลือไม่คืบหน้า เนื่องจากพวกเขายังไม่อาจคาดคะเนได้ว่ากองกำลังผู้ภักดีต่อกัดดาฟีราวหลายหมื่นคน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชนเผ่าและทหารหลายหน่วยที่บัญชาการโดยบุตรชายของกัดดาฟีนั้น จะต่อสู้ยืดเยื้อไปได้อีกนานเท่าใด

สำหรับท่าทีของนานาชาติ รัสเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง เป็นประเทศล่าสุดที่ออกมาประณามและกดดันกัดดาฟี โดยรัฐมนตรีการต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ได้บอกกับมูซา คูซา รัฐมนตรีการต่างประเทศลิเบียว่า มอสโกรับไม่ได้ที่ทางการลิเบียใช้กำลังปราบปรามพลเรือนอย่างรุนแรง ขณะที่แคทเธอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงด้านวิเทศสัมพันธ์และความมั่นคงแห่งสหภาพยุโรป เตือนกัดดาฟี ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา รวมทั้งเรียกร้องให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น