เอเอฟพี - สตรีญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องศาลวันนี้ (14) เพื่อคัดค้านกฎหมายฉบับศตวรรษที่ 19 ซึ่งบังคับให้ภรรยาแทบทุกคนต้องใช้ชื่อสกุลของสามี หลังจากแต่งงาน
คดีซึ่งเป็นที่จับตามองนี้ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงกรุงโตเกียว และเป็นเสมือนบททดสอบประเด็นสิทธิสตรีในญี่ปุ่น โดยสตรีกลุ่มนี้พยายามต่อสู้เรื่อยมาทั้งเรื่อง ลักษณะเฉพาะทางเพศ สิทธิเสรีภาพทางการมือง และการให้ความร่วมมือในที่ประชุม
ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นบัญญัติไว้ ว่า คู่แต่งงานจะต้องใช้นามสกุลร่วมกัน ซึ่งในทางปฏิบัติมักเป็นฝ่ายภรรยาที่ต้องใช้ชื่อสกุลของสามี เว้นแต่ว่าฝ่ายชายจะยอมเปลี่ยนนามสกุลตามฝ่ายหญิงในกรณีที่ฝ่ายหญิงมาจากตระกูลที่มีชื่อเสียง
ฝ่ายโจทก์ประกอบด้วย สตรี 4 คน และสามีของหนึ่งในพวกเธออีกหนึ่งคน ฟ้องร้องต่อศาล ว่า มาตราในกฏหมายแพ่งฉบับดังกล่าว ซึ่งย้อนหลังไปถึงปี 1898 นั้น ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งว่าด้วยการรับรองสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างคู่สามี-ภรรยา
ทนายฝ่ายโจทก์ ระบุ ว่า ผู้ฟ้องร้องต้องการเงินชดเชยความเสียหายทางจิตใจจำนวน 6 ล้านเยน (ประมาณ 2.2 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าจำนวนเดิมที่ทางกลุ่มเคยเรียกร้องก่อนหน้านี้
ความหวังในการแก้กฎหมายมาตราดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น หลังจากพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) ขึ้นครองอำนาจรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน 2009 นับเป็นการสิ้นสุดยุคปกครองของพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม ทำให้มีความพยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทันที
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวกลับโรยราลงไปพร้อมความหวัง เนื่องจากพรรคพีเพิลส์ นิว ปาร์ตี ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็ก ได้คัดค้านเรื่องนี้หัวชนฝา โดยจุดยืนดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มนักการเมืองสายอนุรักษนิยมในญี่ปุ่น
อนึ่ง ความคิดเห็นของคนญี่ปุ่นแบ่งฝักเป็นฝ่ายตามประเด็นร้อนด้านสิทธิสตรีดังกล่าว จากการสำรวจของรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า มีชาวญี่ปุ่นจำนวน 37 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตราดังกล่าว และมีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวน 35 เปอร์เซ็นต์