เอเอฟพี - สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราการยิงตัวตายสูงที่สุดในยุโรป ลงประชามติวันนี้ (13) ประเด็นจะยกเลิกธรรมเนียมการครอบครองอาวุธปืนของประชาชนในครัวเรือนหรือไม่
ประชามติดังกล่าวมีองค์กรอิสระภายในสวิตเซอร์แลนด์เป็นตัวตั้งตัวตี โดยฝ่ายโบสถ์ และพรรคการเมืองซ้ายกลางต้องการให้อาวุธปืนเก็บอยู่คลังแสงมากกว่าจะให้ทหารพกพาไปไหนมาไหนในที่สาธารณะ
การลงมติมหาชนนี้พยายามยกเลิกธรรมเนียมที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารนำอาวุธสงครามของกองทัพกลับบ้านได้ แม้ทหารเหล่านั้นจะปลดประจำการไปแล้วก็ตาม ครั้งหนึ่ง ธรรมเนียมดังกล่าวเคยเป็นหนึ่งในมาตรการด้านความมั่นคงของสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการคุกคามในหมู่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย
ข้อมูลของทางการสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า มีอาวุธปืนราว 2 ล้านกระบอกอยู่ในการครอบครองของประชาชน ทั้งๆ ที่ประเทศแห่งนี้มีประชากรเพียง 7 ล้านคน และยังมีอาวุธที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอีกประมาณ 240,000 กระบอก
พฤติกรรมพกอาวุธปืนโดยไม่เกรงกลัวสายตาคนอื่นสามารถพบเห็นได้ตามท้องถนน และสถานีรถไฟใต้ดิน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากทหารเกณฑ์วัยหนุ่มต่างพกพาปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติของกองทัพท้าทายสายตาของผู้ผ่านไปผ่านมา
ทั้งนี้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาลงประชามติดังกล่าว โดยให้คำอธิบายกำกับไว้ว่า “กฎหมายปัจจุบันให้การคุ้มครอง และปกป้องประชาชนจากการใช้อาวธปืนในทางที่ไม่ชอบเพียงพออยู่แล้ว”
อย่างไรก็ตาม มีบางกลุ่มที่ออกมาเตือนให้รำลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น อาทิ การกราดยิงผู้คนเสียชีวิต 14 รายระหว่างการประชุมรัฐสภาท้องถิ่นในเมืองซุก (Zug)
ฝ่ายผู้สนับสนุนยกเลิกธรรมเนียมการพกปืน เชื่อว่า การหาอาวุธได้โดยง่ายเป็นบ่อเกิดของอันตราย โดยเฉพาะการกระทำอัตนิวิบาตกรรม อัตราการยิงตัวตายในสวิตเซอร์แลนด์สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปถึง 3 เท่า แอน-มารี ทราบิเชต จากกลุ่มสตอปซุยไซด์ กล่าว
ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดไม่กี่วันก่อนการลงประชามติในวันนี้พบว่า ประชาชนชาวสวิสมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวใกล้เคียงกันมาก โดยมี 47 เปอร์เซนต์สนับสนุนการยกเลิกธรรมเนียมการพกปืน และอีก 45 เปอร์เซ็นต์คัดค้านเรื่องดังกล่าว ส่วนอีก 8 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ตัดสินใจ
มติยกเลิกธรรมเนียมการพกปืนจะมีผลในเชิงปฏิบัติก็ต่อเมื่อได้รับเสียงส่วนใหญ่จากพลเรือนและฝ่ายปกครองภายในประเทศ