ยูเอสเอ ทูเดย์ – พอลิตา และ โทนี ฟลอเรส แลกเปลี่ยนคำมั่นที่จะดูแลกันไปตราบชั่วชีวิตในห้องโถงกลมปูพื้นหินอ่อน ด้านบนคือโคมระย้าและด้านข้าง คือ น้ำพุ
ทั้งคู่ไม่ได้ตะขิดตะขวงใจเลยว่า ที่ห้องสุดทางเดินคือโชว์รูมหีบศพและโกศ หรือรอบๆ อาคารคือสุสานขนาดใหญ่ที่มีหลุมศพ 100,000 หลุมบนเนื้อที่ 60 เอเคอร์ หรือว่าในวันอื่นๆ นั้นสถานที่แห่งนี้ใช้เป็นที่ทำพิธีศพ
งานวิวาห์ของพอลิตาและโทนีที่จัดขึ้นที่คอมมิวนิตี้ ไลฟ์ เซนเตอร์ในบริเวณสุสานวอชิงตัน ปาร์ก อีสต์ สะท้อนแนวโน้มที่กำลังขยายตัว
นั่นคือ สถานที่จัดพิธีศพทั่วอเมริกากำลังสร้างและทำตลาดตัวเองเป็นสถานที่สำหรับพิธีฉลองการมีชีวิตอยู่อื่นๆ เช่น งานแต่งงาน งานวันเกิด งานครบรอบ ปาร์ตี้วันหยุด รวมถึงงานพรอม
จุดขายคือ ราคาย่อมเยา ความพร้อมของสถานที่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร
แฟลนเนอร์ แอนด์ บูคานัน ฟิวเนรัล เซนเตอร์เปิดคอมมิวนิตี้ ไลฟ์ เซนเตอร์ด้วยเงินทุน 10 ล้านดอลลาร์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่ธุรกิจอืดเป็นเรือเกลือ จนถึงปี 2009 สถานที่แห่งนี้เพิ่งเคยรับจัดงานแต่งงานเพียง 10 ครั้งเท่านั้น
กระทั่ง คลารา เฟลตเชอร์ เข้ามารับตำแหน่งผู้ประสานงานกิจกรรมพิเศษเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ทำให้ถึงตอนนี้มีลูกค้ามาจัดงานที่คอมมิวนิตี้ ไลฟ์ เซนเตอร์เดือนละกว่า 10 ครั้ง และเกือบทุกศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ตลอดปีนี้ ถูกจองเต็ม ซึ่งรวมถึงงานแต่งงาน 99 งาน การสำรองสถานที่ยังยาวไปถึงปีหน้า
เฟลตเชอร์ ที่บ่อยครั้งมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดงานแต่งงาน บอกว่าที่ก่อนหน้านี้สถานที่จัดพิธีศพไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ก็เพราะคนยังจิตใจคับแคบ สำหรับเธอ ไลฟ์ เซนเตอร์ไม่ได้เป็นแค่ที่จัดงานศพ แต่เป็นศูนย์สำหรับกิจกรรมต่างๆ
ความคิดที่จะจัดงานแต่งงานในที่จัดพิธีศพไม่ได้มีอุปสรรคมากมายให้ต้องฝ่าฟันสำหรับบางคน
“ตอนแรกที่มาเห็น ฉันค่อนข้างกังวล แต่พอเดินไปรอบๆ กลับรู้สึกหลงรักที่นี่และคิดว่าเป็นที่เหมาะสมที่สุดและลืมไปเลยว่านี่เป็นที่จัดพิธีศพ” พอลิตา บอก
และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้สถานที่จัดงานศพสามารถขยับขยายธุรกิจได้ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด
การสำรวจความคิดเห็นของเนชันแนล ฟิวเนอรัล ไดเร็กเตอร์ส แอสโซซิเอชันเมื่อปีที่แล้วพบว่า เจ้าของสถานที่จัดพิธีศพเกือบ 10% บอกว่า เป็นเจ้าของหรือนำเสนอศูนย์สำหรับชุมชนหรือครอบครัวนอกเหนือจากการจัดกิจกรรมการทำศพปกติ
สิบปีที่แล้ว เจมส์ โอลสัน ซื้อบริษัทรับจัดงานศพในวิสคอนซินโดยมีแผนว่าจะขยับขยายให้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆ แก่ชุมชนด้วย ปีนี้เขากำลังจะได้จัดงานแต่งงานๆ หนึ่ง
โอลสัน ที่เป็นโฆษกของเนชันแนล ฟิวเนรัล ไดเร็กเตอร์ส แอสโซซิเอชัน เสริมว่าเขาสังเกตว่ามีหนุ่มสาวจำนวนมากขึ้นที่จัดพิธีวิวาห์ในสถานที่จัดงานศพ แต่ย้ำว่าสาเหตุไม่ใช่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจนี้ แต่เป็นเพราะสถานที่จัดงานแต่งงานมากมายปิดตัวลงหลังเศรษฐกิจถดถอย
แม้ยังมีคนคิดว่าการเริ่มต้นชีวิตคู่ในสถานที่ที่อบอวลด้วยความเศร้าไม่ใช่เรื่องดี แต่ซู ทอตทอร์เดล โฆษกหญิงของเนชันแนล แอสโซซิเอชัน เว็ดดิ้ง โปรเฟสชันแนลส์ มองว่าจริงๆ แล้วไม่แตกต่างอะไรกับการแต่งงานในโบสถ์ที่ตลอดปีมีทั้งโลงศพและคู่สมรสอยู่หน้าแท่นพิธี
กระนั้น ความคิดในการแลกเปลี่ยนคำมั่นในสถานที่จัดงานศพ หรือสุสานอาจรับไม่ได้สำหรับทุกคน
พอลิตา สำทับว่า ตอนแรกเธอตั้งใจจะจัดงานในสนามด้านนอกของคอมมิวนิตี้ ไลฟ์ เซนเตอร์ ที่เห็นวิวสุสานชัดเจน และรู้สึกดีใจที่เปลี่ยนเข้าไปจัดในอาคารแทน
“ฉันกลัวว่าคนที่มาจะรู้สึกรังเกียจ แล้วก็กลัวว่าเวลาถ่ายรูป ภาพสุสานจะติดมาเป็นแบ็กกราวนด์ด้วย”
แต่ถ้าความที่อยู่ใกล้หลุมศพเป็นอุปสรรคสำหรับบางคน แต่กับบางคนข้อเท็จจริงเดียวกันนี้อาจกลายเป็นจุดขาย เคธ นอร์วอล์ก ประธานคราวน์ ฮิลล์ ฟิวเนรัล โฮม แอนด์ เซเมเทอรีในอินเดียนาโปลิส เล่าว่าก่อนหน้านี้มีหญิงสาวคนหนึ่งมาแจ้งความประสงค์ว่า ต้องการแต่งงานใกล้กับหลุมศพยาย เพราะมีความหมายอย่างมากสำหรับครอบครัวของเธอ