ในการออกรอบ เมื่อใครบางคนมีปัญหาหรือสงสัยในเรื่องของกฎ กติกามารยาท ก็อดจะคิดถึงอาจารย์ประสม ของเราไม่ได้ แม้ท่านจะจากเราไปอย่างไม่มีวันกลับแล้วก็ตาม โดยเฉพาะวันที่ 27 มกราคมที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ ยิ่งทำให้เราอดอาลัยถึงท่าน
นักกอล์ฟรุ่นใหญ่คงคุ้นชื่อท่านเป็นอย่างดี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ประสม สถาปิตานนท์ ท่านเป็นศาสตราจารย์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาเอกทางเคมี ฟิสิกส์ และเคมี วิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และเป็นอาจารย์กฎกติกามารยาทของสมาคมกอล์ฟด้วย ท่านเป็นผู้แปลกฎข้อบังคับกอล์ฟ R&A ออกมาใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2531 ท่านเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2470 และถึงแก่กรรมในเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 นอกจากท่านจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎกติกามารยาทแล้ว ยังมีความรอบรู้เรื่องราวต่างๆในวงการกอล์ฟเป็นอย่างดี วันนี้ผู้เขียนจึงขอรำลึกถึงท่านด้วยการสรุปความจากข้อเขียนของท่านที่เคยนำลงใน EXECUTIVE GOLF บางเรื่องมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
ไม่น่าเชื่อว่ากอล์ฟเป็นกีฬาชนิดแรกที่เล่นบนดวงจันทร์ โดยวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1971 อลัน บี เชฟเฟิร์ด จูเนียร์ นักบินอวกาศสหรัฐอเมริกา ได้ตีลูกกอล์ฟไปไกลกว่า 200 หลา บนพื้นผิวดวงจันทร์ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางประวติศาสตร์ในการไปเหยียบดวงจันทร์ในครั้งนั้น
อาจารย์ยังได้เล่าถึงสถิติการบ้าเล่นกอล์ฟของ กระทาชายนายหนึ่งจากโอคลาโฮมา ซิตี้ ในสหรัฐอเมริกา ได้สร้างสถิติไว้โดยเล่นกอล์ฟได้ทั้งหมด 10,076 หลุมในเวลา 1 ปี (เฉลี่ยวันละ 27.6 หลุม หรือสัปดาห์ละ 193 หลุม) แต่นั้นเป็นสถิติเมื่อปี 1996 ปัจจุบันนี้คงมีคนที่บ้ากว่าทำลายสถิติไปแล้วกระมัง แล้วยังมีเรื่องการทำโฮล-อิน-วัน ของนายโรเบิร์ต มิเทอร่า นักกอล์ฟสมัครเล่นที่สนามชื่อมิราเคิล ฮิล เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา ในระยะไกลถึง 447 หลา หรือ 409 เมตร ของหลุมที่ 10 ลงเนินพาร์4 เขาตีไปตรงๆลูกลอยตามลมแรงไปตกในหลุมเลย โดยไม่มีการกระเด้งกระดอนอะไรทั้งสิ้น มิราเคิลสมชื่อสนามจริงๆ
ส่วนหนังสือกอล์ฟเล่มแรกมีชื่อว่า “คู่มือนักกอล์ฟ” เขียนโดย “A KEEN HAND” ซึ่งเป็นนามปากกาของนาย เอ็ช บี ฟาร์นี่ เมื่อปีค.ศ.1857 แล้วท่านรู้ไหมว่าสมัยก่อนไม้กอล์ฟมีชื่อเรียกเฉพาะตัว เช่น ไม้หนึ่งชื่อเพลย์คลับ หัวไม้สองเรียกแบรสซี่ หัวไม้สามคือสปูน หัวไม้สี่เรียกว่าแบฟฟี่ ส่วนเหล็กสองเรียกคลิ๊ก เหล็กสี่เรียกจิกเกอร์ ถ้าเป็นเวดจ์เรียกว่าแบฟฟี่สปูน ส่วนแซนด์เวจด์เรียกว่าแบลสเตอร์ สำหรับไม้พัตต์นั้นถ้าเอามาเล่นจากนอกกรีนบางทีจะเรียกว่าเทกซัสเวดจ์ ส่วนไม้พัตต์ก้านยาวนั้นตอนแรกๆก็มีคนเรียกว่าไม้กวาดหรือด้ามไม้กวาด เพราะความยาวพอๆกับด้ามไม้กวาดในยุคนั้น ชื่อพวกนี้ต่อมาก็เลือนหายไปไม่ค่อยมีใครเรียก เพราะใช้ตัวเลขเรียกสะดวกและจำง่ายกว่า
คุณผู้อ่านคงอดสงสัยไม่ได้ว่า เอ!แล้วเรื่องของอาจารย์ประสมทั้งหลายแหล่ที่เล่ามานี้มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องสุขภาพของนักกอล์ฟด้วยเล่า? ผู้เขียนขอยืนยันว่าเกี่ยวแน่นอน เพราะถ้าลองไม่มีกฎกติกาและมารยาทในการเล่นกอล์ฟแล้ว ในแต่ละวันเราคงมีนักกอล์ฟที่บาดเจ็บ หัวล้างข้างแตก หรือทะเลาะเบาะแว้งกันมาไม่น้อย ทำให้หมอมีงานเพิ่มขึ้นอีกเป็นแน่