xs
xsm
sm
md
lg

ในพม่า‘ชาย’หรือ‘หญิง’ก็มีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะถูกล่วงละเมิด

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาแคน-มาร์คาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Equal opportunity abuse in Myanmar
By Marwaan Macan-Markar
04/02/2011

กองทัพพม่าถูกกล่าวหาอย่างฉาวโฉ่มานานแล้วในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนชนชาติส่วนน้อย แต่เวลานี้กำลังปรากฏกรณีที่ทหารทำการข่มขืนผู้ชายขึ้นมาหลายๆ กรณี โดยที่เป้าหมายถูกกระทำเป็นหัวหน้าครอบครัวในเขตชนกลุ่มน้อยชาวชิน การเปิดเผยดังกล่าวนี้เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อสหประชาชาติให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการสอบสวนประวัติทางด้านนี้ของคณะทหารผู้ปกครองพม่า และขณะเดียวกันก็เป็นการตั้งคำถามต่อแผนการของสหภาพยุโรป ที่จะทบทวนยกเลิกการมาตรการคว่ำบาตรของตน

กรุงเทพฯ – เมื่อตอนที่คณะนักวิจัยอิสระคณะหนึ่งกระจายตัวกันออกไปตามพื้นที่เขตเขาของรัฐชิน (Chin State) ในประเทศพม่า เพื่อบันทึกเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ นั้น พวกเขาคาดหมายแต่เพียงว่าคงจะได้ยินเรื่องราวอันน่าสลดหดหู่อย่างเคยๆ เกี่ยวกับการที่ผู้หญิงชนชาติส่วนน้อยถูกทหารรัฐบาลทำการข่มขืน แต่แล้วการรวบรวมข้อมูลในภาคสนามคราวนี้กลับพบแนวโน้มใหม่ของการล่วงละเมิดซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังกันมาก่อน นั่นก็คือ ผู้ชายชาวชินก็กำลังถูกประทุษร้ายทางเพศจากพวกทหารชาย ในดินแดนซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมตะวันตกเฉียงเหนืออันไกลโพ้นของประเทศ

“มันไม่ใช่เรื่องแบบที่พวกเราคาดหมายว่าจะได้พบเอาเสียเลย” เป็นคำกล่าวของ วิทย์ สุวรรณวนิชกิจ (Vit Suwanvanichkij) ผู้ร่วมเขียนรายงานผลการสืบสวนฉบับใหม่ ที่นำออกเผยแพร่โดย กลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชน (Physicians for Human Rights หรือ PHR) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกภาครัฐบาลที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯและมีวัตถุประสงค์ในการล็อบบี้เรียกร้องทางด้านสิทธิมนุษยชน “การละเมิดรูปแบบนี้ –การข่มขืนผู้ชาย- ยังไม่เคยมีการรายงานกันมาก่อนเลย และมันก็สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตใน (พม่า) ยุคที่ทหารครองอำนาจนั้นเป็นอย่างไร”

รายงานความยาว 63 หน้าที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “Life Under the Junta: Evidence of Crimes Against Humanity in Burma's Chin State” (ชีวิตภายใต้ระบอบปกครองทหาร: หลักฐานของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรัฐชินของพม่า) ฉบับนี้ ระบุว่า ในจำนวนบุคคลทั้งสิ้น 17 คนที่ระบุว่าได้ถูกทหารพม่าข่มขืนในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่คร่อมระหว่างปี 2009 ถึง 2010 นั้น มีผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นชายรวมอยู่ด้วย 5 คน และในบรรดาหัวหน้าครอบครัวเหล่านี้ รายงานบอกว่ามีอยู่รายหนึ่งที่มีบุตร 5 คน “ทหาร (พม่า) ได้ประทุษร้ายทางเพศเขาและข่มขู่ที่จะฆ่าเขาทิ้งเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2009”

การข่มขืนผู้ชายเช่นนี้ ก็เช่นเดียวกับการข่มขืนผู้หญิงตลอดจนเด็กๆ นั่นคือ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในบัญชีรายการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันชินชาที่กระทำโดยพวกทหารพม่า ในขณะที่พวกเขากำลังพยายามที่จะกระชับอำนาจในการควบคุมรัฐชิน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ห่างไกลที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับพรมแดนประเทศอินเดีย และบังกลาเทศ รายงานการวิจัยของกลุ่มเพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนระบุเอาไว้เช่นนี้ นอกจากนั้น รายงานฉบับดังกล่าวยังได้อ้างคำพูดของพวกเหยื่อชายเหล่านี้ที่กล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่า การที่พวกเขาตกเป็นเป้าหมายประทุษร้ายทางเพศของทหารชาวพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ก็เนื่องจากพวกเขามีความผิดแผกแตกต่างออกไปทั้งทางศาสนาและทางเชื้อชาติ โดยเป็นชาวชนชาติชินที่นับถือคริสต์

รายงานการวิจัยฉบับนี้บอกว่า จากการสำรวจครอบครัวมากกว่า 600 ครอบครัวที่อยู่ในตำบลต่างๆ 9 ตำบล พบว่ามีถึง 92% ซึ่งถูกทหารพม่าบังคับเกณฑ์แรงงาน โดยให้ไปทำงานหลายหลากตั้งแต่การทำถนน, การขนสัมภาระของทหาร, ไปจนถึงการกวาดกู้กับระเบิด อย่างไรก็ดี จำนวนกรณีการข่มขืนชายที่ระบุในรายงานนี้อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงก็เป็นได้ สืบเนื่องจากมีความยากลำบากอย่างมากที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้ถูกต้องครบถ้วน

ปาร์วีน ปาร์มาร์ (Parveen Parmar) ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้อีกผู้หนึ่ง กล่าวว่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศจัดอยู่ในหมวดหมู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ติดตามรวบรวมบันทึกได้อย่างลำบากยากเย็นที่สุด แม้กระทั่งในกรณีที่ผู้สัมภาษณ์ดำเนินการสัมภาษณ์แบบเป็นส่วนตัวและให้คำรับรองแข็งขันว่าจะเก็บรักษาเป็นความลับ ดังที่ทางคณะวิจัยของกลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสมาชิกรวม 22 คนใช้กันอยู่

เรื่องการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสุดเลวร้ายของพม่า เป็นสิ่งที่มีหลักฐานยืนยันอย่างหนักแน่นมากมายอยู่แล้ว กองทัพพม่าที่มีจำนวนกำลังพลกว่า 400,000 คน และเรียกกันในภาษาพม่าว่า “ทัตมะดอ” (Tatmadaw) นั้น ใช้ทั้งการบังคับเกณฑ์ให้เป็นทหาร, การทรมาน, การวางเพลิง, และการแย่งยึดที่ดินตลอดจนเสบียงอาหาร มาเป็นวิธีการในการปราบปรามขบวนการกบฎของชนชาติต่างๆ กองกำลังกบฎเหล่านี้มีจำนวนรวมกันเป็นเรือนหมื่น และทำการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

การใช้วิธีการข่มขืนมาเป็นอาวุธในการทำสงครามของทหารพม่า ได้ถูกเปิดโปงเป็นครั้งแรกในรายงานเชิงสืบสวนชื่อ “License to Rape” (ใบอนุญาตให้ทำการข่มขืน) ซึ่งตีพิมพ์โดย เครือข่ายปฏิบัติการของสตรีชาวชาน (Shan Women's Action Network หรือ SWAN) เมื่อปี 2002 เรื่องราวที่บันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานในรายงานฉบับนี้มีทั้งสิ้น 625 กรณี โดยหลายกรณีเป็นตัวอย่างของการข่มขืนหมู่ เรื่องราวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่ากำหนดเป้าหมายอย่างเป็นระบบในการประทุษร้ายทางเพศต่อผู้หญิงและเด็กหญิงที่เป็นคนกลุ่มน้อยชนชาติชาน

อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจัยหลายๆ คนของ SWAN บอกว่า ในตอนนั้นไม่ได้มีร่อยรอยเงื่อนงำใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ชายชาวชานก็ตกเป็นเป้าที่ถูกเล่นงานด้วย “เราบันทึกรวบรวมสิ่งที่ชุมชนเปิดเผยให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเขาตั้งแต่ปี 1996 จนกระทั่งถึงปี 2001” ชาม ทอง (Charm Tong) สมาชิกคนหนึ่งในคณะแถลงข่าวของ SWAN กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “การข่มขืนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก และพวกที่ทำมีทั้งพวกนายทหารระดับสูง และพลทหาร”

ในปี 2005 ชาม ทอง ซึ่งเวลานั้นอายุ 29 ปี ได้รับเชิญให้ไปยังทำเนียบขาวเพื่อเข้าพบ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอยู่ในขณะนั้น เรื่องนี้มีส่วนเพิ่มเติมความน่าเชื่อถือให้แก่หลักฐานการค้นพบของกลุ่มของเธอ การรายงานของ SWAN เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะทหารผู้ปกครองพม่า ยังมีส่วนทำให้วอชิงตันใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวขึ้นต่อพม่า ซึ่งรวมถึงการขยายเพิ่มเติมมาตรการลงโทษคว่ำบาตรแดนหม่องด้วย

สำหรับรายงานการเปิดโปงของกลุ่มแพทย์เพื่อสิทธิมนุษยชนคราวนี้ ปรากฎเผยแพร่ออกมาในจังหวะเวลาที่น่าจะทำให้สหภาพยุโรป(อียู)รู้สึกอิหลักอิเหลื่อ เนื่องจากเวลานี้อียูยังคงเดินหน้าตามมาตรการที่ตนเองประกาศออกมาลงโทษคว่ำบาตรพม่า แต่ก็กำลังถูกบีบคั้นจากรัฐบาลสมาชิกอียูบางราย ที่เรียกร้องให้ทบทวนพิจารณาจุดยืนเช่นนี้เสียใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่พม่าได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ถึงแม้จะมีเสียงครหาอยู่มากว่าฝ่ายทหารทุจริตโกงเลือกตั้งก็ตามที เป็นที่คาดหมายกันว่าในเดือนเมษายนนี้ ทางอียูจะดำเนินการทบทวนเกี่ยวกับ “จุดยืนร่วมกัน” ซึ่งก็คือนโยบายต่อพม่าของกลุ่มอียูโดยองค์รวม

ขณะเดียวกัน สหประชาชาติก็กำลังถูกกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะทหารผู้ปกครองพม่า โดยที่ตัวประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯได้ออกโรงประกาศสนับสนุนการดำเนินการเช่นนี้ไปแล้ว มาถึงเวลานี้ถ้าหากจะมีการสืบสวนสอบสวนใดๆ ขึ้นมา มันก็น่าจะจำเป็นต้องครอบคลุมถึงการล่วงละเมิดทางเพศทั้งที่กระทำต่อชายและต่อหญิง

“กรณีความรุนแรงทางเพศนั้นส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นอยู่ที่ผู้หญิง แม้กระทั่งผู้คนทางด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมหลักฐานการล่วงละเมิดประเภทนี้ ก็ไม่ได้สนใจนักหรอกว่ามันอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ชายก็ได้เหมือนกัน” ออง เมียว มิน (Aung Myo Min) ผู้อำนวยการ สถาบันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า (Human Rights Education Institute of Burma) กลุ่มคลังสมองนอกภาครัฐบาล ซึ่งดำเนินงานจากจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวแสดงทัศนะ

“มันเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการข่มขวัญเหยื่อ และเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายก็มักไม่ต้องการพูดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะว่ามันน่าละอาย” เขากล่าว “ทว่าจากกรณีที่มีการเปิดเผยออกมาในช่วงหลังๆ นี้ ควรที่จะเร่งรัดให้เหล่านักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนเข้าทำการสืบสวนพื้นที่แห่งการล่วงละเมิดนี้หลังจากที่ถูกเพิกเฉยละเลยมานาน กรณีแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นมามากกว่าที่รวบรวมได้นี้อีก”

ทางฝ่ายคณะทหารผู้ปกครองพม่า ในอดีตที่ผ่านมาได้ปฏิเสธไม่ยอมรับมาโดยตลอดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ว่าพวกเขากำลังใช้การข่มขืนมาเป็นอาวุธอย่างหนึ่งในการทำสงคราม พวกเขาพยายามเบี่ยงเบนประเด็น โดยเรียกรายงานของ SWAN ว่าเป็น “การเสกสรรค์ปั้นเรื่อง” และปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่ค้นพบโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ซึ่งได้เก็บบันทึกรวบรวมการล่วงละเมิดของระบอบปกครองนี้ ท่าทีดังกล่าวนี้ก็ยังคงเป็นแนวทางของคณะทหารผู้ปกครองพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Commission) ในนครเจนีวา อยู่ในวาระการพิจารณาทบทวนประวัติทางด้านสิทธิมนุษยชนของพม่า อย่างชนิดพิจารณาทบทวนกันตามกำหนดระยะเวลาเป็นครั้งแรก

วิน มิน (Win Min) ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการทหารพม่า ซึ่งตั้งฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าในพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบในพม่านั้น เชลยศึกแทบไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) เอาเลย แถมเชลยศึกจำนวนมากยังมักถูกประหารชีวิตเอาดื้อๆ เนื่องจากพวกเจ้าหน้าที่พม่าเชื่อว่าการนำตัวคนเหล่านี้ขึ้นฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไปหรือไม่ก็สิ้นเปลืองมากเกินไป เขาเสนอแนะว่า วัฒนธรรมแห่งการได้รับยกเว้นไม่ถูกลงโทษเช่นนี้ คือสิ่งที่บ่มเพาะให้เกิดสภาพแวดล้อมที่โน้มนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศ

“ผมไม่เคยได้ยินเลยว่าฝ่ายทหารมีการปฏิบัติการอย่างจริงจังอะไร หลังจากที่มีรายงานเกี่ยวกับกรณีการข่มขืนในพื้นที่ของชนชาติต่างๆ” วิน มิน บอก “ในกองทัพพม่านั้น มันไม่มีกลไกใดๆ เลยที่จะดำเนินการกับกรณีดังกล่าวเหล่านี้”

มารวาน มาแคน-มาร์คาร์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวศรีลังกา เขาเคยทำหน้าที่รายงานข่าวความขัดแย้งทางเชื้อชาติในศรีลังกา ก่อนที่จะมาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้แก่สำนักงานอินเตอร์เพรสเซอร์วิส ( Inter Press Service) เมื่อปี 1999 ปัจจุบันเขาตั้งฐานอยู่ในประเทศไทย และทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น