เอเจนซี – การศึกษาระหว่างประเทศพบหากพ่อแม่เคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าที่ลูกจะเป็นโรคเดียวกัน
การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ใน 52 ประเทศ และเผยแพร่ในเจอร์นัล ออฟ ดิ อเมริกัน คอลเลจ ออฟ คาร์ดิโอโลจี้ ยังบ่งชี้ว่าหากพ่อแม่เคยหัวใจวาย แม้การเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกสุขอนามัยยิ่งขึ้นอาจเป็นประโยชน์ แต่ไม่ได้รับประกันว่าลูกจะปลอดภัยจากอาการดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
การศึกษาก่อนหน้านี้ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหัวใจกับการที่คนๆ นั้นมีความเสี่ยงโรคหัวใจในบางกลุ่มประชากร แต่การศึกษาล่าสุดพบว่า ความสัมพันธ์ของสองส่วนนี้มีเหมือนกันในทุกวัฒนธรรมทั่วโลก
“การศึกษานี้ตอกย้ำบทบาทสำคัญของประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญนอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่รับรู้กันอยู่แล้ว
“รายงานฉบับนี้ยังเน้นย้ำความจำเป็นในการรวมประวัติครอบครัวไว้ในแนวทางการป้องกันและรักษาโรคหัวใจวันต่อวันด้วย” คริสโตเฟอร์ โอ’ดอนเนลล์ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานศึกษานี้ แสดงความคิดเห็น
การค้นพบจากงานศึกษาที่มีชื่อว่าอินเทอร์ฮาร์ต และนำโดยซาลิม ยูซูฟ จากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ในออนทาริโอ แคนาดา ครอบคลุมผู้ป่วย 12,000 คนในทุกภูมิภาคทั่วโลก ยกเว้นแอนตาร์กติกา ที่ได้รับการรักษาจากอาการหัวใจวายครั้งแรกระหว่างปี 1999-2003
การศึกษานี้ยังครอบคลุมกลุ่มควบคุมด้านเพศและอายุ 15,000 คน
นักวิจัยพบว่า ผู้ป่วย 18% ที่หัวใจวายมีพ่อแม่มีประวัติหัวใจวายมาก่อน เทียบกับกลุ่มตัวอย่าง 12% ที่ไม่เป็นโรคหัวใจ
เมื่อนักวิจัยนำปัจจัยด้านอายุ เพศ และภูมิภาคที่พำนักอาศัยของผู้ป่วยมาพิจารณาร่วมด้วย พบว่าผู้ป่วยที่มีพ่อหรือแม่อย่างน้อยคนใดคนหนึ่งเป็นโรคหัวใจ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.8 เท่าที่จะเป็นโรคเดียวกัน และตัวเลขนี้สอดคล้องในกลุ่มชาติพันธุ์และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
ความเสี่ยงอยู่ในระดับเท่ากันไม่ว่าคนที่เคยหัวใจวายเป็นพ่อหรือแม่ แต่ความเสี่ยงจะสูงขึ้นหากเป็นทั้งพ่อและแม่ หรือหากคนใดคนหนึ่งหรือทั้งพ่อและแม่หัวใจวายก่อนอายุ 50 ปี
เมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การกินผักผลไม้ และโรคอ้วน ปัจจัยเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่มาพร้อมการมีพ่อแม่เป็นโรคหัวใจ
“เรารู้ว่าประวัติครอบครัวมีนัยหลายอย่าง และนัยเหล่านั้นก็คือพันธุกรรม บางอย่างเกือบจะเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เราไม่รู้จริงๆ ว่าจะหาวิธีตรวจสอบได้อย่างไร” ธีมิสโทเคิลส์ แอสไซม์ส จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ ผู้เขียนบทบรรณาธิการประกอบการศึกษานี้ ทิ้งท้าย