เอเอฟพี - งานศึกษาใหม่เตือนคนที่ดูทีวีหรือนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 2 ชั่วโมงขึ้นไป มีความเสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้นสองเท่า ดีไม่ดีอาจถึงขั้นเสียชีวิต
นักวิจัยระบุว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่เกี่ยวกับว่าคนๆ นั้นจะออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบ่งชี้ว่าสิ่งที่เราเลือกทำยามว่างมีผลใหญ่หลวงต่อสุขภาพโดยรวม
เอมมานูเอล สเตมาเตกิส ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาและสาธารณสุขของยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน ร่วมกับทีมนักวิจัยแนะนำแนวทางสาธารณสุขเพื่อเตือนความเสี่ยงจากการงดทำกิจกรรมใดๆ ในช่วงนอกเวลาทำงาน
คำเตือนดังกล่าวเป็นสิ่งเร่งด่วน โดยเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่วัยทำงานส่วนใหญ่ที่ใช้เวลานั่งๆ นอนๆ เป็นเวลานาน
รายงานที่อยู่ในเจอร์นัล ออฟ ดิ อเมริกัน คอลเลจ ออฟ คาร์ดิโอโลจี้ ระบุว่านักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลจากผู้ใหญ่ 4,512 คนที่เข้าร่วมการสำรวจสุขภาพครัวเรือนในสกอตแลนด์
ข้อมูลเกี่ยวกับเวลาที่อยู่หน้าจอมาจากข้อมูลที่กลุ่มตัวอย่างรายงานเองเกี่ยวกับการดูทีวีหรือดีวีดี การเล่นคอมพิวเตอร์ยามว่าง และการเล่นวิดีโอเกม
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ใช้เวลาหาความบันเทิงหน้าจอไม่ถึง 2 ชั่วโมงต่อวันกับคนที่ใช้เวลาทำสิ่งเดียวกันวันละ 4 ชั่วโมงขึ้นไป นักวิจัยพบว่ากลุ่มหลังมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากสาเหตุใดๆ ก็ตามสูงกว่ากลุ่มแรก 48%
สำหรับกลุ่มที่ใช้เวลาหน้าจอนอกเวลาทำงานวันละ 2 ชั่วโมงขึ้นไปมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น 125% ซึ่งรวมถึงอาการหัวใจวาย
รายงานตั้งข้อสังเกตว่า ความเกี่ยวพันเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงปกติอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง ดัชนีมวลกาย (บีเอ็มไอ) สถานะทางสังคม หรือการออกกำลังกาย
อย่างไรก็ดี นักวิจัยสามารถค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างระดับการอักเสบกับระดับคลอเรสเตอรอลในกลุ่มที่นั่งๆ นอนๆ
“ความเชื่อมโยง 1 ใน 4 ระหว่างเวลาที่อยู่หน้าจอกับโรคหัวใจอธิบายได้โดย C-reactive protein (ซีอาร์พี) บีเอ็มไอ และไขมันที่มีความหนาแน่นสูง”
ซีพีอาร์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อาการอักเสบระดับต่ำ สูงขึ้น 2 เท่าในผู้ที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้เวลาหน้าจอวันละไม่ถึง 2 ชั่วโมง
สเตเมเตกิสสำทับว่า จะศึกษาต่อไปเพื่อค้นหาว่าการนั่งนานๆ มีผลต่อสุขภาพอย่างไร และควรแนะนำให้คนเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์อย่างไรเพื่อช่วยลดเวลาในการนั่งๆ นอนๆ