เอเจนซี/เอเอฟพี - สหรัฐฯ ออกโรงกดดันประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ของอียิปต์ผู้ที่เก้าอี้กำลังร้อนฉ่าอยู่ในขณะนี้ ระบุว่า การที่เขาแค่ปรับคณะรัฐมนตรีใหม่นั้นยังไม่เพียงพอที่จะสามารถแก้ไขวิกฤตการเมืองภายในประเทศซึ่งตึงเครียดที่สุดในรอบกว่า 30 ปีนี้ได้ พร้อมกับรบเร้าให้มูบารัคทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่ประชาชนโดยการปฏิรูปบ้านเมืองอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม วอชิงตันยังคงสงวนท่าทีแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น ด้วยการเลือกที่จะยังไม่แทรกแซงเรื่องนี้โดยตรง เนื่องจากไม่ต้องการตัดขาดความสัมพันธ์กับมูบารัค ผู้ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มานานกว่าสามทศวรรษ
ในขณะที่ประชาชนชาวอียิปต์จำนวนหลายหมื่นคนยังคงเดินขบวนประท้วงขับไล่มูบารัค ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 เมื่อวานนี้ (30) ตามเมืองสำคัญหลายแห่งที่ถูกประกาศเคอร์ฟิว ทั้งในกรุงไคโร, อเล็กซานเดรีย และสุเอซ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ก็ได้ออกคำแถลงกดดันให้ผู้นำแดนฟาห์โรทำตามเจตนารมณ์ของประชาชนซึ่งเรียกร้องให้ประเทศปฏิรูประบอบประชาธิปไตย
“รัฐบาลอียิปต์ไม่อาจทำเพียงแค่สลับไพ่สำรับนั้นโดยที่ยังไม่เปลี่ยนไพ่ที่ถืออยู่ในมือ” ฟิลิป เจ.โครว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงเป็นข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ หลังจากที่ประธานาธิบดีมูบารัค สั่งการให้คณะรัฐมนตรีของเขาลาออกยกชุด และภายหลังก็ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.โอมาร์ ซูไรมาน หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกองทัพ เป็นรองประธานาธิบดี รวมทั้งแต่งตั้งให้อาห์เหม็ด ชาฟิก เป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย อย่างไรก็ตามมูบารัค ยังยืนกรานว่าตนจะยังไม่ยอมสละเก้าอี้ที่นั่งมานานกว่า 30 ปีตัวนี้อย่างแน่นอน
“คำมั่นสัญญาที่ประธานาธิบดีมูบารัคให้ไว้ว่าจะทำการปฏิรูปนั้น จะต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมจริง” เขากล่าว เป็นการสะท้อนเสียงข้อเรียกร้องของโอบามาซึ่งกล่าวไว้เมื่อวันศุกร์ (28) ที่ผ่านมา โดยระบุให้มูบารัคเปิดทางให้เกิดพลวัตทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้น
“เมื่อผู้ประท้วงยังคงปักหลักเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนสายต่างๆ ในอียิปต์เช่นนี้ เราก็จะยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับเหตุความรุนแรงซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และอีกครั้ง เราขอให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักยับยั้งชั่งใจ” โครว์ลีย์ กล่าวไว้ในอีกข้อความหนึ่ง
ทั้งนี้ โอบามาซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อที่จะแสดงบทบาทให้สมดุลแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น โดยที่ทางหนึ่งเขายังไม่อยากตัดสัมพันธ์จนขาดสะบั้นกับประธานาธิบดีมูบารัค ผู้ซึ่งเป็นพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มาเนิ่นนานกว่า 3 ทศวรรษ ในขณะที่อีกทางหนึ่งก็ต้องการที่จะสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงชาวอียิปต์ซึ่งเรียกร้องสิทธิในทางการเมือง อันเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายสหรัฐฯ เสมอมา ด้วยเหตุนี้ทางเลือกของวอชิงตันในการใช้อิทธิพลต่อสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีค่อนข้างจำกัด
หลังจากเหตุการณ์ลุกฮือก่อจลาจลในอียิปต์ปะทุขึ้นและลุกลามบานปลายนานเกือบหนึ่งสัปดาห์ โอบามาได้เรียกประชุมทั้งรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน, จอห์น เบรนแนน หัวหน้าที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย และเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสหลายคนซึ่งรับผิดชอบด้านนโยบายสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยที่นิวยอร์กไทมส์รายงานอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบาลซึ่งไม่เปิดเผยชื่อในที่ประชุมดังกล่าว ระบุว่า โอบามาเตือนว่า ความพยายามใดๆ อันโจ่งแจ้งของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการนำตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขับไล่มูบารัคโดยตรงนั้น อาจส่งผลลัพธ์ในทางที่กลับตาลปัตรกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ก็เป็นได้
“เขากล่าวไว้หลายครั้งว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาควรมาจากการตัดสินใจของประชาชนอียิปต์ทั้งปวงเอง และสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถอยู่ในฐานะของการเป็นเผด็จการได้” หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ (28) โอบามาได้ต่อสายตรงถึงมูบารัค ขอร้องผู้นำอียิปต์ว่าจะต้องไม่ใช้กำลังเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงและเรียกร้องให้เขาเดินหน้าปฏิรูปการเมืองอย่างมีความหมาย