เอเอฟพี - ชาติมหาอำนาจทั้ง 6 ต้องกลับไปขบคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังการเจรจาเรื่องโครงการนิวเคลียร์กับอิหร่านไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าความล้มเหลวครั้งนี้อาจนำไปสู่การคว่ำบาตรที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากสหรัฐฯ
แคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์หลังสิ้นสุดการเจรจาที่กรุงอิสตันบูลวานนี้(22)ว่า ยังไม่มีการกำหนดวันเจรจารอบต่อไปกับอิหร่าน
การเจรจาระหว่างอิหร่านและกลุ่ม พี5+1 ซึ่งได้แก่ อังกฤษ, จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหรัฐฯ และ เยอรมนี ยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาหรือลดความหวั่นวิตกว่าอิหร่านจะลอบพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์อย่างลับๆได้
“สิ่งสำคัญก็คือ อิหร่านต้องแสดงให้เห็นว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนเป็นไปในทางสันติ” แอชตัน กล่าว
แอชตัน ระบุว่า มหาอำนาจทั้ง 5 และเยอรมนีเคยหวังว่า การเจรจาครั้งนี้จะช่วยให้ข้อเสนอสลับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์กับอิหร่านคืบหน้า และจะทำให้มาตรการตรวจสอบโดยทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ(IAEA)มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม “เป็นที่ชัดเจนว่าอิหร่านไม่พร้อมที่จะรับข้อเสนอเหล่านี้ เว้นแต่เราจะยอมรับเงื่อนไขที่เกี่ยวกับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและการคว่ำบาตร” แอชตัน แถลงในนามของมหาอำนาจทั้ง 5 และเยอรมนี
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ วิลเลียม เฮก ระบุว่า การที่อิหร่านปฏิเสธความร่วมมือถือว่า “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” ส่วน มิแชล แอลเลียต-มารี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า เงื่อนไขที่อิหร่านกำหนด ซึ่งรวมถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร เป็นสาเหตุที่ทำให้การเจรจาล้มเหลว
แอชตัน และนักการทูตอาวุโสคนหนึ่งของสหรัฐฯ กล่าวตรงกันว่า แม้การเจรจาจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเปิดเจรจาได้อีกในอนาคต
“มีสัญญาณให้เห็นว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านก้าวไปได้ช้าลง ผมจึงคิดว่าเรายังมีเวลาพอสำหรับการเจรจาทางการทูต” เจ้าหน้าที่ทูตอาวุโสซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุ
ความล่าช้าในการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านน่าจะเป็นผลมาจากหนอนคอมพิวเตอร์ “สตักซ์เน็ต” ที่อิสราเอลและสหรัฐฯใช้โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของอิหร่านเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ตามรายงานจากหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส
อย่างไรก็ตาม อิหร่านยืนยันว่าไม่มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาอาวุธตามที่ถูกกล่าวหา และไวรัสดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อโครงการนิวเคลียร์ของตน
นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า การเจรจาที่ล้มเหลวอาจทำประธานาธิบดี โอบามา เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ซึ่งตรงกับความเห็นของ เซมิส อิดีส นักเขียนบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ มิลลิเยต ของตุรกี
“ผมจะไม่แปลกใจเลยหากประเทศตะวันตกจะคว่ำบาตรอิหร่านมากยิ่งขึ้น เพื่อกดดันให้อิหร่านยอมประนีประนอม”