xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านเตรียมถก “ปัญหานิวเคลียร์” กับชาติมหาอำนาจ 5+1 รอบสอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนักของอิหร่านในเมืองอารัค
เอเอฟพี - อิหร่านเตรียมตั้งโต๊ะเจรจาปัญหานิวเคลียร์รอบสองกับ 6 ชาติมหาอำนาจ ณ กรุงอิสตันบูล วันศุกร์ (21) นี้ ท่ามกลางความหวังถึงการเพิ่มแรงกดดันกรุงเตหะรานประเด็นโครงการนิวเคลียร์

การเจรจาครั้งแรก ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ยุติช่วงสูญญากาศโต๊ะเจรจาปัญหานิวเคลียร์ระหว่างสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านกับกลุ่มมหาอำนาจ 5+1 ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐฯ และเยอรมนี หลังว่างเว้นมานาน 14 เดือน อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งแรกจบลงโดยไม่มีผลสรุปที่เป็นรูปธรรม ทว่าทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสานเสวนากันต่อไป และได้กำหนดการประชุมรอบสอง ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในตุรกี พันธมิตรใกล้ชิดของอิหร่าน ผู้ยืนกรานให้ใช้วิถีทางการทูตยุติปัญหา

ฝ่ายเตหะรานยืนยันว่า ประเด็นนิวเคลียร์ในอิหร่านจะไม่อยู่ในวาระการประชุมรอบอิสตันบูล ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายที่สาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนาน กล่าวคือ สิทธิในการพัฒนานิวเคลียร์ของประเทศไม่ได้อยู่กับการตัดสินใจของชาติมหาอำนาจ

“ไม่มีปัญหา หากจะคุยกันในประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันการเผยแพร่ และการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติภาพโดยทั่วๆ ไป” อะบุลฟัซล์ ซอห์เรวันด์ ผู้ช่วยหัวหน้าคณะเจรจานิวเคลียร์อิหร่านให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไอเอสเอ็นเอ วานนี้ (17) “หากชาติตะวันตกต้องการเจรจาประเด็นนิวเคลียร์ของอิหร่าน กรุงอิสตันบูลไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสม เพราะโครงการนิวเคลียร์ของเราโปร่งใส และได้รับการตรวจสอบจากไอเออีเอ (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ)”
อาลี อัคบาร์ ซาเลฮี รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านและหัวหน้าคณะเจรจาปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน (คนที่สองจากซ้าย) ขณะนำนักการทูตจากชาติมหาอำนาจเยี่ยมชมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แคตเธอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ซึ่งจะเป็นแกนนำคณะเจรจา 5+1 กลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม “ดิฉันเข้าใจว่าเรามาเพื่อถกปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน และนั่นคือสิ่งที่เราจะทำ” เธอกล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะเดินทางถึงกรุงอิสตันบูล เพื่อเตรียมการประชุม

ก่อนหน้าการเจรจาครั้งแรกในนครเจนีวา ทางเตหะรานก็เคยยืนกรานในทำนองเดียวกันว่า ประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านจะไม่อยู่ในวาระการประชุม

ทั้งนี้ ชาติมหาอำนาจตะวันตกตั้งข้อสงสัยว่า โครงการพัฒนาพลังงานของอิหร่านเป็นเพียงฉากบังหน้า เพื่อลอบพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ ทว่าอิหร่านก็ปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด พร้อมทั้งยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาพลังงานเท่านั้น

ถึงกระนั้น อิหร่านก็ไม่ยอมหยุดเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศลงโทษอิหร่านเป็นครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมิถุนายน 2010 นอกจากนั้น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังดำเนินมาตรการลงโทษอิหร่านเพิ่มเติมอีกหลายประการ

ทางกรุงวอชิงตันเชื่อว่า บทลงโทษต่างๆ ได้ส่งผลให้การพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านหยุดชะงัก เนื่องจากปัญหาทางด้านเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสหรัฐฯ และอิสราเอลยังไม่ล้มเลิกความคิดในการใช้กำลังทหารเข้าขัดขวางการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น