เอเจนซี - สำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งติดตามรายงานข่าวการชุมนุมประท้วงของ “เสื้อแดง” ได้เสนอ “ภาพจำลองสถานการณ์” (scenarios) รูปแบบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเน้นความสนใจไปที่ความรุนแรงของสถานการณ์และผลกระทบที่จะมีต่อตลาดการเงิน โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
ภาพจำลองสถานการณ์ที่รอยเตอร์เสนอเอาไว้มีทั้งสิ้น 4 รูปแบบ พอจะสรุปได้ดังนี้
**รัฐบาลผ่านพ้นการประท้วงมาได้โดยสวัสดิภาพ – ตลาดหลักทรพัย์จะพุ่งทะยาน**
ความสามารถของ “เสื้อแดง” ที่ระดมผู้คนชนบทมาได้กว่า 150,000 คน เป็นการส่งข้อความอันหนักแน่นเกี่ยวกับความไม่พอใจของผู้คนจำนวนมาก ทว่าอาจจะล้มเหลวไม่สามารถล้มรัฐบาลที่ได้รับการหนุนหลังจากฝ่ายทหารที่ทรงอำนาจและชนชั้นนำที่กุมอำนาจมายาวนาน
ความล้มเหลวในการขับไล่รัฐบาลจะทำให้สถานะเดิมอันน่าเป็นห่วงต้องยืดเยื้อออกไป แต่ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนตลาดการเงินอะไรนัก ดังที่เห็นได้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติยังคงทุ่มเงินเข้ามาในตลาดไทย
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมคราวนี้ก็วาดภาพให้เห็นว่าการแตกแยกแบ่งขั้วอยู่ในสภาพรุนแรงขนาดไหน ซึ่งทำให้พวกนักลงทุนต้องคิดหนักเกี่ยวกับการขยายกิจการในไทยในระยะยาว
ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเข้าไปในตลาดหุ้นไทยนั้น พวกบริษัทต่างประเทศก็กลับมีความกระตือรือร้นน้อยกว่าที่จะทำการลงทุน
**ความรุนแรงปะทุขึ้นมาแต่ปราบปรามลงได้ – ตลาดระยะสั้นปั่นป่วนผันผวน**
ความรุนแรงปะทุขึ้นมา จุดชนวนโดยพวกเสื้อแดง หรือนักปลุกปั่นจากภายนอก ในสภาพเช่นนี้อาจทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้นในตลาดหุ้นไทย โดยที่พวกนักลงทุนายย่อยเทขาย แต่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อเนื่องจากให้ความสนใจกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระยะยาวของภูมิภาคนี้ที่กำลังกระเตื้องขึ้น
ภาพจำลองสถานการณ์ของรูปแบบนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ กองกำลังทหารตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ทำให้รัฐบาลได้รับชัยชนะในทางการประชาสัมพันธ์ และยิ่งบั่นทอนชื่อเสียงของพวกเสื้อแดง
การตอบโต้แบบรู้ผ่อนหนักผ่อนเบาของรัฐบาล สามารถทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในระยะสั้น แต่ก็อีกนั่นแหละ การแยกแยกทางการเมืองจะยังคงเป็นเมฆดำบงบังทิศทางอนาคตสำหรับการลงทุนระยะยาว
**การประท้วงทำให้รัฐบาลผสมล่มคว่ำ – ตลาดถูกเทขาย**
การประท้วงที่ยังดูไม่เคร่งเครียดอะไร อาจจะเพิ่มความร้อนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน สภาพเช่นนี้อาจเกิดคำถามเกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาล และกระตุ้นให้เกิดการเจรจาต่อรองหลังฉากระหว่างพรรคต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า พ.ต.ท.ทักษิณต้องเกี่ยวข้องด้วย
ในภาพจำลองสถานการณ์นี้ พรรคเพื่อไทยจะยืนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ จากนั้นก็เข้าเป็นผู้นำของรัฐบาลชุดใหม่
ตลาดจะหล่นฮวบฮาบเนื่องจากกังวลว่าความไร้เสถียรภาพจะติดตามมา โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ย่อมสร้างความโกรธกริ้วให้แก่ขบวนการเสื้อเหลือง
แต่ภาพสถานการณ์เช่นนี้ยังไม่น่าที่จะเกิดขึ้น สืบเนื่องจากนายอภิสิทธิ์ยังคงได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขัน ทั้งจากกองทัพ, องคมนตรี, และผู้นำภาคธุรกิจ
**การประท้วงหันไปใช้ความรุนแรง นายกฯยุบสภา – ตลาดร่วงหนัก**
เกิดความรุนแรงขึ้นมา และมีการจลาจลชนิดควบคุมไม่อยู่ นายอภิสิทธิ์ต้องประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่
ภาพสถานการณ์ในแนวทางนี้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้อย่างยิ่ง อาจกระตุ้นให้นักลงทุนทั้งท้องถิ่นและต่างชาติพากันเทขายกระหน่ำ เนื่องจากเกรงจะเกิดความไร้เสถียรภาพหนักขึ้น รวมทั้งอาจเกิดภาวะชะงักงันและความไม่สงบตามมาอีก
เมื่อเผชิญกับความเป็นไปได้ที่รัฐบาลนิยมทักษิณจะชนะการเลือกตั้ง และมีโอกาสสูงที่จะเกิดการแทรกแซงอีกครั้งโดยปรปักษ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ พวกนักลงทุนต่างชาติย่อมจะหันไปหาตลาดอื่นในภูมิภาค และเมินประเทศไทย