xs
xsm
sm
md
lg

‘อียู’เร่งกดดันเพื่อเปิดตลาด‘อินเดีย’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด โครนิน

EU pushes to prise open India
By David Cronin
11/02/2010

สหภาพยุโรป (อียู) กำลังพยายามกดดันอินเดียให้ยกเลิกภาษีศุลกากรซึ่งทำหน้าที่เป็นโล่ป้องกันอุตสาหกรรมและการค้าของแดนภารตะ ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้ อย่างไรก็ดี การที่บรรดาวัตถุประสงค์ระดับหัวใจของอียู เหลื่อมทับอยู่กับผลประโยชน์ของพวกธุรกิจใหญ่ในยุโรป กำลังสร้างความขุ่นเคืองให้แก่พวกรณรงค์ต่อต้านความยากจน พวกเขากล่าวหาสหภาพยุโรปว่าไม่รับฟังทัศนะความเห็นของพวกเขาเลย

บรัสเซลส์ – กำลังมีการเจรจาหารือกันอย่างลับๆ ระหว่างพวกเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป(อียู) บางคน และบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับท็อปของโลกบางราย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อบีบคั้นกดดันอินเดีย ให้ยอมยกเลิกมาตรการทุกอย่างที่ใช้ป้องกันอุตสาหกรรมแดนภารตะ ไม่ให้ต่างชาติเข้าไปแข่งขันได้

กลุ่ม “บิสซิเนสยุโรป” (BusinessEurope) ซึ่งเป็นตัวแทนของพวกบริษัทขนาดใหญ่ มีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอนของการเตรียมการเจรจาของอียู ซึ่งมุ่งหมายที่จะทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอินเดียให้สำเร็จ จากเอกสารภายในหลายฉบับที่ได้จากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อันเป็นองค์กรบริหารของอียู แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คณะกรรมาธิการได้ขอคำแนะนำจากกลุ่มนี้ ตั้งแต่ตอนที่กำลังจัดเรียงลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ ในการเจรจา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2007 หรือ 9 เดือนก่อนที่การเจรจาหารือจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ

ทางกลุ่มบิสซิเนสยุโรปได้สนองตอบ ด้วยการเสนอแนะว่าวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของการเจรจากับแดนภารตะเหล่านี้ ควรจะเป็นการทำให้อินเดียต้องยอมยกเลิกการจัดเก็บพวกภาษีในด้านการค้าไปโดยสิ้นเชิง โดยที่ภาษีศุลกากรดังกล่าว อินเดียนำมาใช้เพื่อคุ้มครองกิจการภายในประเทศของตน ให้ปลอดพ้นจากการถูกตัดราคาโดยสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกกว่า “การเรียกร้องอะไรที่น้อยไปกว่านี้ จะเปิดทางให้ (อินเดีย) มีการขอยกเว้นภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังได้รับความคุ้มครองอย่างสูง และก็จะเป็นการลดทอนผลประโยชน์ที่เศรษฐกิจยุโรปพึงได้รับให้น้อยลงไปอย่างมหาศาล” กลุ่มล็อบบี้กลุ่มนี้ระบุ

จากเอกสารภายใน ซึ่งสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสได้อ่าน เหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนว่าบรรดาข้อเสนอแนะระดับหัวใจที่บิสซิเนสยุโรปยื่นเข้ามา ล้วนได้รับการเห็นชอบจากทางคณะกรรมาธิการ ปีเตอร์ แมนเดลสัน (Peter Mandelson) ซึ่งเวลานั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (European commissioner for trade) บอกว่า ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กลุ่มนี้แนะนำเขานั้น “สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นต่างๆ ที่ควรต้องสนใจของตัวผมเอง” ทั้งนี้ตามเนื้อความในจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาเขียนไปถึงบิสซิเนสยุโรปในเดือนมีนาคม 2008

ทางด้านกลุ่มรณรงค์ต่อต้านความยากจน ต่างแสดงความขุ่นเคืองต่อการที่บิสซิเนสยุโรป ได้รับภาระหน้าที่ให้เข้าช่วยเหลืออียูจัดร่างแผนการที่มุ่งกดดันอินเดียอย่างแข็งกร้าวให้เปิดตลาดแก่นักลงทุนต่างประเทศ นักรณรงค์เหล่านี้ชี้ว่า แผนการดังกล่าวไม่ได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มีช่วงห่างกันกว้างเหลือเกินระหว่างความมั่งคั่งร่ำรวยของยุโรปกับของอินเดีย ซึ่งยังคงเป็นประเทศที่มีจำนวนคนยากจนสูงที่สุดในโลก กล่าวคือ เมื่อปี 2005 ในจำนวนประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคนของอินเดีย ยังมีอยู่ถึง 42% ซึ่งมีชีวิตอยู่โดยที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ตามข้อมูลตัวเลขล่าสุดที่สามารถหาได้จากธนาคารโลก

“คณะกรรมาธิการกำลังทำตัวเป็นผู้ให้บริการแก่พวกธุรกิจใหญ่ ในการทำการเจรจาเหล่านี้กับฝ่ายอินเดีย” ปีเตอร์ ฟุคส์ (Peter Fuchs) แห่งองค์การ “เศรษฐกิจโลก, นิเวศวิทยา, และการพัฒนา” (World Economy, Ecology and Development) ของเยอรมนี กล่าวให้ความเห็น ตรงกันข้าม พวกองค์การที่ทำงานในประเด็นเรื่องความยุติธรรมทางสังคม หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม กลับ “ถูกกันให้ออกห่าง” จากคณะผู้เจรจาด้านการค้าของอียู

การศึกษาเรื่องการเจรจาระหว่างอียู-อินเดีย ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว โดย ศูนย์กลางเพื่อการค้าและการพัฒนา (Center for Trade and Development หรือ CENTAD) ซึ่งมุ่งวิจัยประเด็นต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่กระทบกระเทือนเอเชียใต้ ได้กล่าวย้ำว่า มีความไม่สมมาตรอย่างลึกซึ้งยิ่งระหว่างอียูกับอินเดีย ถึงแม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมดของอินเดีย จะอยู่ในระดับเท่ากับเพียง 6.5% ของที่อียูมีอยู่ เมื่อคำนวณจากตัวเลขในปี 2008 แต่ในการเจรจากัน อียูก็ยังคงมองอินเดียว่าเป็นผู้มีความเท่าเทียมกับตนในทางเศรษฐกิจ รายงานการศึกษาฉบับนี้ระบุ

รายงานการศึกษานี้ยังพบว่า การที่อียูพยายามผลักดันให้ยกเลิกภาษีศุลกากรแทบทั้งหมดที่อินเดียเก็บจากสินค้าอาหารนำเข้า อาจส่งผลให้พวกชาวนารายย่อยที่มีจำนวนมากมายของแดนภารตะ ต้องได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของราคา และไม่สามารถที่จะแข่งขันกับผลผลิตจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาประมาณ 5 ล้านคนที่ปลูกพืชผลเพียงอย่างเดียว จะมีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้น รายงานของ CENTAD ฉบับนี้ยังเตือนด้วยว่า การที่อียูเรียกร้องให้ภาคบริการในอินเดียต้องเอื้อประโยชน์อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น อาจสร้างอันตรายต่อร้านค้าปลีกรายย่อยในอนาคตราว 12 ล้านราย ในทันทีที่พวกเขาจะต้องแข่งขันต่อสู้กับพวกเครือข่ายค้าปลีกระหว่างประเทศ

นักการทูตชาวอินเดียผู้หนึ่งเผยว่า เป็นที่เข้าใจกันแล้วระหว่างอียูและรัฐบาลของเขาว่า ควรจะต้องมีการยกเลิกภาษีศุลกากรให้แก่สินค้าราว 90% ของทั้งหมดที่ทั้งสองฝ่ายค้าขายกันอยู่ อินเดียได้จัดทำรายการสินค้าที่ตนถือว่า “อ่อนไหว” โดยต้องการให้สินค้าเหล่านี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงกับอียูนี้ อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่นักการทูตรายนี้ซึ่งพูดโดยขอให้สงวนนาม บอกว่า รายการดังกล่าวนี้ “ไม่ได้จารจารึกเอาไว้บนก้อนหิน” นั่นคือ อาจจะถูกกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ได้

หลังจากที่ในตอนแรกอินเดียขอยกเว้นสินค้ารวม 643 รายการเป็นระยะเวลา 7 ปี จากการถูกบังคับให้ทำตามมาตราต่างๆ ของร่างข้อตลงการค้าเสรี คณะกรรมาธิการยุโรปก็ได้ส่งรายการสินค้าดังกล่าวให้ทางบิสนิเนสยุโรปพิจารณาในเดือนกุมภาพันธ์ 2008 ฟิลิปป์ เดอ บุก (Philippe de Buck) ประธานของบิสซิเนสยุโรปในขณะนั้น ได้ตอบกลับในเดือนถัดมา โดยโต้แย้งว่ารายการที่อินเดียเสนอมา “มากมายกว้างขวางเกินไป” โดยที่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่ทางผู้ส่งออกที่เขาเป็นตัวแทนอยู่ มองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จนไม่ควรอ่อนข้อให้

จอห์น แคลนซี (John Clancy) โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป ปฏิเสธไม่ยอมรับว่า บิสซิเนสยุโรปได้รับ “การปฏิบัติอย่างมีอภิสิทธิ์” เหนือกว่าองค์การอื่นๆที่สนอกสนใจในเรื่องนโยบายการค้า เขายืนยันว่า คณะกรรมาธิการเที่ยวขอข้อคำแนะนำในเรื่องที่จะดำเนินการเจรจาการค้าอย่างไรดี จากพวกกลุ่มผลประโยชน์สาธารณะด้วย ไม่เพียงจากภาคเอกชนเท่านั้น

กระนั้นก็ตามที ขณะที่คณะกรรมาธิการจัดการประชุมสัมมนาว่าด้วยนโยบายการค้าของตนหลายๆ ครั้งในแต่ละปี แต่ถ้าเป็นการสนทนากับกลุ่มที่มุ่งรักษาผลประโยชน์สาธารณะแล้ว ลักษณะของการประชุมหารือก็จะ “มีความแตกต่างอย่างมาก” กับที่ทางคณะกรรมาธิการจัดพูดคุยกับพวกบริษัทใหญ่ๆ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของ โอลิเวียร์ โฮเดอแมน (Olivier Hoedeman) จากกลุ่มสังเกตการณ์บรรษัทยุโรป (Corporate Europe Observatory) ซึ่งมุ่งติดตามกิจกรรมของพวกล็อบบี้ยิสต์ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของอียู

โฮเดอแมนบอกว่า ขณะที่ฝ่ายการค้าของคณะกรรมาธิการ มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับพวกตัวแทนของภาคเอกชน เมื่อมีการหารือจัดทำยุทธศาสตร์ต่างๆ ทางฝ่ายกลับเชื้อเชิญให้กลุ่มรณรงค์ทั้งหลายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสังคมและทางนิเวศวิทยา ก็ต่อเมื่อยุทธศาสตร์เหล่านี้ได้มีการร่างออกมาเรียบร้อยแล้ว

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น