เอเจนซี – ออสเตรเลีย บราซิล และไทยออกคำแถลงร่วมในวันจันทร์ (1) เรียกร้องให้สหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกการส่งออกน้ำตาล 500,000 ตันซึ่งเกินกว่าโควตาที่กำหนดกันไว้ในทันที โดยทั้ง 3 ประเทศระบุว่าการกระทำของอียูเช่นนี้ละเมิดกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation – WTO)
ไทย ออสเตรเลีย และบราซิล ซึ่งได้รับการตัดสินจาก WTO เมื่อ 5 ปีก่อน ให้เป็นผู้ชนะในกรณีที่ฟ้องร้องอียูว่าใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล ได้กล่าวเตือนในคำแถลงร่วมคราวนี้ว่า พวกเขาอาจจะดำเนินมาตรการมากขึ้นกว่านี้ เป็นต้นว่า การฟื้นกรณีพิพาทนี้ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การที่พวกเขาจะได้รับสิทธิจาก WTO ให้ใช้มาตรการตอบโต้เอากับสินค้าออกของอียู เพื่อเป็นการชดเชยความเสียหายที่ได้รับจากการกระทำของอียูในเรื่องนี้
ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของอียูได้ประกาศว่าจะเพิ่มการส่งออกน้ำตาลในรอบปีการผลิต 2009/10 ในขณะที่ราคาน้ำตาลขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 29 ปี
ทว่า คำแถลงของผู้ส่งออกน้ำตาลทั้ง 3 ประเทศ โต้แย้งว่าหากอียูส่งออกน้ำตาลเพิ่มอีก 500,000 ตัน ก็จะทำให้อียูมีปริมาณการส่งออกสูงถึง 1.85 ล้านตันในรอบปีการผลิตปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าเพดานการผลิตที่ 1.27 ล้านตัน ตามข้อผูกพันซึ่งอียูให้สัญญาไว้กับทางดับเบิลยูทีโอ อยู่ถึง 576,500 ตัน
ด้านอียูอ้างว่าการเพิ่มการส่งออกของพวกเขา ทำให้สูงกว่าเพดานการผลิตราว 100,000 ตันเท่านั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีเหตุผล เพราะอียูมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 15 ประเทศเป็น 27 ประเทศนับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงด้านการเกษตรของดับเบิลยูทีโอฉบับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม โรเบอร์โต อาเซเวโด เอกอัครราชทูตบราซิลประจำดับเบิลยูทีโอชี้ว่า ลักษณะการบริหารจัดการเรื่องน้ำตาลของอียูนั้นแสดงให้เห็นว่าทั้งหมดเป็นการผลิตโดยได้รับการอุดหนุน ดังนั้น หากมีการส่งออกน้ำตาลสูงกว่าโควตา ก็จะเป็นการส่งออกน้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนเป็นปริมาณเกินกว่าระเบียบของดับเบิลยูทีโอทั้งสิ้น ประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจึงไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ผลกระทบที่ทำให้เกิดการเสียเปรียบแต่อย่างใดด้วย
เขาบอกอีกว่าทั้งสามประเทศยังเกรงด้วยว่าการดำเนินการของคณะกรรมาธิการยุโรป จะกลายเป็นส่งสัญญาณผิดๆ ให้เกษตรกรในอียู และทำให้มีการเพาะปลูกและผลิตน้ำตาลล้นเกินต่อไป
แต่คณะกรรมาธิการยุโรปแก้ว่าได้วิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วว่าปริมาณน้ำตาลที่ได้อนุมัติให้ส่งออกเพิ่มนี้ มาส่วนส่วนที่ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการอุดหนุนทั้งสิ้น จึงไม่อาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกที่ได้รับการอุดหนุนตามระเบียบของดับเบิลยูทีโอ
“เรามั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเรากระทำถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้ละเมิดข้อผูกพันที่มีต่อดับเบิลยูทีโอแต่อย่างใด” ไมเคิล มานน์ โฆษกกรรมาธิการการเกษตรของอียูกล่าว
นอกจากนั้น อียูบอกว่าตัดสินใจอนุมัติการส่งออกดังกล่าวเพราะเงื่อนไขพิเศษที่กำลังเกิดขึ้นในตลาด นั่นคือมีปริมาณความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นแต่ซัพพลายต่ำ จนทำให้ราคาน้ำตาลพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 29 ปี