เอเอฟพี - รัฐมนตรีกลาโหมแดนเสือเหลืองเผย เรือดำน้ำลำแรกของประเทศ ชั้นสกอร์เปเนที่สร้างในยุโรป และถูกส่งมาถึงมาเลเซียเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เกิดปัญหาจนไม่สามารถดำลงใต้น้ำได้
เรือดำน้ำเคดี ตุงกู อับดุล เราะห์มานได้เข้าประจำการในปีที่ผ่านมา โดยผ่านพิธีต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ในฐานะเรือดำน้ำลำแรก จากทั้งหมด 2 ลำ ของบริษัทดีซีเอ็นเอสของฝรั่งเศส และนาบันเตียของสเปน ด้วยมูลค่า 3,400 ล้านริงกิต หรือราว 32,000 ล้านบาท
เรือดำน้ำ ซึ่งตั้งชื่อตามนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ได้รับการยกย่องให้เป็นทรัพย์สินสำคัญ แม้พรรคฝ่ายค้านจะกล่าวหาโจมตีว่าข้อตกลงซื้อขายเรือลำนี้มีการทุจริตฉ้อโกง
“เรือดำน้ำลำนี้ยังสามารถดำลงใต้น้ำได้ แต่เมื่อเราตรวจพบข้อบกพร่อง เราจึงเห็นสมควรว่าไม่ควรให้เรือดำลงน้ำ” อะห์หมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซียบอกกับนักข่าว โดยเสริมว่า เรือลำนี้ยังอยู่ในประกัน ดังนั้น ผู้ผลิต และผู้ทำสัญญาจึงรับซ่อมแซมข้อบกพร่องต่างๆ
ด้านอับดุล อาซิส จาฟาร์ ผู้บัญชาการทหารเรือระบุว่า ปัญหาที่พบครั้งแรกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คือระบบหล่อเย็นของเรือดำน้ำ หลังจากซ่อมแซมแล้วก็ยังตรวจพบปัญหาของระบบอื่นอีกในเดือนที่แล้ว
“เราหวังว่ามันจะสามารถดำน้ำได้อีกครั้ง หลังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เราจะได้สามารถทดสอบในน่านน้ำเขตร้อนให้เสร็จสิ้น” อับดุล อาซิสกล่าว
ผู้บัญชาการกองทัพเรือยังเสริมว่า เรือดำน้ำเคดี ตุน ราซัค เรือลำที่ 2 ที่ตั้งชื่อตามนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 คาดว่าจะแล่นจากฝรั่งเศสมาถึงมาเลเซียในวันที่ 31 พฤษภาคม จากกำหนดเดิมในช่วงปลายปี 2009
ทั้งนี้ เรือดำน้ำทั้ง 2 ลำสร้างความขัดแย้งทางการเมืองมานับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงเมื่อปี 2002 โดยฝ่ายค้านกล่าวหาว่า มีการจ่ายค่านายหน้ามูลค่า 540 ล้านริงกิตให้แก่คนสนิทของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ที่เป็นคนกลางในการทำสัญญา
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีนาจิบปฏิเสธว่าไม่มีการคอรัปชันในข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมแต่อย่างใด