บีบีซีนิวส์/เอเอฟพี - การหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เริ่มขึ้นอย่างเเป็นทางการแล้วในวันนี้(9) ขณะที่นักวิเคราะห์ออกมาวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งยังคงเป็นการใช้เงินช่วงชิงอำนาจ และเชื่อมโยงบรรดาผู้สมัครเหล่านี้กับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรีอิตาลี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ในเรื่องความร่ำรวยเหมือนกันก่อนผันตัวมาลงเล่นการเมือง
ตามรัฐธรรมนูญ ประธานาบดีกลอเรีย อาร์โรโย ไม่สามารถลงเลือกตั้งเป็นผู้นำสองสมัยติดกันได้ ขณะที่การชิงชัยเป็นไปอย่างดุเดือดระหว่างผู้สมัครจ่ายฝ่ายค้านสองคน และทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีอาร์โร และอดีตประธานาธิบดีอีกคน
แม้ว่าจะภาคภูมิใจกับประชาธิปไตยอันเก่าแก่ของตัวเอง ฟิลิปปินส์ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการหาผู้นำที่สามารถสร้างความสงบสุขและเจริญรุ่งเรืองให้แห่ประเทศชาติได้
สำหรับบรรดาผู้สมัครที่มั่งคั่งแล้ว การหาเสียงเลือกตั้งของพวกเขาเริ่มเปิดฉากขึ้นมานานหลายเดือนแล้ว ขณะที่ความรุนแรงยังเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งทุกครั้งในประเทศ ซึ่งเริ่มเร็วขึ้นเหลือเกิน นับตั้งแต่เกิดคดีสังหารหมู่นักข่าวและญาติของตระกูลการเมืองหนึ่งรวม 57 ศพ ในจังหวัดมากินดาเนา ทางใต้ของประเทศ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้การเลือกตั้งในปีนี้ดูน่าหดหู่ตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มขึ้น
โดยปกติแล้ว การหาเสียงเลือกตั้งในประเทศนี้จะเป็นการโชว์ความสามารถ การแสดงออกที่ดูเหมือนกับละครดราม่า การโจมตีเรื่องบุคลิกลักษณะของคู่แข่ง และการนำเสนอนโยบายในฝันของบรรดาผู้สมัคร แต่ที่สิ่งพวกเขาแทบจะไม่เสนอออกมาให้ประชาชนเห็นกันเลย คือการอภิปรายหารือ และถกเถียงแนวคิดต่างๆ ที่ชัดเจนตรงประเด็น ซึ่งตราตรึงใจผู้ฟัง ซึ่งการรณรงค์หสเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
"มันจะเป็นการแข่งขันที่สูสี" มาริเตส บีตุก นักวิเคราะห์การเมือง นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์กล่าว
"แมนนี วิญญาร์ ดำเนินการหาเสียงอย่างมีระเบียบวินัย และมีกองทุนจำนวนมหาศาล เขาอาจจะเป็นทักษิณของเรา หรือแบร์ลุสโคนี" บีตุก กล่าว โดยอ้างถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิตาลี
วิญญาร์ เป็นวุฒิสมาชิกที่สร้างความมั่งคั่้งรำรวยขึ้นด้วยตัวของเขาเอง โดยผันตัวจากพ่อค้าปลามาเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เขาอ้างว่า เขาใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมากที่สุด
วิญญาร์ ลงชิงชัยครั้งนี้แข่งกับวุฒิสมาชิก เบนีโญ อากีโน หรือ นอยนอย บุตรชายของคอราซอน อากีโน ที่ชาวฟิลิปปินส์เทิดทูนว่าเป็นมารดาแห่งประชาธิปไตยของพวกเขา เบนีโญ ได้คะแนนนิยมพุ่งพรวดมากขึ้น แทบจะทันทีที่มารดาของเขาเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว แต่ขณะนี้ เขามีคะแนนนิยมคู่คี่สูสีกับวิญญาร์ที่ทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาได้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เบนีโญก็ยังครองคะแนนนิยมตามมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ตามมาติดๆ ด้วยวิญญาร์ ต่อจากนั้นคือ กิลแบอร์โต ทีโอโดโร ผู้สมัครซึ่งประธานาธิบดีอาร์โรโย สนับสนุน และโจเซฟ อีแรป เอสตราดา อดีตประธานาธิบดีและพระเอกหนัง ตามมาเป็นลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีผู้สมัครอีกคนคืออดีตนายกเทศมนตรีเมืองโอลองกาโป ริชาร์ด กอร์ดอน ซึ่งขึ้นชื่อในฐานะ "ผู้จัดการที่ดี" มาร่วมลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คราวนี้ด้วย
นักวิเคราะห์ชี้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จทุกอย่างอย่างเสมอมาในประเทศแห่งนี้คือ เงิน และบุคลิกลักษณะของผู้สมัครที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้พวกเขาชนะการเลือกตั้ง
"มันจะต้องใช้ทรัพยากรมากจริงๆ แต่ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินอย่างเดียวนะ" โรนัลด์ โฮล์มส์ ศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเดอลาซาล ยูนิเวอร์ซิตี และประธานพัลช์เอเชีย ซึ่งเป็นองค์กรสำรวจความคิดเห็น กล่าว
ทั้งนี้ ในฟิลิปปินส์มีการจำกัดจำนวนเงินที่ใช้ในการเลือกตั้งด้วย แต่ที่ผ่านๆมา ดูเหมือนการขาดกำลังคนได้ขัดขวางไม่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ทุ่มเงินส่วนนนี้มากเกินกว่ากำหมายเลือกตั้งกำหนดได้
"ประเด็นพื้นฐานยังเป็นประเด็นเก่าเกี่ยวกับความเจริญติบโตทางเศรษฐกิจ และปัญหาความยากจน" ศาสตราจารย์โฮล์มส์กล่าว นอกจากนี้ ความปรารถนาที่จะซื้อสินค้าราคาถูกยังเป็นประเด็นสำคัญในการคอรัปชั่นด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งบ่งชี้น้อยมากที่ส่งสัญญาณบอกว่า ยังไม่มีกลุ่มผู้สมัครฝ่ายใดที่จะทำให้ประเทศชาติก้าวหน้าไปมากกว่าเมื่อในอดีตที่ชนชั้นปกครองที่ร่ำรวยเข้ามาจัดการประเทศ