xs
xsm
sm
md
lg

จับตาแรงอัดฉีดชะลอตัวในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: มาร์วาน มาแคน-มาร์การ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Asia's economies face stimulus downside
By Marwaan Macan-Markar
27/01/2010

บรรดารัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้อัดฉีดงบประมาณมหาศาลมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของพวกตน เพื่อป้องกันผลกระทบจากวิกฤตการเงินเมื่อช่วงปี 2008-2009 สิ่งที่ตามมาขณะนี้คือ สหประชาชาติทำนายว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของย่านเอเชียตะวันออกจะติดกลุ่มชาติที่มีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก กระนั้นก็ตาม ปัญหาได้ปรากฏในอีกมุมหนึ่งว่า อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่เคยหลั่งไหลเข้าระบบอย่างมากมายนั้น ถูกรัฐบาลปิดท่อเสียแล้ว

กรุงเทพฯ ตอนที่วิกฤตการเงินโลกส่งสัญญาณเตือนภัยดังเกรียวกราวไปทั่วเอเชีย รัฐบาลสิงคโปร์รีบออกโรงรับมือกับปัญหาด้วยโครงการช่วยเหลือตลาดแรงงานซึ่งอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงสูง ด้วยการอัดฉีดงบประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในรูปของโครงการคุ้มครองการจ้างงาน

ภายใต้แผนสินเชื่อเพื่อตลาดงาน ซึ่งเปิดตัวออกมาในฐานะที่เป็นหนึ่งในแพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อตอบโต้กับวิกฤตนั้น ภาครัฐได้กระตุ้นในพวกนายจ้างรักษากำลังแรงงานในบริษัทเอาไว้ผ่านโครงการฝึกอบรมศักยภาพฝีมือแรงงาน

มาตรการดังกล่าวเป็นความริเริ่มที่ดำเนินการกันขนานใหญ่ในระดับประเทศ โดยรัฐบาลเสนอให้ “การสนับสนุนด้านค่าจ้างแรงงาน” แก่พวกนายจ้าง ซึ่งเป็นการครอบคลุมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ทั้งนี้ สิงคโปร์นับเป็นหนึ่งในประเทศย่านเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินรุนแรงที่สุด โดยปรากฏว่าอัตราขยายตัวของสิงคโปร์ร่วงดิ่งจากที่เคยอยู่ที่ระดับบวก 6.7% ลงมาเป็นอัตราติดลบรุนแรงถึง 11.5% ในช่วงที่วิกฤตโลกอยู่ในระยะระอุจัดๆ ในปี 2009

“รัฐบาลสิงคโปร์ใช้วิกฤตเป็นโอกาสที่จะยกระดับศักยภาพแรงงานของประเทศ และกลายเป็นการปรับปรุงพลังการแข่งขันในระยะกลาง” เกียออร์จี้ ชิรัคซี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) สำนักงานเอเชียแปซิฟิกซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย กล่าวไว้อย่างนั้น โดยชี้ด้วยว่า “สิ่งนี้จะช่วยได้มากในระยะหลังวิกฤตผ่านพ้นแล้ว”

แพ็คเก็จความช่วยเหลือดังกล่าวมีสัดส่วนเป็นหนึ่งในสามของวงเงิน 10,600 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลสิงโปร์ใช้ในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาแรงกระหน่ำจากวิกฤตการเงินโลกซึ่งตั้งต้นจากสหรัฐอเมริกาในปี 2008

ในเวลาเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ในเอเชียก็เดินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปขยายคุณภาพของแรงงานในระบบเศรษฐกิจของพวกตนซึ่งได้รับแรงกระทบจากวิกฤตเช่นกัน แม้จะเป็นการดำเนินการผ่านการริเริ่มที่ต่างๆ กันไปบ้าง นายชิรัคซีกล่าวไว้กับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) โดยระบุว่า “มาเลเซียใช้วิธีปรับปรุงคุณภาพแรงงานด้วยการฝึกอบรมผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและกำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมาเลเซียเน้นไปที่การพัฒนาความชำนาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ”

ส่วนเกาหลีใต้นั้นดำเนินกลยุทธ์ที่ต่างออกไป คือเทความช่วยเหลือสนับสนุนไปยังแรงงานในกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนว่างงาน โดยไปขยายความชำนาญด้านภาษาต่างประเทศ “รัฐบาลดำเนินโครงการส่งเสริมให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้ไปต่างประเทศเพื่อเรียนภาษาเพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาต่างด้าว” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งไอแอลโอให้ข้อมูลไว้อย่างนั้น

ข้อวิเคราะห์และความเห็นข้างต้นพัฒนามาจากผลการศึกษาวิจัยของไอแอลโอฉบับปี 2009 ซึ่งชี้ว่า ขณะที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียล้วนมีระบบเศรษฐกิจที่ผูกติดใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก แต่ตลาดงานในภาคการเงินของสิงคโปร์กับเกาหลีใต้เป็นแหล่งที่โดนหวดอย่างจังเมื่อเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ โดยมีการเลิกจ้างพนักงานกันเป็นเบือในทันทีทันควันที่เกิดวิกฤต

ผลการศึกษาวิจัยของไอแอลโอรายงานด้วยว่า เมื่อวิกฤตแผ่ลามออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น แรงกระทบจึงเริ่มบีบคั้นบรรดาประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ พร้อมกับส่งแรงกดดันไปยังตลาดแรงงานของชาติเหล่านี้ซึ่งมีการเลิกจ้างแรงงานนับล้านในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก “ยอดขายของสินค้าจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตหลัก อาทิ ของเล่น เกม รองเท้า เครื่องแต่งกาย ล้วนแต่ดิ่งฮวบรุนแรงภายในตลาดสหรัฐฯและยุโรป ขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงก็อยู่ในสถานการณ์ยอดขายหดตัวรุนแรงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพวกคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ตลอดจนรถยนต์” ผลการศึกษารายงานไว้อย่างนั้น

หลายประเทศ อาทิ ประเทศไทย มีการช่วยเหลือจากภาครัฐในอันที่จะบรรเทาปัญหาการลอยแพพนักงาน ทั้งนี้ ทางการไทยออกมาตรการเป็นแพ็คเก็จเชิงการเงินที่ช่วยหนุนเนื่องระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงอยู่กับภาคส่งออกอย่างหนัก โดยปรากฏออกมาเป็นกองทุนต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมในด้านของ “การฝึกฝนทักษะความชำนาญแก่บรรดาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง” องค์การแรงงานโลกรายงาน

นอกจากนั้น แพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินยังครอบคลุมไปถึงการสร้างงานในหลายหลากพื้นที่ โดยเม็ดเงินของรัฐบาลถูกทุ่มไปยังโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่การสร้างถนน ไปจนถึงการปรับปรุงระบบระบายน้ำเสียภายในพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางของเมือง โดยมุ่งว่าประโยชน์จะตกไปถึงงานที่ต้องใช้แรงงานปริมาณมากๆ

แพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจทำนองนี้มีมูลค่าแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียซีกตะวันออก โดยในอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์มีการตั้งงบประมาณให้แก่แพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 7,100 ล้านดอลลาร์ และ 7,000 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ส่วนมาเลเซีย ไทย กับเกาหลีใต้ ให้งบไว้ 12,100 ล้านดอลลาร์, 39,000 ล้านดอลลาร์ และ 53,400 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากรายงานฉบับใหม่ของสหประชาชาติที่มีชื่อว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแนวโน้มในปี 2010” (World Economic Situation and Prospects 2010)

ในเวลาเดียวกัน จีนผู้เป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจรายใหญ่ของภูมิภาค ให้งบกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศตนมหาศาลมากจนทำเอางบชาติอื่นแลดูแคระแกร็นไปเลย คือวงเงินที่สูงถึง 585,300 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบจะเท่ากับ 13.3% ของจีดีพีประเทศ

บรรดามาตรการที่นำโดยรัฐบาลในอันที่จะขยาย “การใช้จ่ายภาครัฐทั้งในภาคการบริโภคและการลงทุน” ได้ส่งผลดีและช่วยให้ประเทศเหล่านี้ของเอเชียซีกตะวันออกได้รับอานิสงส์กันโดยทั่วหน้า รายงานฉบับดังกล่าวระบุไว้ โดยบอกว่า “เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกพากันตีกลับขึ้นมาในช่วงปี 2009 หลังจากที่ต้องทนทุกข์จากภาวะขาลงรุนแรงเพราะผลพวงจากวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ นับจากวิกฤตล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ที่ส่งให้การส่งออก การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในประเทศพากันอ่อนล้ารุนแรง”

สหประชาชาติประเมินเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในทางดีมาก โดยทำนายว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียซีกตะวันออกนี้ จะไปได้ไกลถึง 6.7% ในปี 2010 และขับเคลื่อนให้ภูมิภาคนี้เป็น“หนึ่งในพวกที่มีอัตราขยายตัวสูงสุดของโลก”

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2009 เมื่อเอเชียตะวันออกยังบอบช้ำจากการถูกกระหน่ำโดยภาวะเศรษฐกิจหดตัวนั้น อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ที่ระดับ 4.1% ลดวูบจากอัตราโต 6.2% ในปี 2008 และ 9.3% ในปี 2007 รายงานความยาว 180 หน้าของสหประชาชาติบอกไว้อย่างนั้น พร้อมเผยด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว พลังการเติบโตที่เอเชียตะวันออกจะพอจะมีเหลืออยู่บ้างในปี 2009 นั้น เป็นอานิสงส์มาจากจีนโดยแท้ โดยที่ว่าจีดีพีของจีนขยายตัวในอัตรา 8.1% ในปี 2009 จากระดับ 9.0% ของเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า”

แม้แนวโน้มการฟื้นตัวจะนับว่าดูดี กระนั้นก็ตาม ยังมีคำถามที่น่าเป็นกังวลค้างคาใจกันอยู่ว่า เมื่อใดกันแน่ที่รัฐบาลทั้งหลายจะพึงปิดท่อการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ

หากปิดท่อเร็วเกินไป ยุติแพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวะอันไม่เหมาะควร ก็ย่อมไปทำลายพลังการฟื้นตัวที่ยังอยู่ในช่วงตั้งต้นเอามากๆ ทางสหประชาชาติเตือนไว้อย่างนั้น “ขณะที่แนวโน้มโดยรวมของเอเชียตะวันออกถือว่าดี แต่ภูมิภาคนี้ยังเผชิญกับปัญหาความท้าทายเชิงนโยบายสำคัญหลากหลายประการ ตลอดจนความสุ่มเสี่ยงที่จะหวนกลับไปสู่ความถดถอยอีกมากมาก ไม่ว่าจะเป็นการผละออกจากมาตรการที่ใช้อยู่อย่างได้ผล โดยออกมาเร็วก่อนกาลอันควร ไม่ว่าจะเป็นการพลิกนโยบายการเงินการคลังแบบขยาย โดยพลิกออกมาอย่างปุบปับเกินไป”

จุดที่น่าเป็นกังวลพิเศษตามรายงานของสหประชาชาติคือ ลางหลอนเรื่องการหดตัวทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นแบบดับเบิลและซ้ำซ้อน

ตลาดแรงงานจะเป็นด่านแรกๆ ที่อ่อนไหวต่อภัยจากการยุติแพ็คเก็จทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไป นั่นเป็นความเห็นของ ทิเซียน่า บอนนาปาซ หัวหน้าส่วนวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจมหภาค อันเป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติภายใต้สังกัดของแอสแคป หรือคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

กระนั้นก็ตาม ในเวลาเดียวกัน พวกรัฐบาลก็ตกอยู่ใต้ความกดดัน “จากความไม่พึงพอใจของประชาชนที่ปล่อยให้หนี้ภาครัฐขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดจนความไม่พอใจว่าการใช้จ่ายภาครัฐมีสัดส่วนทวีตัวและไปเบียดพื้นที่ของภาคเอกชน” มาดามบอนนาปาซบอกไอพีเอส อย่างนั้น พร้อมบอกด้วยว่า “เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเลย ส่วนใหญ่แล้วคงต้องอิงอยู่กับสภาพล้อมแวดเฉพาะของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น