xs
xsm
sm
md
lg

แผน US คุมธุรกิจแบงก์ไม่กระทบ “เอเชีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์เชื่อว่าแผนการคุมไม่ให้ธนาคารทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงเกินไปคงไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสถาบันการเงินของเอเชีย
เอเอฟพี - แผนการของประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ในการสกัดกั้นไม่ให้ธนาคารทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงเกินไป คงไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสถาบันการเงินของเอเชียซึ่งไม่นิยมความเสี่ยงสูง และเคยมีบทเรียนมาแล้วในช่วงวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 ทั้งนี้ตามความเห็นของนักวิเคราะห์หลายราย

แผนการคราวนี้ของโอบามา ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งทำให้พวกธนาคารและสถาบันการเงินในวอลล์สตรีท ชะลอการดำเนินงานแบบไร้ความบันยะบันยัง รวมทั้งให้จำกัดการลงทุนที่จะมีความเสี่ยงรุนแรงด้วยนั้น อันที่จริงแล้วจะเป็นประโยชน์กับเอเชียด้วยซ้ำ พวกนักวิเคราะห์เหล่านี้บอก โดยอธิบายว่า เพราะธนาคารสหรัฐฯ อาจย้ายธุรกิจการลงทุนในกองทุน “เฮดจ์ฟันด์” เข้ามาในเอเชียมากขึ้น

แผนการของโอบามาที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี (21) นับว่าเป็นการยกเครื่องกฎระเบียบของสถาบันการเงินครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1930 โดยจะห้ามธนาคารพาณิชย์ใช้เงินของประชาชน ไปทำการลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ต่างๆ ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำกำไรเข้าธนาคาร (proprietary trading) หรือนำเงินของประชาชนไปทำกิจการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ หรือกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (private equity funds)

ปรากฏว่า แผนการนี้นอกจากทำให้หุ้นภาคการเงินการธนาคารในวอลล์สตรีทหล่นฮวบ และดึงให้ตลาดโดยรวมย่ำแย่แล้ว แม้กระทั่งตลาดหุ้นในเอเชียและยุโรปก็ตื่นตระหนกไปด้วย เพราะเกิดความวิตกว่าหน่วยงานกำกับตรวจสอบภาคการเงินการธนาคารในส่วนอื่นๆ ของโลกจะเอาอย่างกระทำตามบ้าง ทั้งนี้สำหรับพวกกิจการธนาคารและสถาบันการเงินในปัจจุบัน โดยเฉพาะทางสหรัฐฯ และยุโรป ธุรกิจประเภทที่โอบามาวางแผนที่จะจำกัดนี้แหละ เป็นธุรกิจที่กำลังทำกำไรให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารในเอเชีย มองว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในตลาดของภูมิภาคแถบนี้เมื่อวันศุกร์(22) เป็นเพียงปฏิกิริยาแบบหวั่นผวาตามกระแสไปอย่างอัตโนมัติเท่านั้น

ขณะที่พวกแบงก์ในอังกฤษและยุโรปกำลังเร่งศึกษาแผนการของโอบามา ด้วยความหวั่นเกรงว่าพวกตนจะประสบชะตากรรมในทำนองเดียวกันนั้น พวกนักวิเคราะห์ เช่น เชน โอลิเวอร์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเอ็มพี แคปิตอล อินเวสเทอร์ในออสเตรเลีย ชี้ว่า ธนาคารของเอเชียไม่ได้เผชิญกับปัญหาแบบเดียวกับที่สหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤตครั้งนี้ และคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบอย่างลึกซึ้งทั่วเอเชีย

ด้าน แดเนียล แท็บบุช หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคของบริษัทโบรกเกอร์ซีแอลเอสเอแห่งฮ่องกง ชี้ในอีกมุมหนึ่งว่า ยกเว้นแต่ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่างเอชเอสบีซี ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ แล้ว ธนาคารอื่นๆ ในเอเชียไม่ได้มีกิจการใหญ่โตอะไรในสหรัฐฯ จึงไม่ค่อยจะถูกคุกคามจากแผนการของโอบามา

พวกธนาคารและสถาบันการเงินของเอเชียนั้น แม้ไม่ถึงกับไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ จากวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกครั้งนี้ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มีเพียงเล็กน้อยหากเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิภาคเอเชียเคยได้บทเรียนมาแล้วจากวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในปี 1997 จึงทำให้แนวทางการลงทุนของสถาบันการเงินในเอเชียมีความสุขุมรอบคอบกว่า

บิลลี แม็ค รองศาสตราจารย์ด้านการเงินแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบปติสต์ กล่าวว่าพวกธนาคารเอเชียส่วนใหญ่เน้นธุรกรรมเชิงพาณิชย์มากกว่าด้านวาณิชธนกิจ ส่วนการลงทุนประเภท “proprietary trading” ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก

ยิ่งกว่านั้น พวกธนาคารกลางในเอเชียก็ต่างจากธนาคารในตะวันตก เช่นในอินเดียและจีนก็มีข้อบังคับในเรื่องสภาพคล่องกันอยู่แล้ว

พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังเชื่อว่า ศูนย์กลางทางการเงินในเอเชียไม่ว่าจะเป็นฮ่องกงหรือสิงคโปร์จะได้รับประโยชน์ หากเชื้อเชิญพวกธนาคารในวอลล์สตรีทให้เข้ามาจัดตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์และกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชนในประเทศของตนให้มากขึ้น

“อย่าประเมินสิงคโปร์ต่ำเกินไป เพราะสิงคโปร์กำลังเดินหน้าเชิงรุกเต็มที่ในการชักชวนธุรกิจเฮดจ์ฟันด์จากต่างประเทศ” ชานยัน-ชง ผู้อำนวยการโครงการเอ็มบีเอของซิตียูนิเวอร์ซิตีในฮ่องกงให้ความเห็น

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในสหรัฐฯ ยังอาจหมายความด้วยว่าประเทศกำลังพัฒนาจะมีช่องทางในการกู้ยืมเงินจากโลกตะวันตกได้ง่ายขึ้น

“เมื่อธนาคารของสหรัฐฯ ถูกบังคับให้เก็งกำไรน้อยลง และหันกลับไปหาธุรกิจหลักของตนด้านการปล่อยกู้ ท้ายที่สุดแล้วสภาพคล่องจะสูงขึ้น” เฟาซี อิชซาน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในอินโดนีเซียกล่าว

นั่นคือธนาคารในอินโดนีเซียจะมีโอกาสกู้เงินจากธนาคารระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น และทำให้ตลาดการเงินในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น