เอเจนซี/เอเอฟพี/ASTV ผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวานนี้ (18)ว่าจะส่งทหารเข้าไปยังเฮติเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรดาผู้ประสบภัยจำนวนมากที่กำลังอดอยากหิวโหยและบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริกเตอร์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่บรรดาผู้รอดชีวิตจำนวนมากยังต้องรอคอยอาหารและความช่วยเหลือทางการแพทย์จากนานาชาติที่ยังจัดส่งมาไม่ทั่วถึงเพียงพอ
โฮเซ รูอิซ โฆษกกองบัญชาการทหารส่วนใต้ (Southern Command) ของสหรัฐฯ แถลงว่าจะมีการส่งนาวิกโยธินอเมริกันอีกราว 2,200 คน พร้อมด้วยเครื่องมือหนักสำหรับกู้ภัย เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้ง ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆไปยังเฮติ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการส่งทหารสหรัฐฯราว 5,000 คนไปยังกรุงปอร์โตแปรงซ์และพื้นที่โดยรอบแล้ว โดยการเสริมกำลังดังกล่าวนี้เป็นไปตามแผนของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่จะมีการส่งทหารอเมริกันทั้งหมดราว 10,000 คน เข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยเพื่อดูแลความมั่นคงให้กับชาวเฮติและสนับสนุนภารกิจค้นหาและกู้ภัยของนานาชาติ ซึ่งยังดำเนินไปอย่างล่าช้า แม้เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะล่วงเลยมานานเกือบ 1 สัปดาห์แล้วก็ตาม
ด้าน พลโท เคน คีน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการทหารส่วนใต้ ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพสหรัฐฯในภารกิจช่วยเหลือเฮติคราวนี้ เปิดเผยกับในรายการ “This Week” ทาง “เอบีซี นิวส์” โดยระบุว่า สหรัฐฯ เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือต่อรัฐบาลเฮติ พร้อมยืนยันว่า จุดมุ่งหมายหลักของสหรัฐฯ ในการส่งทหารทั้งหมดราว 10,000 คนเข้าไปยังเฮติ คือ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และรักษาความมั่นคงในเฮติเป็นสำคัญ พร้อมระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติในเฮติครั้งนี้อาจพุ่งสูงถึง150,000-200,000 คนเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการประเมินของทางการเฮติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์นานาชาติก่อนหน้านี้ที่คาดว่า อาจจะมีผู้เสียชีวิตระหว่าง 50,000-100,000 คน
ขณะที่ประธานาธิบดีเรอเน เพรวาล แห่งเฮติ วัย 67 ปี ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อย่างหวุดหวิดหลังจากที่ทำเนียบประธานาธิบดีของเขาพังถล่ม ได้ออกมายืนยันที่เมืองหลวงโดยย้ำว่า การเข้ามาของทหารสหรัฐฯ จะเป็นการช่วยเสริมประสิทธิภาพในการดูแลความสงบเรียบร้อยในเฮติ แทนที่กองกำลังรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเป็นการชั่วคราว หลังจากมีเจ้าหน้าที่จากกองกำลังดังกล่าวของยูเอ็นเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจนไม่อาจปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงให้กับเฮติได้อย่างเต็มที่
การออกมายืนยันของผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ ในภารกิจช่วยเหลือเฮติ และประธานาธิบดีเพรวาล มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ (17) ประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ ฟริอัส ผู้นำเวเนซุเอลา กล่าวในรายการวิทยุและโทรทัศน์ประจำสัปดาห์ “อาโล เปรซิเดนเต” ของตัวเอง โดยกล่าวหารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่ากำลังมีแผนที่จะฉวยโอกาสนำเอาความทุกข์ยากของชาวเฮติจากภัยพิบัติครั้งนี้ เป็นเครื่องมือในการกลับเข้ามายึดครองเฮติอีกครั้ง ด้วยการส่งทหารอเมริกันจำนวนมากเข้าไปยังเฮติ ทั้งๆ ที่ไม่มีสงคราม และเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่เคยลดละความต้องการที่จะกลับเข้ายึดครองเฮติ หลังจากเคยปกครองดินแดนแห่งนี้มาแล้วในช่วงปี 1915-1934
ในส่วนบรรยากาศทั่วไปในกรุงปอร์โตแปรงซ์นั้น อาหารจากสหประชาชาติและองค์กรด้านมนุษยธรรมต่าง ๆได้ทยอยส่งเข้ามายังค่ายพักชั่วคราวแห่งหนึ่งในกรุงปอร์โตแปรงซ์ ซึ่งเป็นที่พักพิงสำหรับผู้ประสบภัยชาวเฮติราว 10,000 คนแล้ว แต่ก็ยังคงมีเสียงร้องเรียนว่าปริมาณไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ประสบภัย และยังมีผู้ประสบภัยในค่ายจำนวนมากที่ยืนเข้าแถวรอยาวนับกิโลเมตร ทั้งที่ ขนมปังและสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่างๆ ได้ถูกแจกจ่ายหมดไปแล้ว ขณะเดียวกันมีรายงานว่าเด็กจำนวนมากพยายามแย่งชิงสิ่งของบรรเทาทุกข์ โดยเด็กส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับกล่องกระดาษที่บรรจุอาหารและเวชภัณฑ์ต่างๆมากกว่าอาหาร เนื่องจากสามารถนำไปสร้างเป็นที่พักชั่วคราวให้กับครอบครัวของตนได้
นอกจากนั้น มาร์ติน ดิอาซ ผู้แทนสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ทางยูเอ็นได้รับรายงานว่าเกิดเหตุวุ่นวายจากการที่ผู้ประสบภัยแย่งน้ำกันในหลายพื้นที่ทั่วกรุงปอร์โตแปรงซ์ พร้อมย้ำว่า ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้รอดชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้และสถานการณ์กำลังเลวร้ายลง โดยถึงแม้โครงการอาหารโลกจะมีน้ำและอาหารจำนวนมากเก็บไว้ในโกดังแห่งหนึ่ง ใกล้กับท่าอากาศยานปอร์โตแปรงซ์ แล้ว แต่ก็ยังมีรถบรรทุกไม่เพียงพอสำหรับการขนส่งมาแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัย
ขณะเดียวกัน ลอว์เรนซ์ แคนนอน รัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดาแถลงที่กรุงออตตาวา เมื่อวันอาทิตย์ (17)ว่าบรรดาประเทศผู้บริจาครายสำคัญจะเข้าร่วมการหารือพิเศษว่าด้วยเฮติในวันที่ 25 มกราคมนี้ ที่เมืองมอนทรีล ในรัฐควิเบกของแคนาดาเพื่อหาช่องทางให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเฮติอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และร่วมกันวางกรอบในการฟื้นฟูเฮติในระยะยาวต่อไป โดยขณะนี้นายกรัฐมนตรี ฌอง-มากซ์ แบลเลอริฟแห่งเฮติ และฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ยืนยันจะเข้าร่วมการหารือดังกล่าวแล้ว