xs
xsm
sm
md
lg

ระหว่างความฝันและความเป็นจริงของ‘คนงานอพยพ’ในประเทศจีน

เผยแพร่:   โดย: เฉินสืออู่ และ หลี่ย่าหง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China's 'ant tribe' between dreams and reality
By Chen Siwu and Li Yahong
14/01/2010

สำหรับผู้เรียนจบมหาวิทยาลัยซึ่งมาจากครอบครัวชนบทรายได้ต่ำของจีนแล้ว การอพยพโยกย้ายเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม นับเป็นช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากลำบากจริงๆ ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาหางานทำได้แต่ตำแหน่งที่เงินเดือนผลตอบแทนน้อย และต้องทนอุดอู้ในที่พักอาศัยที่แออัดเกินไป คนทำงานอายุเยาว์เหล่านี้ ได้รับสมญาเรียกขานจากนักสังคมวิทยาจีนว่า “เผ่าพันธุ์มดงาน” เนื่องจากคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องความ “เฉลียวฉลาด, อ่อนแอ, และอยู่อาศัยกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม”

ปักกิ่ง – ทุกๆ วัน ขณะที่ หยางหงเว่ย (Yang Hongwei) โดยสารรถประจำทางกลับบ้านจากที่ทำงาน สายตาของเขาจะจับจ้องอย่างเงียบๆ ไปยังที่พักอาศัยแบบวิลลาสไตล์ยุโรป, รถเก๋งหรูหราเท่ระเบิด, และแสงไฟรระยิบระยับจากศูนย์การค้า ซึ่งเขามองเห็นผ่านทางหน้าต่างรถ

ชายหนุ่มวัย 25 ปีจากมณฑลเฮยหลงเจียง ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของจีนผู้นี้ ใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตซึ่งห่างพ้นจากความยากจนแบบนั้น และนั่นเป็นความหวังที่ทำให้เขายังคงดิ้นรนอยู่ในกรุงปักกิ่งมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่เขาสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ไม่ช้าไม่นานนัก หยางก็เบียดแทรกแหวกผู้คนที่อัดแน่นจนลงจากรถโดยสารได้สำเร็จ และเข้าสู่ความเป็นจริงแห่งชีวิตของเขา นั่นก็คือ กลุ่มอาคารพักอาศัยที่ล้วนโกโรโกโสซึ่งตั้งรวมหมู่กันอยู่ในซอยต่างๆ อันเกลื่อนกลาดไปด้วยขยะ ณ ย่านหมู่บ้านถังเจียหลิง (Tangjialing) ทางตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง เขาเดินจ้ำอย่างรวดเร็วเข้าไปใน “บ้าน” ซึ่งอยู่ในสภาพของห้องๆ เดียวขนาดพื้นที่ 10 ตารางเมตร แต่ก็ทำให้เขาต้องควักเงินทุกๆ เดือนๆ ละ 550 หยวน (ราว 2,750 บาท) หรือประมาณหนึ่งในห้าของเงินเดือนของเขา มาจ่ายเป็นค่าเช่า

“ข้างในบ้านนี่หนาวมากเลย เพราะที่นี่ไม่ได้มีระบบทำความร้อนส่วนกลาง แต่ผมก็ชินเสียแล้ว” เขากล่าวพร้อมกับดึงเสื้อโค้ตของเขาให้ห่มคลุมกระชับทั่วตัวมากขึ้นอีก

หยางเล่าว่า พวกที่สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและกลายเป็นผู้เช่าห้องในย่านถังเจียหลิงเช่นเดียวกับเขานั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก และก็ต้องอดทนกับฤดูหนาวอันแสนยะเยือกยาวนานเหมือนกันกับตัวเขา

เขายังต้องอดทนกับการใช้ชีวิตตัวคนเดียวอย่างเหงาหงอยอีกด้วย ในสังคมที่เงินกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างเฉกเช่นนครปักกิ่งแห่งนี้ “ผมจะกล้าไปนัดสาวได้ยังไง มันเปลืองเงินมากเลยนะ” เขาคร่ำครวญ เขาไม่ได้เคยเกี้ยวพาติดพันสาวๆ เลยตั้งแต่ที่เขาเดินทางมาปักกิ่งในปี 2006 ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากสถาบันปิโตรเลียมต้าชิ่ง (Daqing Petroleum Institute) ของมณฑลเฮยหลงเจียง

ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีฐานะไม่ดี และตัดสินใจโยกย้ายเข้ามาอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ของจีน จำนวนมากมายทีเดียวก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับหยาง นั่นคือ ผิดหวังขมขื่นกับการที่ต้องใช้ชีวิตในฐานะเป็นแรงงานอพยพ พวกเขาเหล่านี้ถูกเรียกรวมๆ ว่าเป็น “เผ่าพันธุ์มดงาน” (ant tribe) ซึ่งเป็นคำที่พวกนักสังคมวิทยาบัญญัติขึ้นมา เพื่อบรรยายถึงการดิ้นรนต่อสู้ของผู้อพยพหนุ่มสาวเหล่านี้ พวกเขามีปริญญาบัตร/ประกาศนียบัตรเป็นอาวุธ และยกโขยงกันเข้าสู่เมืองใหญ่ๆ ด้วยความหวังที่จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพียงเพื่อที่จะประสบไขว่คว้าได้แต่ตำแหน่งงานเงินเดือนถูกๆ และที่พักอาศัยสุดแสนย่ำแย่

จำนวนมากพำนักอาศัยกันอยู่ตามหมู่บ้านที่คิดค่าเช่าค่อนข้างถูกอย่างเช่น ถังเจียหลิง หมู่บ้านแห่งนี้เองเมื่อตอนแรกทีเดียวมีประชากรสักประมาณ 3,000 คนเท่านั้น แต่ขณะนี้ขยายตัวบวมพองขึ้นมาเป็น 50,000 คน จากการไหลทะลักของ “เผ่าพันธุ์มดงาน” หน้าใหม่ๆ

“พวกเขาเหมือนกับมดงาน นั่นคือมีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่อง เฉลียวฉลาด, อ่อนแอ, และอยู่อาศัยกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม” เหลียนสือ (Lian Si) นักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกแห่ง ศูนย์กลางเพื่อกิจการของจีนและของโลก (Center for Chinese and Global Affairs) ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าว เขาเป็นผู้ทำการศึกษาปรากฏการณ์เรื่องนี้ เป็นเวลา 2 ปีมาแล้วที่เหลียนนำทีมงานที่ประกอบด้วยนักศึกษาระดับหลังปริญญาตรีมากกว่า 100 คน เข้าไปติดตามเฝ้าสังเกตกลุ่มคนกลุ่มนี้ตามเมืองมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นที่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่), กว่างโจว, อู่ฮั่น, หรือ ซีอาน

ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อว่า “เผ่าพันธุ์มดงาน” (Ant Tribe) ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2009 เหลียนประมาณการไว้ว่า ประชากรทั้งหมดของ “ชุมชนชาวมดงาน” ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศจีนมีอยู่ในราว 1 ล้านคน เฉพาะในกรุงปักกิ่งเมืองเดียวก็พบประมาณ 100,000 คน

ผู้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากครอบครัวยากจนในเขตชนบท และยอมทำงานที่มีลักษณะชั่วคราวและเงินเดือนต่ำ เป็นต้นว่า ตัวแทนขายประกันชีวิต, ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์, และบริกรในภัตตาคารร้านอาหาร ยังมีบางคนที่เป็นคนว่างงานหรือได้งานทำไม่เต็มเวลา

เหลียนซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองศาสตราจารย์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of International Business and Economics) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่งด้วย กล่าวทำนายว่า เนื่องจากตลาดงานกำลังอยู่ในภาวะที่งานหายากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เราจึงจะต้องได้เห็นคนกลุ่มนี้ขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

นับตั้งแต่ที่ประเทศจีนเพิ่มการรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกันอย่างขนานใหญ่เมื่อปี 2003 จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาขั้นอุดมศึกษาซึ่งอยู่ในวัย 22 ถึง 29 ปีก็มีสูงขึ้นมาก ในปีนี้คาดหมายกันว่าจะมีผู้จบการศึกษาอีก 6.3 ล้านคนเข้าร่วมกับพวกคนงานอพยพและนักล่าหางานทำอื่นๆ ในการแข่งขันแย่งชิงกันอย่างดุเดือดในตลาดแรงงาน

นอกเหนือจากสภาพอันย่ำแย่ทางด้านที่พักอาศัยแล้ว “ชุมชนชาวมดงาน” ในกรุงปักกิ่งยังต้องเผชิญกับภาวะไร้ความมั่นคงทางสังคม โดยที่เงินเดือนเฉลี่ยอย่างเป็นทางการของนครแห่งนี้เมื่อปี 2008 อยู่ในระดับราวๆ 4,000 หยวน (ประมาณ 20,000 บาท) ขณะที่สมาชิกชุมชนชาวมดงานโดยเฉลี่ยจะหาเงินได้เพียงแค่ครึ่งเดียวของจำนวนดังกล่าว

เหมือนดังเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีของหยาง การแต่งงานดูจะไม่ได้เป็นทางเลือกของ “ชาวมดงาน” เอาเลย อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่ในเวลานี้ ทั้งนี้ตามการประมาณการของเหลียน คนเหล่านี้ถึงราว 93% ทีเดียวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ราคาซื้อขายตลอดจนค่าเช่าที่อยู่อาศัยซึ่งแพงลิบลิ่วขึ้นเรื่อยๆ ผลักไสให้พวกเขาต้องไปหาห้องราคาถูกๆ ที่มีพื้นที่แค่ 10 ตารางเมตรตามหมู่บ้านต่างๆ แถบชานเมือง ค่าเช่าสำหรับห้องเดี่ยวในเขตกลางเมืองนั้นอาจจะตกประมาณอย่างน้อย 2,000 หยวนต่อเดือน หรือเท่ากับรายได้ที่ผู้อพยพหนุ่มๆ เหล่านี้ทำมาหาได้ในแต่ละเดือน

แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของที่อยู่อาศัยราคาถูกๆ เหล่านี้ก็คือมักจะอยู่ไกลมาก จึงต้องใช้เวลานานในการเดินทางไปทำงาน แถมบริการด้านการขนส่งมวลชนก็ไม่สะดวกเอาเลย ตัวอย่างเช่นจากถังเจียหลิงไปย่านใจกลางกรุงปักกิ่ง มีรถประจำทางอยู่เพียง 6 สายเท่านั้น ดังนั้นวันทำงานจึงต้องเริ่มต้นด้วยการพาตัวเองเบียดแทรกเข้าไปในยวดยานที่แน่นขนัดเป็นปลากระป๋อง

“การขึ้นรถเมล์เป็นเรื่องลำบากมากจริงๆ” เป็นคำยืนยันของหยาง ผู้ซึ่งทำงานกับบริษัทซอฟต์แวร์แห่งหนึ่งในย่าน จงกวนชุน (Zhongguancun) ซึ่งนิยมเรียกขานกันว่าเป็น ซิลิคอนแวลลีย์ ของประเทศจีน แต่สำหรับตัวเขาและผู้อพยพวัยหนุ่มคนอื่นๆ อีกจำนวนมากแล้ว การมุ่งหน้าแสวงหาความใฝ่ฝันในเมืองใหญ่ เป็นวิถีทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าเพียงหนทางเดียวเท่านั้นซึ่งครอบครัวของพวกเขาในบ้านเกิดยอมรับ การหวนกลับไปยังชุมชนชนบทของพวกเขามีความหมายเท่ากับการประกาศว่าประสบความล้มเหลวไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่พวกเขาตั้งเอาไว้ได้

ด้วยความมุ่งหมายที่จะไปให้ถึงฝั่งฝันของพวกเขาให้ได้ “มดงาน”จึงมีการเปลี่ยนงานบ่อยมากเฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 2 ครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้เงินเดือนค่าตอบแทนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนเพื่อเป็นการพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้าขึ้นไป หยางเล่าว่าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาเขาเปลี่ยนงานมาหลายหนเต็มทีแล้ว และก็กำลังคิดที่จะออกจากงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันด้วย เขาคิดในแง่ดีว่าน่าจะได้งานใหม่ในเร็ววันนี้ เพราะหลังจากเขาร่อนใบสมัครออกไปตามที่ต่างๆ ก็ได้รับการเรียกตัวให้ไปสัมภาษณ์งานถึง 8 แห่งภายในเวลาสัปดาห์เดียว ลู่ทางโอกาสที่จะได้งานที่มีเงินเดือนสูงๆ ทำให้เขาเกิดความหวังว่าจะได้ย้ายออกไปจากถังเจียหลิงในไม่ช้าไม่นานนี้

“ผมหวังว่าผมจะสามารถไปจากที่นี่ในเร็ววันนี้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น แต่เรื่องอย่างนี้มันต้องใช้เงิน” เขากล่าว “มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่อยู่ชั้นบนๆ ขึ้นไป เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้มาแล้ว 3 ปี” หยางเล่าต่อด้วยน้ำเสียงที่เห็นชัดว่าเจือด้วยความอิจฉา “แล้วเขาก็สามารถซื้อบ้านในย่านกลางเมืองได้ หลังจากที่เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนก”

“สำหรับตัวผมเอง ผมก็วางแผนเอาไว้ว่าจะอยู่ในปักกิ่งต่อไปอีก 3 ปี ถ้าผมยังไม่สามารถทำให้ฐานะผมดีขึ้น ผมก็จะกลับไปบ้านเกิดของผมแล้ว”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น