เอเอฟพี - หนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัลเผย การขนส่งอาวุธสงครามจากเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกยึดได้ที่สนามบินดอนเมืองมีจุดหมายปลายทางไปส่งที่อิหร่าน โดยอ้างอิงเอกสารที่ผู้เชี่ยวชาญการลักลอบขนอาวุธได้รับ
วอลล์ สตรีท เจอร์นัลระบุโดยอ้างแผนการบิน ซึ่งได้มาจากนักวิจัยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวจะต้องลงจอดเพื่อเติมน้ำมันในศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และยูเรน ก่อนขนถ่ายอาวุธลงที่กรุงเตหะราน
ก่อนหน้านี้ เดนนิส แบลร์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ เผยในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เครื่องบินขนอาวุธหนัก 35 ตัน ที่เกาหลีเหนือลักลอบขนส่งโดยละเมิดมาตรการลงโทษของยูเอ็น มีจุดหมายปลายทางที่ตะวันออกกลาง ซึ่งไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นที่ใด
วอลล์ สตรีทชี้ว่า ข้อมูลใหม่ดังกล่าวนี้มาจากเอกสารฉบับร่างร่วมโดยนักวิเคราะห์ของทรานส์อาร์ม ในชิคาโก และอินเตอร์เนชันนัล พีซ อินฟอร์เมชัน เซอร์วิส หรือไอพีไอเอส ในแอนท์เวิร์ป
เจ้าหน้าที่ของไทยเผยว่า สามารถจับยึดเครื่องบินอิลยูชิน-76 บรรทุกขีปนาวุธ และระเบิดแสวงเครื่องจำนวนมาก ตามคำเตือนของทางการสหรัฐฯ หลังเครื่องบินลำดังกล่าวลงจอดเพื่อเติมน้ำมันที่สนามบินดอนเมืองในวันที่ 11 ธันวาคม พร้อมนักบิน ชาวเบลารุส และลูกเรือชาวคาซัคสถาน 4 คน โดยเมื่อ2 สัปดาห์ก่อน เครื่องบินลำนี้ได้บินไปยังเกาหลีเหนือ ผ่านกรุงเทพฯ เพื่อไปรับสินค้า จากนั้นจึงบินกลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อเติมน้ำมัน
ด้านลูกเรือของเครื่องบินลำดังกล่าวเชื่อว่าพวกเขากำลังขนส่งอุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งวอลล์ สตรีทได้อ้างนักวิจัยคนหนึ่งที่ชี้ว่า ลูกเรืออาจไม่รู้เรื่องจริงๆ เพราะจากเอกสารที่ทรานส์อาร์มส์ และไอพีไอเอสได้รับนั้นระบุว่า สินค้าบนเครื่องบินเป็นชิ้นส่วนในการทำอุตสาหกรรมน้ำมัน
ขณะที่บริษัทผู้จัดการขนส่งดูเหมือนว่าต้องการปกปิดตัวตน โดยการใช้ชื่อบริษัทหลายแห่ง โดยที่เครื่องบินลำนี้จดทะเบียนในนามบริษัทแอร์ เวสต์ของจอร์เจีย แต่ให้บริษัทเอสพี เทรดดิง ของนิวซีแลนด์ เช่าต่อในวันที่ 5 พฤศจิกายน ซึ่งบริษัทแดนกีวี่แห่งนี้ก็เป็นเพียงแค่เปลือกบังหน้าเท่านั้น
วอลล์ สตรีทเสริมว่า ในสัญญาเช่าอีกฉบับ ลงวันที่ 4 ธันวาคม ระบุว่า เอสพี เทรดดิง ได้ให้บริษัทของฮ่องกงแห่งหนึ่งเช่าเครื่องบินลำนี้ต่ออีกทอด ขณะที่บริษัทของฮ่องกงรายนี้ก็ยังมีบริษัทที่สองในฮ่องกงอีกแห่งเป็นเจ้าของ โดยมีบริษัทในเกาะบริติช เวอร์จินอีกแห่งครอบครองอีกต่อหนึ่งด้วย
เอกสารฉบับร่างดังกล่าวยังระบุว่า แท้ที่จริงแล้วเครื่องบินเจ้าปัญหานี้เป็นของโอเวอร์ซี คาร์โก เอฟซีอี บริษัทแห่งหนึ่งในเอมิเรตส์ โดยที่ชื่อผู้ถือหุ้นเพียงคนเดียวของบริษัท ซึ่งอยู่ในคาซัคสถาน ปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆ เกี่ยวกับการยึดเครื่องบินลำนี้