xs
xsm
sm
md
lg

นิวเดลีไม่ควรพอใจกับจักรวรรดิ“อินเดียใหม่” ที่ไร้เสถียรภาพ

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

A radical empire looms
By Francesco Sisci
16/12/2009

จีนกับสหรัฐฯกำลังใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังมีอารมณ์ความรู้สึกแบบนิยมปักกิ่งทั้งในเนปาล, ศรีลังกา, และพม่า ยิ่งถ้านโยบายใหม่ๆ ของสหรัฐฯเปิดทางให้ปากีสถานเพิ่มอิทธิพลบารมีในอัฟกานิสถานด้วยแล้ว อินเดียก็อาจจะรู้สึกว่าตนเองตกอยู่ในสภาพถูกล้อมกรอบ อย่างไรก็ดี หากสภาพอนาธิปไตยในอัฟกานิสถานแผ่ขยายออกไป นิวเดลีก็ไม่ควรที่จะรู้สึกปรีดาปราโมทย์เลย เนื่องจากถ้ากรุงคาบูลและกรุงอิสลามบัดล่มสลายไป “อินเดียใหม่”อันกว้างใหญ่ไพศาลที่อาจผงาดขึ้นมาแทนที่ ก็จะต้องเผชิญกับพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงที่สามารถก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพได้อย่างมหาศาล

ปักกิ่ง– – ทหารสหรัฐฯอีก 30,000 คนกำลังเดินทางไปยังอัฟกานิสถาน พร้อมกับการเพิ่มทหารเหล่านี้ มันก็เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆว่า จำนวนเท่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ และนั่นทำให้มีเค้าลางว่าจะต้องเกิดปัญหาต่างๆ ซึ่งใหญ่โตยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ขณะที่อัฟกานิสถานก็น่าที่จะมีการพัฒนาไปในทิศทางซึ่งกลายเป็นเวทีแห่งสงครามตัวแทนทางการเมือง ของอินเดียกับปากีสถาน

ปากีสถานนั้นเคยหนุนหลังพวกนักรบมุญาฮิดีนทำการต่อต้านกองทัพโซเวียตในอัฟกานิสถานเมื่อทศวรรษ 1980 และก็พร้อมที่จะเป็นแหล่งหลบภัยตลอดจนเป็นแหล่งอบรมบ่มเพาะให้แก่พวกตอลิบานในช่วงทศวรรษ 1990 เวลานี้ปากีสถานกำลังมองรัฐบาลของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล อย่างเต็มไปด้วยความระแวงสงสัย เพราะเห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นพวกฝักใฝ่นิยมอินเดีย ในทางตรงกันข้าม อินเดียกลับชื่นชอบความทรงจำเมื่อครั้งที่คาบูลตกอยู่ในมือของมอสโกอย่างมั่นคง และห่างออกจากกำปั้นของอิสลามาบัด และเวลานี้นิวเดลีกำลังรู้สึกกังวลใจกับยุทธศาสตร์ในปัจจุบันของฝ่ายอเมริกัน ซึ่งทำท่าจะส่งมอบคาบูลกลับไปให้ปากีสถาน

อินเดียยังวิตกในเรื่องที่สหรัฐฯกำลังมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันอบอุ่นกับจีน โดยที่เราต้องไม่ลืมว่าปักกิ่งก็คือพันธมิตรที่คบค้ามาอย่างยาวนานกับปากีสถาน การเดินทางไปเยือนปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ต้องถือเป็นความสำเร็จอันสำคัญ ถึงแม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ้างก็ตามที เพราะเป็นการตระเตรียมสิ่งต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางสำหรับรองรับระยะต่อไปของสายสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่จะเป็นความสัมพันธ์ซึ่งมีการยกระดับสูงขึ้นอีก

ยิ่งกว่านั้น จีนยังกำลังสร้างแรงกดดันอยู่รอบอินเดียทีเดียว ปักกิ่งหนุนหลังกระบวนการสร้างสันติภาพระหว่างกลุ่มกบฏ “พยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม” (Liberation Tigers of Tamil Eelam) กับรัฐบาลกรุงโคลัมโบในปีนี้ ดังนั้นจึงกำลังได้ที่มั่นซึ่งดีขึ้นกว่าเดิมในศรีลังกา ส่วนที่เนปาล พวกเหมาอิสต์ใหม่ (neo-Maoists) ของประเทศนั้นก็เป็นพวกนิยมปักกิ่งอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ความเห็นอกเห็นใจเข้าข้างรัฐบาลจีนยังพบเห็นได้จากบรรดากบฏเหมาอิสต์ใหม่ซึ่งกำลังปฏิบัติการอย่างแข็งขันอยู่ในดินแดนประมาณหนึ่งในสามของอินเดียเองด้วย

ไกลออกไปทางพรมแดนด้านตะวันออก ก็มีพม่า ถึงแม้ที่นี่นิวเดลีอาจจะทำคะแนนได้อยู่เหมือนกัน ทว่าผลประโยชน์ของปักกิ่งก็ยังสามารถปักหลักได้อย่างมั่นคง ถ้าหากนโยบายใหม่ๆ ในอัฟกานิสถานของอเมริกัน ยินยอมให้อิสลามาบัดเพิ่มอิทธิพลบารมีของตนในคาบุลแล้ว นิวเดลีก็สมควรที่จะรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกล้อมกรอบ โดยที่จีนซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกัน กำลังเร่งออกแรงขันเกลียวแน่นขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในลักษณะเช่นนี้อาจจะเป็นความผิดพลาดก็ได้ อัฟกานิสถานและปากีถสานนั้นไม่ได้เป็นตัวโดมิโนที่ใครๆ สามารถยกไปไหนได้ตามใจบนหมากกลแห่งการสร้างดุลแห่งอำนาจอันละเอียดอ่อน เหมือนดังพวกเล่นเกมการชิงอำนาจทางการเมืองรุ่นเก่าๆ ชอบคิดชอบมองกัน แท้ที่จริงแล้ว ปากีสถานและอัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมดุลอันซับซ้อนยิ่งทั้งในระดับภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งในระดับระหว่างประเทศนี้เราจะพบจีนและอินเดียเข้ามาเกี่ยวพันด้วย มันไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลยในเรื่องที่ว่า บาดแผลของอัฟกานิสถานกำลังกลัดหนองจนถึงจุดที่กำลังเป็นพิษภัยต่อร่างกายของปากีสถานแล้ว

หลายๆ ส่วนของปากีสถานนั้นอยู่ใต้การปกครองแบบชนเผ่า นั่นคือ พวกชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามสองฟากของชายแดน กำลังนำเอาการปกครองของพวกตนเข้ามายังปากีสถานด้วย และกรุงอิสลามาบัดซึ่งก็ต้องพยายามรักษาความชอบธรรมแห่งรัฐของตนเองเช่นกัน จึงต้องรับมือกับชนเผ่าเหล่านี้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าหากอัฟกานิสถานเกิดแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว ย่อมจะทำให้ปากีสถานตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากปากีสถานเองก็สามารถล้มคว่ำและแตกแยกไปตามผลประโยชน์ของชนเผ่าและผลประโยชน์ในระดับชาติ เป็นต้นว่า เกิดการปะทะกันระหว่างชาวปาชตุน กับชาวปัญจาบ หรือชาวสินธุ หรือชาวบาโลจิ ปัญหานี้จึงกำลังเป็นปัญหาอันใหญ่โต จนกระทั่งประเด็นจริงๆ ในเวลานี้ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องการสร้างเสถียรภาพขึ้นในอัฟกานิสถานอีกต่อไปแล้ว หากแต่ยังต้องสร้างเสถียรภาพขึ้นในปากีสถาน และป้องกันไม่ให้ประเทศนี้ตกลงสู่ภาวะอนาธิปไตย ดังที่บัณฑิตผู้รู้จำนวนมากมองว่าเวลานี้ปากีสถานก็แทบจะอยู่ในสภาพของรัฐที่ล้มเหลวไปแล้ว ทั้งนี้การขบคิดพิจารณาปากีสถานว่าเป็นรัฐที่ล้มเหลวนั้น ไม่ได้ช่วยการฟื้นตัวของปากีสถานเลย และมันกลับเป็นการเติมเชื้อเพลิงโหมกระพือความปั่นป่วนวุ่นวายด้วยซ้ำไป

ถ้าเราใช้ทัศนะมองสภาพการณ์แบบการช่วงชิงอำนาจกันอย่างง่ายๆ อินเดียก็ควรปรีดาปราโมทย์ที่ได้เห็นปากีสถาน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในระดับภูมิภาคของตน กำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ หรือกระทั่งอาจจะสูญสลายไป ถ้าหากปากีสถานล้มครืนลงจริงๆ ดินแดนส่วนใหญ่ที่เคยเป็นของปากีสถานก็อาจจะตกอยู่ใต้อ้อมกอดของนิวเดลีซึ่งมีความใกล้ชิดในทางเชื้อสายอยู่แล้ว ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีบังกลาเทศ ดังนั้น อินเดียแห่งยุคใหม่ก็อาจจะเป็นการฟื้นฟูเขตพรมแดนของอดีตจักรวรรดิอินเดียของอังกฤษ (British Indian Empire) ขึ้นมาใหม่ มันจะเป็นชัยชนะทางภูมิรัฐศาสตร์อันสำคัญยิ่งสำหรับนิวเดลี แต่จะเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่จริงๆ ละหรือ?

“อินเดียใหม่” ที่บวกปากีสถานด้วย จะมีชาวมุสลิมเพิ่มเข้ามาอีกราว 180 ล้านคน เมื่อรวมกับชาวมุสลิมในบังกลาเทศประมาณ 145 ล้านคน และชาวมุสลิมราว 160 ล้านคนซึ่งอยู่ในเขตอินเดียเดิม นั่นหมายความว่าอนุทวีปนี้ที่กลายเป็น “อินเดียใหม่” จะมีประชากรที่เป็นชาวมุสลิมประมาณ 500 ล้านคนจากประชากรทั้งสิ้น 1,500 ล้านคน นั่นก็คือหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดในอนุทวีปที่รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะเป็นชาวมุสลิม และก็มีการปลูกฝังด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งลัทธินิยมความนิยม ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาทั้งจากสงครามอัฟกานิสถานอันยืดเยื้อยาวนาน และจากความหงุดหงิดผิดหวังเมื่อรัฐ “บริสุทธิ์” ของชาวปากีสถานต้องล่มสลายไป

แม้กระทั่งในกรณีที่นิวเดลีอาจใช้วิธีพยายามรักษาปากีสถานและบังกลาเทศให้แยกห่างออกจากส่วนอื่นที่เหลือใน “สหภาพอินเดีย” ที่จะเกิดขึ้นมา แต่กลุ่มพลังอิสลามและอิสลามแบบสุดโต่งก็ยังน่าจะต้องมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในนิวเดลีอย่างไม่ต้องสงสัย สภาพการร์เช่นนี้ย่อมง่ายดายที่จะสร้างความเดือดดาลให้แก่บรรดาพรรคชาตินิยมฮินดูหัวรุนแรงซึ่งพรักพร้อมติดไฟได้อย่างไม่ยากเย็นอยู่แล้ว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกมุสลิมหัวรุนแรงที่มีมากขึ้นจะสร้างที่ทางให้แก่พวกชาตินิยมฮินดูหัวรุนแรงซึ่งก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน และนั่นจะเป็นการเริ่มต้นวงจรอุบาทว์ที่เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นๆ ไม่รู้จบ ทว่านอกจากฝ่ายต่างๆ ที่กล่าวถึงเหล่านี้ ในถังดินปืนอันมีอันตรายพร้อมระเบิดตูมตามแห่งนี้ ยังมีพวกนักรบจรยุทธ์เหมาอิสต์ใหม่ที่กำลังคุกคามดินแดนประมาณหนึ่งในสามของเขตอินเดียดั้งเดิม พวกเขาย่อมปฏิบัติการอย่างคึกคักมากขึ้นจากการที่เกิดการประจันหน้ากันระหว่างกลุ่มศาสนาต่างๆ นอกจากนั้นแล้วความแตกต่างระหว่างภาคเหนือของอินเดีย (ที่ในทางเชื้อสายแล้วเป็นพวกอินโด-ยูโรเปียน) กับภาคใต้ (ที่เป็นพวกดราวิเดียน) ก็อาจปะทุขึ้นมา ผสมโรงด้วยการต่อสู้ที่มีสาเหตุจากการแบ่งวรรณะและการเรียกร้องต้องการแยกดินแดนเป็นเอกราช

ดังนั้น การล่มสลายของปากีสถาน (กระทั่งเป็นการล่มสลายแบบที่มีการจัดระเบียบไม่ให้ปั่นป่วนวุ่นวาย ถ้าหากเราไร้เดียงสาเพียงพอที่จะเชื่อว่าเรื่องเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้) ย่อมหนีไม่พ้นที่จะนำเอาภาวะไร้เสถียรภาพอย่างใหญ่หลวงมาสู่อินเดีย บ้านเกิดของประชากรประมาณหนึ่งในสี่ของโลก โลก (ซึ่งหวาดผวาพอแล้วกับการไร้เสถียรภาพของอัฟกานิสถาน ที่เป็นบ้านเกิดของชาวมุสลิมไม่กี่สิบล้านคน) จะต้องเผชิญกับฝันร้ายของการไร้เสถียรภาพของชาวมุสลิมราว 500 ล้านคนในอนุทวีปอินเดีย แล้วนิวเดลีพร้อมที่จะเผชิญสภาพเช่นนี้หรือไม่ คำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่าคงไม่พร้อมหรอก จีนนั้นอาจมีเหตุผลที่จะเข้าไปสนับสนุนปากีสถานในการปิดล้อมอินเดีย ทว่าอินเดียจะต้องตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอย่างสิ้นเชิงจากการที่ปากีสถานขาดไร้ซึ่งเสถียรภาพ การสูญสลายของปากีสถานนั้นจะสร้างความเสียหายแก่อินเดียมากกว่าสร้างความเสียหายแก่จีน เนื่องจากมันจะเป็นอันตรายต่อประเทศอินเดียเอง

ดังนั้น เมื่อมองในทางภววิสัย นิวเดลีจึงมีผลประโยชน์ที่จะต้องทำให้ปากีสถานมีเสถียรภาพ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพ อินเดียควรต้องช่วยสร้างเสถียรภาพในปากีสถาน นี่อาจจะฟังดูเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับการเมืองอินเดีย มันอาจช่วยขับดันอินเดียให้หลุดพ้นออกจากการเมืองแบบเดิมที่ดำรงอยู่ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเมืองแบบที่มองปากีสถานว่าเป็นคู่แข่งขันกับอินเดียชนิดใครชนะก็กวาดเดิมพันไปหมดแต่ผู้เดียว การหลุดออกมาได้เช่นนี้น่าจะช่วยให้อินเดียกับปากีสถานมุ่งเสาะแสวงหาพื้นฐานทางการเมืองร่วมสำหรับอนุทวีปนี้

ภายในกรอบแห่งแนวความคิดกว้างๆ เช่นนี้ อินเดียกับปากีสถานก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในการขบคิดหาทางออกทางการเมืองให้แก่อัฟกานิสถาน พวกเขาจะทำหรือไม่? พวกเขาจะเข้าใจอันตรายทั้งระยะยาวและระยะกลางของวิสัยทัศน์แบบภูมิรัฐศาสตร์อันคับแคบหรือเปล่า?

แน่นอนทีเดียว อเมริกาที่มีกำลังทหารอยู่ในอัฟกานิสถานและปรารถนาที่จะถอนทหารเหล่านี้ออกมา ตลอดจนจีนซึ่งก็มีชนกลุ่มน้อยที่เป็นพวกอิสลามิสต์ของตนเอง อีกทั้งเป็นห่วงใยต้องการสร้างสันติภาพและทำการพัฒนาพื้นที่ชายแดนของตนเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ตนเอง ต่างจะมองเห็นประโยชน์ในการหาทางออกทางการเมืองในอัฟกานิสถาน

ทางออกดังกล่าวนี้จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ในระยะยาวและกว้างไกลของทั้งอินเดีย, ปากีสถาน, และอนุทวีปนี้โดยรวม ทุกๆ ฝ่ายเหล่านี้ต่างก็ต้องการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเสถียรภาพและเสรีภาพของตลาด ตลอดจนสันติสุขทางการเมืองและทางสังคม จึงควรเป็นเงื่อนไขที่ต้องสร้างกันขึ้นมาให้ได้ก่อน เพื่อเยียวยาความเจ็บปวดบอบช้ำภายในประเทศของพวกเขาเอง

ถ้าหากช่วงเวลา 30 ปีแห่งการพัฒนาที่ผ่านมาของจีน จะมีประสบการณ์หนึ่งใดที่สามารถใช้เป็นบทเรียนได้แล้ว มันก็คือการที่ปักกิ่งตัดสินใจยุติ (ไม่ว่าจะยุติเป็นบางส่วนหรือยุติไปทั้งหมด) ความยึดมั่นและความทะเยอทะยานในทางภูมิรัฐศาสตร์ของตน เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายอันสูงส่งยิ่งกว่าในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ วิธีการเช่นนี้โดยตัวมันเองกลายเป็นการคาดคำนวณในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ด้วยแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง นี่ควรที่จะเป็นสูตรสำหรับทั้งอัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, และทั่วทั้งอนุทวีปอินเดียด้วย

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการด้านเอเชียของหนังสือพิมพ์ ลา สตัมปา แห่งอิตาลี

กำลังโหลดความคิดเห็น