xs
xsm
sm
md
lg

WWF ชี้ “โลกร้อน” ทำ “กทม.” ยิ่งเสี่ยงจมน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้ำท่วมหนักในฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
เอเอฟพี/เอเจนซี/ASTVผู้จัดการ - WWF ชี้ กรุงธากา มะนิลา และ จาการ์ตา เป็น 3 เมืองใหญ่ในเอเชียที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขณะที่กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นและปัญหาน้ำท่วม

เมื่อวานนี้ (12) กองทุนโลกเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (World Wide Fund for Nature : WWF) องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่มีฐานอยู่ที่เมืองแกลนด์ ในสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยรายงานล่าสุดที่ชื่อว่า “Mega-Stress for Mega-Cities” ซึ่งศึกษาถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อ 11 เมืองใหญ่ในเอเชีย ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลหรือดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ คือ กรุงธากา ของบังกลาเทศ, เมืองกัลกัตตา ของอินเดีย, กรุงเทพมหานคร, กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา, นครโฮจิมินห์ ในเวียดนาม, สิงคโปร์, กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย, ฮ่องกง, กรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์, กรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย,และนครเซี่ยงไฮ้ ของจีน

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ธากา, มะนิลา และจาการ์ตา เป็น 3 เมืองที่มีความเปราะบางมากที่สุด ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเป็นเมืองที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุ โดยในทั้ง 3 เมืองนี้ ธากา เป็นเมืองที่ตกอยู่ในอันตรายมากที่สุด โดยได้คะแนนความเสี่ยงระดับ 9 จากทั้งหมด 10 ระดับ เนื่องจากมีประชากรแออัดกันอยู่มากกว่า 13 ล้านคน บนเนื้อที่เพียง 304 ตารางกิโลเมตร และยังอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปัจจุบันเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น นอกจากนั้น ยังมักได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนจนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เป็นประจำ ขณะที่ขีดความสามารถของเมืองในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกลับอยู่ในระดับต่ำมาก

สำหรับ มะนิลา และจาการ์ตา รายงานของ WWF จัดให้มีความเสี่ยงอยู่ระดับ 8 โดยมะนิลามีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายขั้นร้ายแรงจากอิทธิพลของพายุ ซึ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะที่จาการ์ตามีความเสี่ยงต่อการสูญเสียผืนดินอย่างรวดเร็ว เนื่องจากระดับน้ำทะเลในอ่าวจาการ์ตาจะเพิ่มสูงขึ้นปีละ 2 นิ้ว ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือของเมืองราว 160 ตารางกิโลเมตร ต้องจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2050 และบางพื้นที่จะถูกน้ำท่วมอย่างถาวรอันจะทำให้ประชากรในเมืองนี้กว่า 24 ล้านคนได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น กัลกัตตา, พนมเปญ, โฮจิมินห์ และเซี่ยงไฮ้ ถูกระบุว่า มีความเปราะบางรองลงมา ขณะที่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และ กัวลาลัมเปอร์ มีความเปราะบางน้อยที่สุด โดยมีความเสี่ยงเพียงระดับ 4 เนื่องจากเมืองเหล่านี้มีฐานะที่มั่งคั่งมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และยังมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง

สำหรับกรุงเทพฯ รายงานระบุว่า เป็นเมืองที่มีความเปราะบางมากเป็นลำดับที่ 5 จากทั้งหมด 11 เมือง ที่ทำการสำรวจ และกรุงเทพฯ ยังถูกจัดให้มีความเสี่ยงโดยเฉลี่ยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ระดับ 5จากทั้งหมด 10 ระดับ

โดยปัญหาที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ ตามรายงานฉบับนี้ คือ ภัยคุกคามจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลและปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากที่ตั้งของกรุงเทพฯ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลธรรมดาประมาณ 2 เมตรเท่านั้น ขณะที่ระดับน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯจะสูงขึ้นอีก10-100 เซนติเมตรภายใน 50 ปีจากนี้ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาgพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยและจะทำให้ผู้คนเกือบ 12 ล้านคน ในพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตรของกรุงเทพฯเดือดร้อนและมีความเสี่ยงที่พื้นที่หลายส่วนของเมืองอาจจมน้ำ แม้ว่าคณะผู้บริหารของกรุงเทพฯ จะได้ชื่อว่ามีความสามารถในการรับมือกับน้ำท่วมได้ดีกว่าอีกหลายเมืองในภูมิภาคก็ตาม

นอกจากนั้น WWF ยังระบุว่า ปัญหาสำคัญอีกประการของกรุงเทพฯ คือ การสูญเสียผืนแผ่นดินจากการกัดเซาะตามแนวชายฝั่งซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯสูญเสียที่ดินอันมีค่าไปราว 15-25 เมตรต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น