xs
xsm
sm
md
lg

แฝดสยามบราซิลฉลองวันเกิดปีแรก เฝ้ารอผ่าแยกร่างแม้เสี่ยงตายสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลุยซา (ซ้าย) และลูอานา (ขวา) อายุครบ 1 ปี
เอเอฟพี - เด็กหญิงแฝดสยามชาวบราซิลฉลองวันเกิดครบรอบขวบปีแรก ขณะที่พ่อแม่ของพวกเธอเฝ้ารอการผ่าตัดแยกร่าง ที่มีความซับซ้อน และเสี่ยงอันตรายสูงในปีหน้า เพื่อที่จะช่วยชีวิตลูกๆ ของพวกเขา

มารี ลุยซา และมารี ลูอานา ฝาแฝดหญิงขี้เล่น และยิ้มเก่ง มีร่างกายติดกันตั้งแต่ช่วงท้อง ไปถึงสะโพก โดยทั้งคู่มีขาเพียง 3 ขา ทั้งยังต้องใช้อวัยวะบางอย่าง เช่น ไต ลำไส้ กระเพาะปัสสวะ ทวารหนัก และอวัยวะเพศร่วมกัน

ด้านซาคาริอัส คาลิล ศัลยแทย์ของพวกเธอ ได้ตั้งทีมแพทย์ 25 คน สำหรับการผ่าตัด นาน 14 ชั่วโมง ในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ โดยได้เตือนพ่อแม่ของเด็กหญิงทั้งสองถึงโอกาส ที่พวกเธอจะรอดชีวิตหลังผ่าตัดว่ามีเพียง 50%

คาลิล ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมแพทย์ ที่เคยผ่านการผ่าตัดแยกร่างแฝดสยามมาแล้วหลายรายในบราซิลเผยว่า "ร่างกายของพวกเธอซับซ้อนมากๆ และสามารถเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นได้เสมอในระหว่างการผ่าตัด"

"ความเสี่ยงของการเสียชีวิตมีสูงมาก" นายแพทย์คาลิลกล่าว โดยเสริมว่า ระยะเวลาหลังการผ่าตัดอาจเป็นช่วงที่ยุ่งยากมากกว่าสำหรับพ่อแม่ เนื่องจากภาวะเสี่ยงจากการติดเชื้อ
พ่อแม่เฝ้ารอการผ่าตัดแยกร่างเพื่อช่วยชีวิตลูกๆ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เด็กหญิงทั้งคู่จะเสียชีวิต หากยังตัวติดกันเช่นนี้มีมากกว่า ลาริสซา นูเนส แม่ของเด็กแฝด วัย 22 ปี กล่าวทั้งน้ำตา เคียงข้างกับสามีของเธอ ติอาโก อันดราเด วัย 24 ปี ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ในเมืองเรซิเฟ ริมชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

"เมื่อไรก็ตามที่ฉันรู้สึกท้อแท้ (เนื่องจากอาการของพวกเธอ) ฉันจะมองพวกเธอ แล้วพลังของฉันก็จะกลับคืนมา" นูเนสเสริม

ทั้งนี้ อาการของลุยซา และลูอานาถูกพบตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 5 เดือน แต่ในตอนแรก ผู้เป็นแม่ยังคงมั่นใจว่าปัญหาต่างๆ จะผ่านพ้นไปได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ในระหว่างรอเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดแยกร่าง เด็กหญิงฝาแฝดยังไม่เจอปัญหาสุขภาพใดๆ เลย พ่อของพวกเธอกล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด มีการประเมินไว้ว่าอยู่ที่ราวๆ 1 ล้านเรียล หรือ ประมาณ 20 ล้านบาท โดยได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลเมืองโกยอัส ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งจะดำเนินการผ่าตัด

จำนวนแฝดสยาม ที่เกิดในบราซิลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 1 ใน 100,000 รายของเด็กเกิดใหม่ โดยแพทย์ระบุว่าน่าจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในประเทศ และการใช้สารเคมี ที่เป็นพิษในการเกษตร
กำลังโหลดความคิดเห็น