xs
xsm
sm
md
lg

"คาร์ไซ"ยอมเลือกตั้งรอบ2อัฟกัน ผ่าทางตันให้USเพิ่มทหารสู้ตอลิบาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประธานาธิบดีคาร์ไซ ติดอยู่ที่สำนักงานเทศบาลในกรุงคาบูล
เอเอฟพี/เอเจนซี - ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานยินยอมทำตามแรงกดดันจากทำเนียบขาวและนานาชาติ โดยแถลงในวันอังคาร(20)ว่าจะเข้าร่วมการเลือกตั้งรอบใหม่ต้นเดือนหน้า หลังยูเอ็นระบุได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งในการเลือกตั้งรอบแรก นับเป็นการผ่าทางตันภาวะชะงักงันทางการเมืองอันอึดอัดยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม รวมทั้งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ "โอบามา" ตัดสินใจส่งทหารสหรัฐฯเข้ามาเพิ่มได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ผลโพลล่าสุดชี้ว่า มะกันชนยังมีความเห็นแตกแยกกันหนักในเรื่องนี้

ประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ตัดสินใจยอมลงเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะเป็นการแข่งขันกับ อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอัฟกานิสถาน วัย 49 ปี ผู้ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 จากการเลือกตั้งรอบแรก โดยเขาระบุว่า การเข้าร่วมการเลือกตั้งเช่นนี้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ ที่ต้องมีรัฐบาลที่ชอบธรรมโดยเร็ว

คาร์ไซ วัย 51 ปี ซึ่งครองตำแหน่งผู้นำอัฟกานิสถานมาตั้งแต่ธันวาคม 2004 ยังกล่าวแสดงความชื่นชมการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการอิสระตรวจสอบการเลือกตั้งอัฟกานิสถาน (ไออีซี) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ พร้อมระบุว่า การตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งรอบสอง เป็นไปอย่างชอบธรรมและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ทั้งยังเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาธิปไตยของประเทศ

การตัดสินใจของผู้นำอัฟกานิสถานครั้งนี้ เป็นการทำตามแรงกดดันจากตะวันตก หลังมีข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับความโปร่งใสของการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อ 20 สิงหาคม โดยเฉพาะกรณีที่มีบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้คาร์ไซ 955,000 -1,300,000 ใบ ที่มีการทุจริต
นักวิเคราะห์มองว่า การเข้าร่วมการเลือกตั้งรอบใหม่ของคาร์ไซจะเป็น "การปลดล็อก" ทางการเมืองภายในของอัฟกานิสถานเอง และยังเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ สามารถตัดสินใจเรื่องการส่งทหารมาเพิ่มในอัฟกานิสถานได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
หลังการออกมายืนยันลงเลือกตั้งรอบชี้ขาดของคาร์ไซ บรรดาผู้นำทั่วโลกต่างประสานเสียงออกมาชื่นชมอย่างพร้อมเพรียง ทั้งโอบามา และนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษที่ต่างระบุว่าคาร์ไซเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ และเป็นตัวอย่างให้ชาวอัฟกันตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย

ขณะที่บันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่าการตัดสินใจของคาร์ไซแสดงถึงภาวะผู้นำที่น่ายกย่อง พร้อมกับชื่นชม อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ คู่แข่งคนสำคัญ ที่สามารถรับมือกับช่วงเวลายากลำบากภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม คาร์ล บิลด์ต รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน และแบร์กนาร์ด กุชแนร์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สหภาพยุโรปไม่อาจจัดส่งเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งไปยังอัฟกานิสถานได้ทันเวลา ก่อนการเลือกตั้งรอบสอง เนื่องจากมีเวลาเตรียมการน้อยเกินไป พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่า การเลือกตั้งรอบใหม่อาจมีการทุจริตอย่างมโหฬารไม่แพ้รอบแรกจากการที่ผู้สังเกตการณ์นานาชาติมีไม่เพียงพอ และเตือนว่าชาวอัฟกันในพื้นที่ทางตะวันออกและทางตอนใต้ของประเทศ อาจออกไปใช้สิทธิ์น้อยจากเหตุผลด้านความปลอดภัย

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของชาวอเมริกันต่อการทำสงครามในอัฟกานิสถานโดยหนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์และเอบีซี นิวส์ระบุว่า ชาวอเมริกันยังมีความเห็นที่แตกแยกกันหนัก โดยร้อยละ 49 ไม่เห็นด้วยกับการส่งทหารสหรัฐฯไปเพิ่มในอัฟกานิสถาน ขณะที่ร้อยละ 47 สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว นอกจากนั้น ชาวอเมริกันที่ให้การสนับสนุนโอบามาในการดำเนินนโยบายเรื่องอัฟกานิสถาน ก็ลดลงจากร้อยละ 55 เมื่อเดือนที่แล้ว เหลือเพียงร้อยละ 45 เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น