xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาแยกดินแดนใต้ของ “ไทย” กำลังทำให้ “มาเลเซีย” รู้สึกกังวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทหารไทยกำลังรักษาการณ์รอบมัสยิดแห่งหนึ่งในพื้นที่ความไม่สงบในภาคใต้
ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังคงรุนแรงถึงขั้นนองเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ต่อต้านชาวไทยพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ สถานการณ์เช่นนี้ยังกำลังทำให้มาเลเซียรู้สึกวิตกกังวล อีกทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะลุกลามกลายเป็นประเด็นความตึงเครียดกับรัฐบาลกลางในกรุงเทพฯด้วย

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ความหวั่นเกรงที่ว่าความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย อาจจะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้พวกหัวรุนแรงที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ พยายามหาทางขยายความขัดแย้งนี้ให้กว้างออกไปนั้น จวบจนถึงเวลานี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นเช่นนั้น

ทว่า ความเสี่ยงที่สำคัญมากกว่าในเฉพาะหน้านี้ ก็คือ ชาวมาเลเซียจำนวนมากขึ้นทุกทีกำลังรู้สึกถูกปลุกเร้าให้ปรารถนาที่จะเข้ามีส่วนในการต่อสู้นี้ด้วย อันจะส่งผลกระทบกระเทือนทั้งต่อความมั่นคงภายในของมาเลเซียเอง และความสัมพันธ์มาเลเซีย-ไทย ที่มีชายแดนติดต่อกัน

“ชาวมาเลเซียยังสามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ และเข้าใจดีว่าไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่หากเรื่องยังยืดเยื้อต่อไป เราก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ฟาตอห์ ฮารุน สมาชิกสภารัฐกลันตันจากเขตรันเตาปันญัง กล่าว

กลันตัน เป็น 1 ใน 4 รัฐของมาเลเซียทีมีพรมแดนติดต่อกับจังหวัดภาคใต้ของไทย ซึ่งเกิดความไม่สงบ ทั้งนี้ เมื่อก่อน กลันตันและดินแดนบางส่วนทางภาคใต้ของไทยเคยเป็นรัฐอิสลามที่เป็นอิสระ ก่อนที่ประเทศไทยซึ่งเป็นชาวพุทธจะเข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ไปเมื่อราวศตวรรษที่แล้ว

ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่ยืดเยื้อมาหลายสิบปี ได้ปะทุลุกลามเป็นความรุนแรงเมื่อปี 2004 และนับจากนั้นก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 3,600 คนแล้ว ถึงแม้จะยังคงเป็นปรากฏการณ์ระดับท้องถิ่น ด้วยฝีมือของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เปิดเผยตัว และแทบไม่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับภายนอก

การที่ไทยใช้กำลังทหาร 30,000 คนเข้าปราบปรามการก่อความไม่สงบ สร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่ชาวมาเลย์ซึ่งมองว่าเป็นปฏิบัติการที่มีแรงขับดันในเชิงเชื้อชาติ พวกเขายังวิตกว่าความรุนแรงที่พุ่งพรวดขึ้นมาอาจทำให้มีผู้ลี้ภัยหลบหนีข้ามพรมแดนเข้าไปในมาเลเซียด้วย

ชาวมาเลเซียยังหวั่นเกรงว่า ญาติพี่น้องของพวกเขาที่อยู่ในเขตไทยจะพลอยถูกลูกหลงจากการปะทะกันระหว่างกองกำลังความมั่นคงของไทยกับพวกผู้ก่อความไม่สงบ

“เราอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่เรามีญาติๆ ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของชายแดน ซึ่งกำลังถูกทางการไทยกดขี่ ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวว่าจะถูกยิง” อับดุล คาริม อัลยาส พนักงานของที่จอดรถแห่งหนึ่งในรันเตาปันญัง กล่าว

ทั้งนี้ เหยื่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวมุสลิม จึงทำให้หวาดกลัวกันมากขึ้นว่าอาจถูกเจ้าหน้าที่สังหารโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย ขณะที่เหยื่ออีกกลุ่มหนึ่ง เป็นตำรวจ ทหาร และครูชาวพุทธ ซึ่งมักถูกสังหารด้วยระเบิดรถยนต์หรือไม่ก็ถูกประกบยิง

ยิ่งกว่านั้น ชาวมาเลเซียยังวิตกด้วยว่าญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมศาสนาจะถูกบังคับให้กลืนกลายเป็นชาวพุทธไป

“นี่เป็นเรื่องความอยู่รอดของชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทย เพราะหากรัฐบาลกลางเข้าควบคุมจังหวัดเหล่านี้อย่างเต็มรูปทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว ชาวมาเลย์ก็จะถูกขับไล่ออกไป” ซายูติ โอมาร์ นักเขียนแนวการเมืองในกลันตันกล่าว

ทัศนะเช่นนี้ของเขาไม่ค่อยได้ยินได้ฟังอย่างเปิดเผยกันนักในมาเลเซีย สืบเนื่องจากประเทศทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน รวมทั้งทั้งสองฝ่ายต่างรับรองเห็นชอบร่วมกันอย่างเป็นทางการในปี 2007 ว่า จะต้องใช้นโยบายส่งเสริมการศึกษา การจ้างงาน และการสร้างผู้ประกอบการ เพื่อแก้ไขความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมาเลย์

**เจไอกำลังเจาะเข้ามา?**

ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นี้แม้ดำเนินมาอย่างยาวนาน ก็แทบไม่สร้างความเสียหายให้แก่การลงทุนในไทย ตลอดจนมุมมองต่อประเทศไทยในสายตาต่างชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีจุดมุ่งหมายที่จะแบ่งแยกดินแดนออกจากไทย แต่ไม่มีเจตนาที่จะเข้าร่วมกับขบวนการญิฮัดทั่วโลก

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายราย ชี้ว่า หากความขัดแย้งถูกเปลี่ยนไปเป็นการสู้รบระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ก็อาจจะดึงดูดให้กลุ่มต่างๆ ภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม

เดวิด คิลคัลเลน ชาวออสเตรเลียผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และเป็นที่ปรึกษาให้กับกองกำลังของสหรัฐฯ ในอิรักและอัฟกานิสถาน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มอัลกออิดะห์และเครือข่าย ก็คือ การสอดแทรกตัวเองเข้าไปร่วมในความขัดแย้งในระดับท้องถิ่น แม้ว่าในระยะแรกกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่นจะไม่ยอมรับก็ตาม

“ความตระหนักรับรู้ถึงความเป็นไปได้ที่ว่า หากมีผู้ก่อการร้ายข้ามชาติปรากฏตัวให้เห็น ก็จะกระตุ้นให้ฝ่ายตะวันตกเข้ามาแทรกแซงอย่างขนานใหญ่ นี่เองดูเหมือนจะทำให้พวกผู้ก่อความไม่สงบไม่ปรารถนาที่จะต้อนรับการปรากฏตัวดังกล่าว” คิลคัลเลนเขียนเอาไว้เช่นนี้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “The Accidental Guerrilla” (จรยุทธ์ตกกระไดพลอยโจน)

เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียเองก็เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่จะมีคนนอกเข้ามาบงการปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย
เช่นเดียวกับที่ฟาตอห์เชื่อว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของกลุ่มย่อยในท้องถิ่นซึ่งลงมือก่อเหตุเนื่องจากต้องการแก้แค้นเป็นสำคัญ

(เก็บความจากบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ เขียนโดย Razak Ahmad และ Niluksi Koswanage)
กำลังโหลดความคิดเห็น